- 31 ธ.ค. 2561
วันนี้ในอดีต น้อยคนที่รู้ "ทักษิณ" สั่ง 31 ธ.ค. 46 ทำงาน คาบลูกคาบดอกเลี่ยงค่าโอนที่ดินรัชดาฯ ก้อนโตหรือไม่?
31 ธันวาคม วันสุดท้ายของปี61 ทำให้นึกถึงเหตุการณ์หนึ่งเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นนักโทษหนีคดีหลบหนีอยู่ต่างแดน เคยสั่งให้ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 ให้เป็นวันทำงาน และให้ไปหยุดวันที่ 2 มกราคม 2547 แทน โดยอ้างว่าไม่อยากให้ข้าราชการเสียวันลา และอยากให้หยุดต่อเนื่อง รวมทั้งเหตุผลอีกจิปาถะนั้น คาบลูกคาบดอกเกี่ยวข้องกับการโอนที่ดินรัชดาฯ ที่ "คุณหญิงพจมาน-ภรรยา" ซื้อเอาไว้หรือไม่? เพราะหากการโอนกรรมสิทธิ์เสร็จไม่ทัน 31 ธันวาคม 2546 ผู้ซื้อจะเสียค่าธรรมเนียมการโอนเพิ่มอีกหลายล้านบาท...เรื่องนี้มีคนไทยไม่มากคนที่รู้...และตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว
หากอยากจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปดู มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 25 พ.ย. 2546 หรือเมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นยุคที่ "ทักษิณ" เรืองอำนาจถึงขีดสุด เพราะบริหารประเทศ และหว่านประชานิยมไปทั่วทุกหัวระแหงกว่า 3 ปีแล้ว และเป็นวันเดียวกันกับที่กองทุนฟื้นฟูฯ ประกาศให้มีการประมูลที่ดินรัชดาฯ รอบ 3 อีกด้วย โดย มติ ครม.ในวันนั้นให้เหตุผลในการบังคับให้วันพุธที่ 31 ธันวาคม 2546 ซึ่งเป็นวันสิ้นปี และถือเป็นวันหยุดมาตลอดนับจากที่ไทยเราหันมาใช้ปฏิทินแบบฝรั่ง เป็นวันทำงานปกติโดยให้เหตุผลด้วยสาระสำคัญว่า... เรื่อง กำหนดให้วันที่ 2 มกราคม 2547 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ กำหนดให้วันศุกร์ที่ 2 มกราคม 2547 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ และให้วันพุธที่ 31 ธันวาคม 2546 เป็นวันปฏิบัติราชการ
ทั้งนี้ การกำหนดให้วันที่ 2 มกราคม 2547 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ เป็นการดำเนินการแนวทางเดียวกับวันหยุดเทศกาลปีใหม่ในปีที่แล้ว จะช่วยลดปัญหาการใช้สิทธิลาก่อน – หลังวันหยุดราชการเพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ทำให้ข้าราชการ ลูกจ้างของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมครอบครัว และภูมิลำเนาของตน รวมทั้งเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ สำหรับรัฐวิสาหกิจ และหน่วยราชการใดที่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนหรือราชการสำคัญที่จะต้องดำเนินการในวันดังกล่าว หากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ก็ให้รัฐวิสาหกิจและหัวหน้าส่วนราชการนั้น ๆ พิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
พูดกันตามตรง ข้ออ้างของมติ ครม.ในครั้งนั้น..ไม่ได้สะกิดใจ และทำให้คนไทยเอะใจมากนัก เหตุเพราะ "ตัวของทักษิณ" นั้นเป็นยิ่งกว่า "ซุปเปอร์สตาร์" ของสังคมไทยในยุคนั้น คิดสิ่งใด-ทำสิ่งใดคนส่วนใหญ่ย่อมเห็นดีเห็นงามไปหมด (กระทั่งหลงเหลือมาเป็นคนเสื้อแดงที่ภักดีต่อระบอบทักษิณแบบไม่สนใจถูกผิดในวันนี้) แต่สำหรับผู้จัดเจนทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง ก็ได้เฝ้ามองมติ ครม.ในครั้งนั้น ด้วยสายตาของคนรู้ทันระบอบทักษิณ และมองทะลุเรื่องนี้ออกได้ไม่ยากว่า...การประกาศให้วันที่ 31 ธันวาฯ เป็นวันทำการโดยอ้างเหตุผลสวยหรูต่าง ๆ นานาดังกล่าวของต้นนั้น...ไม่มีทางที่จะไม่แฝงฝังผลประโยชน์ทางการเมืองที่ "ระบอบทักษิณ" ถนัดเอาไว้ด้วย
โดยนางกัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้ และนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ย้อนมอง และร่วมกันพูดคุยถึงประเด็นคดีที่ดินรัชดาฯ อีกครั้งในวันที่ 21 พ.ย. 2554 ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV เอาไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า "การประกาศวันที่ 31 ธ.ค. 2546 ไม่เป็นวันหยุดราชการ เพราะวันที่ 1 ม.ค. 2547 (เช้าวันรุ่งขึ้น-ผู้เขียน) ราคาประเมินที่ดินจะเปลี่ยนไป คือเปลี่ยนทุก ๆ 4 ปีครั้ง ฉะนั้น 1 ม.ค. 2547 กรมที่ดินเปลี่ยนราคาประเมินเฉพาะตรงนั้นเป็นตารางวาละ 7 หมื่นบาท ซึ่งตอนนั้นเสียภาษีอยู่ที่ 48,000 บาท ซึ่งมันนิดเดียวเอง พ.ต.ท.ทักษิณประหยัดค่าธรรมเนียมไปแค่ 5,977,000 บาท เงินแค่นี้เองทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องไปทำงานในวันที่ 31 ธ.ค. 2546
