- 05 เม.ย. 2567
นักวิทยาศาสตร์จีนเผยภาพจำลองใบหน้าและรูปลักษณ์ จักรพรรดิอู่แห่งราชวงศ์โจวเหนือ "จักรพรรดิจีนโบราณ" เผยไม่เหมือนกับที่จินตนาการไว้
ซินหัวรายงาน เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 คณะนักโบราณคดีท้องถิ่นของจีนเปิดเผยการตรวจสอบรายละเอียดทางพันธุกรรม (genetic profile) ของจักรพรรดิกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในยุคจีนโบราณผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมหรือจีโนม
จักรพรรดิอู่แห่งราชวงศ์โจวเหนือที่นำโดยกลุ่มชาติพันธุ์เซียนเปย (ปี 557-581) หรือที่รู้จักในชื่อ "อวี่เหวินยง" เป็นผู้นำที่มีความทะเยอทะยาน ซึ่งสิ้นพระชนม์ตอนพระชนมายุ 36 พรรษา โดยพระองค์ทรงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เซียนเปยที่มีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงมองโกเลีย
มีการค้นพบกะโหลกและกระดูกของอวี่เหวินยงระหว่างการขุดค้นสุสานของเขาในปี 1994 และ 1995 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดยเหวินเส่าชิง จากสถาบันโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในนครเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลา 6 ปีในการศึกษาดีเอ็นเอที่พบในซากศพ และสามารถถอดลักษณะสำคัญของอวี่เหวินยง ทั้งสีผม สีผิว และสีนัยน์ตา
ใบหน้าที่จำลองขึ้นมาใหม่เผยให้เห็นว่าอวี่เหวินยงมีผมสีดำ ผิวสีเหลือง และนัยน์ตาสีน้ำตาล ส่วนรูปร่างหน้าตาเป็นแบบคนทั่วไปในภูมิภาคตะวันออกหรือตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชีย ซึ่งแตกต่างจากที่บางคนเคยจินตนาการว่ากลุ่มชาติพันธุ์เซียนเปยมีหน้าตาเป็นอย่างไร
เหวินกล่าวว่าหลายคนเชื่อว่าอวี่เหวินยงมีรูปลักษณ์แปลกตาแตกต่างจากคนพื้นเมือง แต่ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์นั้นกลับต่างจากที่พวกเขาคาดคิดไว้อย่างมาก โดยเขามีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมใกล้ชิดกับตัวอย่างของชนเผ่าเร่ร่อนชี่ตัน (Khitan) กลุ่มชาติพันธุ์เฮยสุ่ย โม่เหอ (Heishui Mohe) ในสมัยโบราณ ประชากรชาวต๋าว่อและมองโกเลียในสมัยใหม่ รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเหลืองยุคโบราณ
อนึ่ง รูปลักษณ์ของชาวเซียนเปยเป็นประเด็นที่เกิดการถกเถียงมานาน โดยบันทึกทางประวัติศาสตร์บางส่วนชี้ว่ารูปลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์นี้คือหนวดเคราหนา ผมสีเหลือง และจมูกโด่ง
ทว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ชี้ว่าชาวเซียนเปยไม่ได้มีรูปลักษณ์แตกต่างจากผู้คนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชีย ซึ่งเหวินระบุว่าการค้นพบของพวกเขาสอดคล้องกับมุมมองที่สองมากกว่า
สำหรับหลุมศพของอวี่เหวินยงถูกค้นพบในปี 1993 ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองเสียนหยาง มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ทีมงานของเหวินยังค้นพบว่าองค์ประกอบทางบรรพบุรุษของอวี่เหวินยงส่วนใหญ่ราวร้อยละ 61 มาจากชาวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือในสมัยโบราณ ทำให้เห็นความหลากหลายทางพันธุกรรมจากหลายภูมิภาคในกลุ่มชาติพันธุ์เซียนเปยโบราณ และการก่อตั้งกลุ่มชาติพันธุ์เซียนเปยอาจเป็นกระบวนการเชิงพลวัตที่ได้รับอิทธิพลจากการผสมผสานกับประชากรโดยรอบ
นอกจากนั้นอวี่เหวินยงอาจสิ้นพระชนม์ด้วยพิษสารหนูเรื้อรัง เนื่องจากเสวยยาลูกกลอนเป็นเวลานาน ซึ่งคนโบราณเชื่อกันว่าหากกินแล้วจะสามารถมีชีวิตเป็นอมตะ
ทั้งนี้ คณะนักโบราณคดีเชื่อว่าการวิจัยเกี่ยวกับอวี่เหวินยงเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจการบูรณาการทางชาติพันธุ์ในประวัติศาสตร์จีน โดยเฉพาะการบูรณาการของประชากรชาวฮั่นส่วนใหญ่กับกลุ่มชาติพันธุ์เร่ร่อนทางตอนเหนือ ขณะเดียวกันการวิจัยนี้ถือเป็นความก้าวหน้าในการศึกษาทางโบราณคดี เพราะจีนมีหลักฐานสำหรับการวิจัยอยู่มากมาย