- 02 มิ.ย. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
หลังออกมาสอนมวย กรณี "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศให้สังคมรู้ว่า "พิธีไหว้เป็นพิธีกรรมที่ล้าหลัง" ผ่านงานเขียนชุดแรกไปแล้วเมื่อ 2 วันก่อน ล่าสุด นักเขียนรางวัลซีไรต์ เจ้าของบทประพันธ์ดังอย่าง...คนทรงเจ้า และงู รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ที่ล้วนแต่เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่ผูกแก่นเรื่องมาจากด้านมืดของสังคมไทย...ทั้งวงการพระสงฆ์ วงการการศึกษา อย่าง "วิมล ไทรนิ่มนวล" (วิมล เคยเป็นทั้งครู และนักการศึกษามาก่อน-ผู้เขียน) ก็ได้ออกมา เปิดกะโหลก "กระฏุมพีแสร้งเป็นไพร่อย่างธนาธร" อีกรอบเป็นคำรบ 2 ซึ่งข้อเขียนชิ้นแรกของวิมล ก็ถือว่า...ผ่ากะโหลกของ "ผู้ที่จะพยายามเล่นบทเป็นพวกก้าวหน้าของธนาธร" ไปอย่าง...ซ้ายคนใดก็ไม่อาจโต้แย้งแล้ว (ที่จริงวิมลก็บอกเองว่า หลายเรื่องเขาก็เป็นซ้าย-ผู้เขียน)
ล่าสุด วิมล ออกมาขยับเรื่องนี้อีกครั้ง โดยคราวนี้เขาผ่าไปถึงแก่นกลางของ...แนวคิดที่ว่า "ทำไมพิธีไหว้ครู จึงล้าหลังคร่ำครึในสายตาของธนาธร" วิมลมองว่า...เป็นพระ "นายทุนแสร้งเป็นไพร่" รายนี้ "มองพิธีไหว้ครูผ่านแว่นลัทธิการเมือง เห็นว่าขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเรื่องล้าหลัง เป็นเรื่องของศักดินา บางคนบอกว่าเป็นเรื่องแสดงความเป็นทาสมุมมองนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหา"
ดังรายละเอียดทั้งหมด ที่ วิมล ระบุไว้คือ
ไหว้ - ไม่ไหว้”
เมื่อวานเขียนเรื่อง “ความมุ่งหมาย” หรือสาระของ “พิธีไหว้ครู” ว่าเป็นสิ่งที่ยึดโยงคนเข้าด้วยกันโดยใช้วิธีแสดงความเคารพ รัก นับถือกัน และยังเป็นการจัดระเบียบสังคมด้วย “กฎใจ” อีกแรงหนึ่ง นอกจาก “กฎหมาย”
บทความนี้จะพูดเรื่อง “การเลือก” ที่จะไหว้ครูหรือไม่ไหว้
ตามสภาพที่เป็นจริง...เรื่องการไหว้ครูไม่ได้มีปัญหามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตอนผมเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา เราอยากให้มีพิธีไหว้ครูจนตื่นเต้น เพราะจะมีกิจกรรมที่แตกต่างจากการเรียนปรกติ ส่วนใครป่วย ใครมีธุระก็ลาได้ แต่ส่วนมากไม่ได้ลา มาถึงโรงเรียนในวันใหม่ ครูก็ถามว่าขาดเรียนไปทำอะไร ก็บอกครูไป
พอเรียนชั้นมัธยม อาจารย์จึงให้มีจดหมายลาและมีลายมือของผู้ปกครองยืนยันด้วย เพราะเป็นวัยรุ่นแล้วก็มักจะไม่มีแรงไปให้ถึงโรงเรียน
ตอนเรียนในระดับอุดมศึกษาก็เช่นกัน อาจารย์ไม่เคยเข้ามายุ่ง ท่านถือว่าเป็นเรื่องของนักศึกษาจะต้องจัดการกันเอง โดยสภานักศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ..และไม่เคยมีใครมาสั่งใครให้เข้าร่วมพิธี
ทุกวันนี้ ผมก็เชื่อว่าสถาบันการศึกษาส่วนมากก็ยังเป็นอย่างนี้ แต่ที่มีปัญหาขึ้นมาก็เพราะมีมุมมองที่ต่างกัน อย่างน้อยก็ 2 มุมมอง
มุมมองแรก เห็นว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไร้สาระ หรือไม่ก็ขี้เกียจ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
มุมมองที่สอง เกิดจาก “การเมือง” มองพิธีไหว้ครูผ่านแว่นลัทธิการเมือง เห็นว่าขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเรื่องล้าหลัง เป็นเรื่องของศักดินา บางคนบอกว่าเป็นเรื่องแสดงความเป็นทาส
มุมมองนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหา ถึงกับมีคนจำนวนมากเสนอให้ “เลือก” ไหว้ครูหรือไม่ก็ได้
ทั้งที่แต่ก่อนมา ทุกคนก็ “เลือกกันตามปรกติ” อยู่แล้ว อย่างที่ผมเล่าไว้ข้างต้น
การเลือกตามสภาพปรกตินั้นไม่มีปัญหาอะไร แต่การเลือกโดย “นโยบายของพรรคการเมือง” หรือ “การลงมติแบบการเมือง” มันคือการยกระดับปัญหาที่อยู่ในสถาบันการศึกษา(บางแห่ง) ขึ้นสู่ระดับประเทศ “เพื่อหวังผลทางการเมือง” ซึ่งจะทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายและเกิดความแตกแยกมากขึ้น...ผมก็หวังว่าคนที่เสนอให้เลือกแบบนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว
นี่คือประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วย...คือ อย่าทำประเพณีให้เป็นการเมือง และอย่ายัดเยียดการเมืองให้เป็นประเพณี
(ประเพณีเป็นเรื่องสร้างสรรค์จิตใจและสังคมให้งอกงาม แต่การเมืองเป็นเรื่องอำนาจและการใช้อำนาจ)
ผมหาเหตุผลให้ฝ่ายที่ไม่อยากไหว้ว่า ในระดับอุดมศึกษานั้น เมื่อมีอายุครบ 18 ปีถือว่า “บรรลุนิติภาวะ” (โตๆกันแล้ว) ก็ย่อมรับผิดชอบตัวเองได้ มีสิทธิ์จะตัดสินใจเรื่องใดๆได้ด้วยตนเอง (อย่างการเลือกตั้ง)
ดังนั้นการที่ใครจะเข้าร่วมพิธีไหว้ครูหรือไม่ ก็ควรจะมีสิทธิ์เช่นเดียวกัน
ประเด็นสำคัญก็คือ “การขืนใจ” ผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปขืนใจใครให้ไหว้ใคร หรือรักเคารพใคร ซ้ำยังจะถูกขยายความขัดแย้ง - แตกแยกมากขึ้น
แต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกไหว้ - ไม่ไหว้ในระดับชั้นประถม – มัธยม เพราะไม่ใช่เรื่องภายในโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ในชุมชนด้วย ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพปรกตินั้นดีแล้ว
ประเพณีการไหว้ครูนั้นเป็นเรื่องภายในของสถาบันการศึกษาที่จะจัดการกันเอง แต่เมื่อมีคน "ปั้นเรื่องให้มันเป็นการเมืองระดับประเทศ" ผมก็ขอแสดงความเห็นด้วยคน และไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วยกับผม