- 06 ม.ค. 2562
น้อมรำลึกถึง ในหลวง ร.๙ "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" เคลื่อนสู่ฐานทัพเรือสัตหีบ น่านน้ำราชอาณาจักรไทยแล้วอย่างสมเกียรติ
สืบเนื่องจากวานนี้ (5 มกราคม 61) กองทัพเรือโดย "พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์" ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้จัดเรือหลวงตากสิน หมายเลข 422 ,เรือหลวงนเรศวร หมายเลข 421 ,เรือหลวงรัตนโกสินทร์ หมายเลข 441 และอากาศยาน 2 ลำ เป็นหมู่เรือในการต้อนรับ "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่แห่งราชนาวีไทย ที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ เข้าสู่น่านน้ำราชอาณาจักรไทย อย่างสมเกียรติ
โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชานุญาติและวินิจฉัยชื่อ เรือหลวงลำใหม่ที่ต่อจากประเทศเกาหลีใต้นี้ว่า "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" ซึ่งจะเดินทางถึง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในวันนี้ (6 มกราคม) และ กองทัพเรือจะจัดพิธีต้อนรับ รวมทั้งขึ้นระวางประจำการ ในวันพรุ่งนี้ (7 มกราคม) โดยมี "พลเรือเอก ลือชัย" เป็นประธานในพิธี ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ สำหรับ "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" เรือรบลำใหม่ของไทย เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูง สร้างโดยบริษัท DSME. (DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) ของเกาหลีใต้ ภายหลังได้มีการออกแบบตรงกับความต้องการของกองทัพเรือ ตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลัก สามารถตอบสนองทุกภารกิจกองทัพเรือมากที่สุด มีการพัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ในการต่อเรือ มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล ทนทะเลได้ถึงสภาวะระดับ 6 ขึ้นไป มีกำลังพลประจำเรือ 136 นาย
ส่วนโครงสร้างเรือมีความแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบ และการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี-ชีวะ สามารถตรวจการครอบคลุมทุกมิติทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจากมีการติดตั้งระบบอำนวยการรบ และระบบตรวจการณ์ที่ทันสมัย รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติคือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ โดยการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำสามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้าย และโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำได้ที่ระยะไกลด้วย Vertical Launch Anti-Submarine Rocket หรือตอร์ปิโด ส่วน การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลาง ในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก โจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ
นอกจากนี้ การป้องกันทางอากาศระยะไกล (ผิวน้ำ) หรือพื้นที่ชั้นนอกของกองเรือ (Battle Group) จะใช้การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศในการค้นหา ตรวจจับและโจมตี และการปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ โดยสามารถโจมตีเป้าหมายได้ที่ระยะไกล โดยปฏิบัติร่วมกับเรือและอากาศยานในการพิสูจน์ทราบเป้า ส่งมอบเป้าและให้ใช้อาวุธจากระยะพ้นขอบฟ้า รวมทั้งโจมตีเป้าพื้นน้ำและใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ
ส่วนของการป้องกันตนเองนั้นจะโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี ปืนใหญ่เรือ และปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้
ยิ่งไปกว่านี้ "เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" ยังสามารถใช้ในการปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group)ได้แก่ ร.ล.จักรีนฤเบศร เรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร เรือคอร์เวต ชุด เเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับ เครื่องบินกองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพและสมรรถนะที่แข็งแกร่งของ"เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช" กองทัพเรือจะนำไปใช้ในภารกิจสงคราม ป้องกันอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย รวมถึงการคุ้มกันกระบวนเรือลำเลียง และนอกเหนือจากนั้น ในยามสงบจะดูแลรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล พิทักษ์รักษาสิทธิอธิปไตยทางทะเล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล รวมทั้งช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติด้วย