ดิวาลี 2567 บูชาพระแม่ลักษมี ทำไมต้องจุดโคม

ดิวาลี เทศกาลแห่งแสงสว่างที่ชาวฮินดูทั่วโลกต่างรอคอย! แต่คุณรู้หรือไม่ว่าทำไมเราถึงต้องจุดโคมในเทศกาลนี้? มาไขปริศนาและเรียนรู้ความหมายลึกซึ้งของประเพณีการจุดโคมบูชาพระแม่ลักษมีไปพร้อมกัน

ดิวาลี 2567 นี้ คุณพร้อมที่จะร่วมเฉลิมฉลอง เทศกาลแห่งแสงสว่าง หรือยัง? การจุดโคมเป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลนี้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการจุดโคมมีความหมายอย่างไร และเกี่ยวข้องกับการบูชาพระแม่ลักษมีอย่างไร?

 

ดิวาลี 2567 บูชาพระแม่ลักษมี ทำไมต้องจุดโคม

ดิวาลี อีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวอินเดียที่สำคัญไม่แพ้กับ “นวราตรี” (Navaratri) ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน คือ “ดิวาลี” (Diwali) หรือบางคนก็เรียกว่า “ดีปาวลี” (Deepavali) ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดีย และยังเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมีด้วย

 

ความหมายของ “ดิวาลี” หรือ “ดีปาวลี”

 

คำว่า “ดี” (di) หรือ “ดีป” (dee) คือ ประทีป (แสงสว่าง) ส่วนอีกคำที่นำมาผสมคือ “อวลิะ” (avalih) หมายถึง แถวหรือแนว

 

เมื่อผสมรวมกันในภาษาสันสกฤตจึงมีรูปเป็น “ทีปาวลิะ” ในภาษาฮินดีออกเสียง “ดีปาวลี” ซึ่งหมายถึง ประทีปที่ชาวอินเดียจุดไว้แล้ววางเป็นแถวนอกบ้านของตนเองอย่างงดงาม นั่นเอง

 

 

ดิวาลี 2567 บูชาพระแม่ลักษมี ทำไมต้องจุดโคม

ที่มาของ "ดิวาลี" วันปีใหม่อินเดีย-วันบูชาพระแม่ลักษมี

 

อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฉะนั้นชาวฮินดูแต่ละถิ่นกำเนิดก็จะมีเรื่องเล่าถึงต้นกำเนิดของเทศกาลดิวาลีที่แตกต่างกัน

 

แต่ที่นิยมเชื่อกัน จะมาจากความเชื่อของทางอินเดียตอนเหนือ เพราะบ่อยครั้งที่ทางตอนเหนือทำอะไรมักจะมีอิทธิพลมาจากแถบอื่น ๆ ของอินเดีย ซึ่งพวกเขามองว่า เทศกาลดิวาลี เป็นการเฉลิมฉลองการเสด็จนิวัติของ พระรามพร้อมกับนางสีดา (Sita) พระลักษณ์ (Lakshman) และ หนุมาน (Hanuman) กลับคืนสู่เมืองอโยธยา (Ayodhya) หลังจากทรงพเนจรอยู่ 14 ปี ซึ่งเวลา 14 ปีนี้รวมถึงช่วงเวลาที่ทรงพิชิตราวณะหรือที่ไทยเรียกว่า “ทศกัณฐ์” ด้วย

 

เรียกว่าเป็นชัยชนะแห่งความดีงามที่อยู่เหนือความชั่วร้าย ซึ่งเปรียบเสมือนกับแสงสว่างของประทีปที่สว่างไสวเหนือความมืดมั่ว อันเป็นที่มาของชื่อเทศกาลนั่นเอง

 

แล้วเทศกาลนี้เกี่ยวข้องกับพระแม่ลักษมีได้อย่างไรนั้น ขอเล่าถึงอีกความเชื่อหนึ่งของชาวฮินดูกันก่อนว่า พวกเขาเชื่อว่า “พระราม” เป็นร่างอวตารของ “พระวิษณุ” และ “นางสีดา” เป็นร่างอวตารของ “พระแม่ลักษมี” พระชายาของพระวิษณุ ที่อวตารลงมาเคียงข้างพระวิษณุในทุก ๆ ภารกิจ

 

ประกอบกับในอินเดียมีคนจำนวนไม่น้อยมองว่า วันดิวาลีเป็นวันเกิดของพระแม่ลักษมีด้วย จึงทำให้ผู้คนนิยมบูชาพระแม่ลักษมีในวันนี้

 

ดิวาลี 2567 บูชาพระแม่ลักษมี ทำไมต้องจุดโคม

 

 

เทศกาลดิวาลี จะกำหนดตามปฏิทินจันทรคติทำให้ในทุก ๆ ปี วันที่จะไม่ตรงกัน และในปีนี้ตรงกับช่วง 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2567

 

อย่างไรก็ตาม การเฉลิมฉลองจะใช้เวลาทั้งหมด 5 วัน คือ เริ่มจากวันที่ 13 ของช่วงกาลปักษ์ หรือก็คือแรม 13 ค่ำแห่งเดือนจันทรคติชื่ออาศวิน (Ashvina) ถึงวันที่สองของช่วงชุษณปักษ์ หรือขึ้น 2 ค่ำแห่งเดือนการติกะ (Karttika) 

 

ในวันที่ 3 ของเทศกาลดิวาลี หรือที่เรียกว่า “อะมาสวัสยะ” ถือเป็นวันสำคัญที่สุด เพราะเป็นวันที่มืดที่สุดตามปฏิทินฮินดู แต่ก็เป็นวันที่แสงสว่างเริ่มกลับมาด้วยเช่นกัน

 

ในเทศกาลดิวาลีนี้ ชาวฮินดูจึงมักจะออกไปจับจ่ายซื้อของ เหมือนกับช่วงตรุษจีนและคริสต์มาส รวมถึงออกมาจุดพลุหรือดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองตลอด 5 วันของเทศกาล


บทสวดบูชาพระแม่ลักษมี รับเทศกาลดิวาลี


ผู้บูชาสามารถสวดมนตราถวายพระแม่ลักษมีในเทศกาลดิวาลี ได้ดังนี้

  • วิษณุปริเย นมัสตุภยัม นมัสตุภยัม ชัคทเต
  • อารัตหันตริ นมัสตุภยัม สมฤทธัม กุรุ เม สทา
  • นโม นมัสเต มาหานมาเย ศรีปีเฐ มุรปุชิตา
  • ศังชะจักรัคทาทัมเน มหาลักษมี นโมรัสตะ เต

 

บทอธิษฐานขอพระแม่ลักษมี

บอกชื่อตนเอง ที่อยู่ เสร็จแล้วขอพร 1 ข้อต่อครั้ง จากนั้นกล่าวมนตราสั้น ๆ ดังนี้

  • โอม มหาวิษณปริเย นมัช 

หรือ

  • โอม มหาลักษมี นมัช

 

เทศกาลแห่งแสงสว่าง ดิวาลี 2024