- 06 ม.ค. 2562
"ดร.สังศิต" ตีแผ่ ความเสื่อมถอย"ระบอบทักษิณ" ยันหลังเลือกตั้งถึงคราวอวสานแน่ !!!
..... ในห้วงช่วงเวลานี้หากพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันเทียบกับในอดีตของ "นายทักษิณและวงวาร" จะเห็นถึงความถดถอยของระบอบทักษิณและเครือญาติ ชี้ชัดให้มากขึ้น ทางสำนักข่าวทีนิวส์ จึงขออนุญาต หยิบเอาบทความของ "ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์" เรื่อง "ความเสื่อมถอยและสิ้นสุดของระบอบทักษิณ" ที่ลงไว้ใน "Post Today" ฉบับวันที่ 5 มกราคม 2562 ได้เสนอบทวิเคราะห์และข้อมูลคำทำนายที่น่าสนใจยิ่ง เนื้อหาดังกล่าวมีใจความว่า ..."ช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมานี้ มีสัญญาณอย่างน้อยที่สุด 3 ประการ บ่งบอกให้เห็นว่าระบอบทักษิณกำลังเสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัด คือ .....
-ประการแรก ตั้งแต่ "คุณทักษิณ ชินวัตร" โดยเขาก่อตั้ง "พรรคไทยรักไทย"จนถึง "พรรคเพื่อไทย คุณทักษิณจะเป็นคนคุมงบประมาณรายจ่ายการเลือกตั้งเองทั้งหมด ซึ่งจะเน้นการสร้างกระแสพรรคออกจากกรุงเทพ ไปทั่วประเทศ ในสมัยพรรคไทยรักไทยคุณทักษิณชูนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคและกองทุนหมู่บ้าน เพียง 2 นโยบายนี้เท่านั้น กระแสพรรคไทยรักไทยก็สามารถเอาชนะพรรคการเมืองคู่แข่งขัน ในการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2544 และ 2548 ได้อย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับปี 2552 ที่ พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายจำนำราคาข้าวเกวียนละ 15,000 บาท ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ก็สามารถเอาชนะพรรคคู่แข่งอย่างถล่มทลาย ด้วยกลยุทธ์แบบนี้ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคจึงไม่ใคร่ได้เงิน ไปใช้หาเสียง เพราะคุณทักษิณทำให้เอง อดีตผู้บริหารระดับสูงของพรรคไทยรักไทยเคยกล่าวกับผู้เขียนว่า "คุณทักษิณเป็นคนจ่ายเงินยากมาก"
แต่สถานการณ์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คุณทักษิณได้ทุ่มงบประมาณมากจนน่าตกใจให้แก่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อทักษิณ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความจริงที่ขัดแย้งกัน 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่ง คะแนนนิยมของพรรคเพื่อทักษิณกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของพรรคคุณทักษิณ เพราะคุณทักษิณไม่เคยต้องจ่ายเงินจำนวนมากมายแบบนี้ให้แก่ผู้สมัคร ส.ส. ของตนแบบนี้มาก่อนเลย การที่คุณทักษิณซึ่งเป็นคนยากจะยอมควักเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ได้มาก่อน อดีตคนใกล้ชิดของทักษิณเห็นว่าเป็นเพราะ คุณทักษิณเห็นลางแพ้ของการเลือกตั้งที่จะมาถึงแล้ว ผมเห็นด้วยกับการวิเคราะห์นี้ และเห็นว่าสถานการณ์ที่เสื่อมทรุดลงกำลังบีบบังคับให้คุณทักษิณจำเป็นต้องยกเลิกนวัตกรรมการหาเสียงแบบเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำใจกลับมาใช้การหาเสียงแบบประมูลการเลือกตั้งแทน
- ประการที่สอง การหาเสียงของพรรคคุณทักษิณในขณะนี้ ไม่มีนวัตกรรมทางด้านนโยบายเศรษฐกิจเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว ผู้นำพรรคของคุณทักษิณใช้วาทกรรมที่กล่าวอ้างว่าตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และพรรครัฐบาลเป็นพรรคเผด็จการทหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไป ฯลฯ พวกเขาหันมาใช้ “การด่า” และการพูดจาส่อเสียดเอามันมากกว่าการนำเสนอนโยบายเพื่อคนส่วนใหญ่ นี่ก็เป็นสัญญาณความเสื่อมถอยของพรรคเพื่อไทยที่แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาหมดแล้วซึ่งความคิดสร้างสรรค์และไม่ต้องการแข่งขันกับพรรคอื่นๆ ทางด้านนโยบายเหมือนในอดีตอีกต่อไป
แต่ผมคิดว่าคุณทักษิณและพรรคของคุณทักษิณไม่ใช่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในปรัชญาและอุดมการณ์ประชาธิปไตยตะวันตกตามที่พวกเขากล่าวอ้างมาตลอด บรรดานักคิดคนสำคัญที่ออกแบบระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยทางการเมือง เช่น จอห์น ล็อค (1632 – 1704) ชาร์ล มองเตสกิเออร์ (1689 – 1755) และ จัง – จาคส์ร รุสโซ (1712 – 1778) ล้วนแล้วแต่ได้แสดงให้เห็นปรัชญาและหลักคิดที่ต้องการให้การปกครองเป็นไปเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ จอห์น ล็อคยืนเคียงข้างรัฐสภาพโปแตสแตนท์ในการต่อสู้กับกษัตริย์โรมันคาทอลิก พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ในการปฏิวัติ อันรุ่งโรจน์ในปี 1685 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่บั่นทอนอำนาจของกษัตริย์และทำให้รัฐสภา เป็นองค์กรหลักในการปกครองประเทศอังกฤษได้อย่างถาวรตลอดมาตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
มองเตสกิเออร์ สนับสนุนเสรีภาพทางการเมืองและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน ส่วนรุสโซเสนอ หลักคิดเรื่องสัญญาประชาคมที่ประชาชนเสียสละสิทธิส่วนบุคคลร่วมกัน แต่มิใช่เป็นการมอบสิทธิ ในการปกครองนี้ให้แก่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการเสียสละให้แก่สังคมโดยรวม ระบบการปกครอง ของคุณทักษิณไม่มีอะไรที่ใกล้เคียงกับอุดมคติของระบอบประชาธิปไตยที่กล่าวถึงข้างต้น แต่ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับระบอบการปกครองแบบศูนย์อำนาจโดยที่ตนเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงผู้เดียว และไม่ยินยอมให้มีสถาบันอื่นใดมาแข่งขันได้ ระบอบการปกครองแบบคุณทักษิณนี้ คล้ายคลึงและใกล้เคียงกับระบอบการปกครองของจักรพรรดิจีนและมหาราชาในอินเดียในยุคศักดินามากกว่า ซึ่งคาร์ล มาร์กซ (Karl Mark,1818 – 1883) นักปรัชญาชาวเยอรมันเรียกระบอบการปกครองของจีนและอินเดียในยุคโบราณแบบนี้ว่า “เผด็จการทรราชแบบตะวันออก” (Oriental Despotism)
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง อดัม สมิธ (Adam Smith,1732 – 1790 ) นักปรัชญาศีลธรรมและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้เป็นเจ้าของทฤษฏีเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมที่ทฤษฏีของเขาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจดั้งเดิมของทั่วทั้งทวีปยุโรปให้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบการค้าเสรีที่ยอมให้ผู้ประกอบการสามารถรวมตัวกันได้ ความคิดของเขาได้รับการยกย่องเป็น “ประชาธิปไตยทางการด้านเศรษฐกิจ” ส่วนแนวคิดด้านเศรษฐกิจของคุณทักษิณคือการกีดกัดทางการค้า การขจัดคู่แข่งขันทางการค้าของตนและนิยมการผูกขาดในธุรกิจการค้าขนาดใหญ่และพวกพ้องมากกว่าจะยอมให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม
- ประการที่สาม คุณทักษิณเคยเป็นผู้นำที่อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำบุญญาบารมี (Charismatic leadership) เมื่อเขาสามารถนำพรรคไทยรักไทยชนะการแข่งขันการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและมีอำนาจการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เมื่อเขาพ่ายแพ้จากการถูกยึดอำนาจโดยคณะทหารถึง 2 ครั้ง ติดต่อกัน การถูกตัดสินจำคุกและต้องหลบหนีออกไปอยู่นอกประเทศเป็นเวลาหลายปีทำให้ความนิยมเลื่อมใสในตัวเขาค่อยๆ เสื่อมลง แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber,1893 – 1920) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เจ้าของทฤษฏี Charismatic leadership อธิบายว่าการพ่ายแพ้ติดต่อกันหลายๆ ครั้ง ทำให้บารมีของผู้นำหายไปได้ ทุกวันนี้คุณทักษิณยังเป็นผู้นำของบรรดาผู้ติดตามของเขา แต่เขามิได้เป็นผู้นำที่มีบุญญาบารมีเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว
เวเบอร์ ยังอธิบายต่อไปด้วยว่าบารมีอาจส่งผ่านทางสถาบันและทางสายเลือดได้ ดังเช่นที่คุณทักษิณส่งผ่านบารมีของตนให้คุณยิ่งลักษณ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันของพรรคคุณทักษิณไม่มีผู้นำ ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขของชินวัตรอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นภายในพรรคจึงไม่มีผู้นำที่มีบารมีมากพอที่จะรวบรวมทุกคนให้เป็นหนึ่งเหมือนเดิมได้อีกต่อไป การแข่งขันของบรรดาผู้นำภายในพรรคเพื่อเอาใจคุณทักษิณจึงเกิดขึ้นเพื่อช่วงชิงการเป็นเบอร์ 1 ของพรรคแทนคุณทักษิณ และมันเป็นแรงขับเคลื่อนให้พรรคเสื่อมถอยลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งของพรรคคุณทักษิณ เท่าที่ผ่านมาพรรคทักษิณจะได้คะแนนนิยมที่ภาคอีสานและภาคเหนือมากที่สุด ในการเลือกตั้ง ปี 2554 ภาคอีสานมี ส.ส. 124 เขต พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. เขต 104 คน (เท่ากับ 84 %) ภาคเหนือมี 67 เขต พรรคเพื่อไทยได้ 49 เขต (เท่ากับ 73 %) รวมเป็น ส.ส. เขตได้ 153 คน (เท่ากับ 80 %) และได้คะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคทั่วประเทศ 15,762,470 เสียง คะแนนเสียงบัญชีรายชื่อของเพื่อไทยเฉพาะภาคอีสาน – เหนือเท่ากับ 67 % ของคะแนนเสียงทั้งหมด
จากการประเมินคะแนนเสียงในภาคอีสานในขณะนี้ พรรคพลังประชารัฐรวมกับพรรคภูมิใจไทยจะได้ ส.ส. เขตรวมกันเกินครึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในเขตอีสาน (116 เสียง) ส่วนในภาคเหนือจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขต มี 34 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐจะได้ที่นั่งราวครึ่งหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าพรรค เพื่อไทยจะแพ้การเลือกตั้งที่ภาคอีสานและภาคเหนือเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา เมื่อรวมที่นั่ง ส.ส. เขตและคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อแล้ว พรรคพลังประชารัฐจะมีคะแนนเป็นลำดับที่ 1 และได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นผลการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม ศกนี้ จึงถือเป็นจุดสิ้นสุดอำนาจของตระกูลชินวัตรในการเมืองไทยพร้อมกันไปด้วย ...