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามันมีพฤติกรรมไม่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้" นางกัลยาณี ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีดังกล่าว นางกัลยาณี ยังระบุในวันนั้นด้วยว่า มันเกี่ยวข้องกันหมด กองทุนฟื้นฟูฯ อยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ก็อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง กรมที่ดินก็อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย การเปลี่ยนผังเมืองก็อยู่ภายใต้กรุงเทพมหานคร มาดูที่คนซื้อบ้าง เวลาภรรยาซื้อทรัพย์สิน สามีต้องเซ็นอนุญาต พ.ต.ท.ทักษิณใช้บัตรนายกรัฐมนตรีไปเซ็นให้ภรรยาซื้อที่ และท่านสั่งไม่หยุดราชการในวันที่ 31 ธ.ค. 2546 จะบอกท่านไม่รู้เรื่องคงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่เชียร์ทักษิณ ก็อาจจะโต้แย้งประเด็นดังกล่าว โดยหยิบยกคำฟ้องของ คตส. คดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งระบุตอนหนึ่งมากล่าวอ้างว่า "ต่อมากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวใหม่ โดยกันส่วนที่เป็นสาธารณะประโยชน์ออก การแบ่งแยกที่ดินจาก 13 โฉนด เหลือเพียง 4 โฉนด เลขที่ 2298, 2299, 2300 และ 2301 เหลือเนื้อที่เพียง 33-0-78.9 ไร่ แล้วประกาศประมูล เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 โดยกำหนดให้ผู้เข้าประกวดราคาต้องวางเงินมัดจำการยื่นซองเป็นเงินถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเกิน 10% ตามที่ระบุในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นระเบียบที่นำมาใช้ในการปฏิบัติ มีผู้ซื้อแบบ 4 ราย
แต่มีผู้ยื่นซองเสนอราคาและชำระเงินมัดจำการยื่นซอง 3 ราย คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 730,000,000 บาท, บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 750,000,000 บาท และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สมรสจำเลยที่ 1 เสนอราคา 772,000,000 บาท กระทั่งคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯอนุมัติให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชนะการประมูลและกำหนดให้จำเลยที่ 2 นำเงินมาชำระก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2546 ต่อมาได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์พร้อมส่งมอบที่ดินวันที่ 30 ธันวาคม 2546 โดยการทำนิติกรรมจำเลยที่ 1 ได้ลงนามยินยอมพร้อมแสดงสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทข้าราชการการเมือง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ... "
อย่างไรก็ดี ในคำฟ้องของ คตส. กลับระบุชัดว่า การประกาศขายที่ดินโดยวิธีประกวดราคาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 นั้นน่าเชื่อว่า มีการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพราะ 1) การประกวดราคาไม่กำหนดราคาที่ดินขั้นต่ำ 2) กำหนดวางเงินในการยื่นซอง 100 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 10% ของราคากลาง และ 3) มีการยกเลิกข้อจำกัดเรื่องความสูงในการก่อสร้างอาคาร ภายหลังที่จำเลยที่ 2 ประมูลได้ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น ทั้งยังระบุในข้อ 3 ใหญ่ ด้วยว่า เมื่อระหว่างวันที่ 3-30 ธันวาคม 2546 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
3.1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ศ.2544 และจำเลยที่ 2 คู่สมรสของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังกล่าว ได้ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดิน 4 โฉนด เลขที่ 2298, 2299, 2300 และ 2301 เนื้อที่ 33-0-78.9 ไร่ ดังกล่าว
ที่ทำสัญญากับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีดังกล่าว จึงเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หมวด 9 มาตรา 100
3.2 จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการการบริหารสินทรัพย์ของกองทุน เมื่อจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สมรสในการทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดิน 4 โฉนด แปลงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯได้รับความเสียหาย อันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
อย่างที่บอกไว้แต่ต้น คนที่เชียร์ระบอบทักษิณ...จะหยิบยกคำฟ้องบางส่วนของ คตส. มาใช้อ้างว่า...การสั่งให้วันที่ 31 ธ.ค. 2546 เป็นวันทำงานไม่เกี่ยวอะไรกับการโอนที่ดินรัชดาฯ เพราะการโอนกรรมสิทธิ์ และส่งมอบที่ดินเสร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2546 หรือก่อนหน้านั้น 1 วัน แต่ทว่า...ในความเป็นจริงคนเหล่านั้นก็หลงลืมไปว่า...เรื่องดังกล่าวถูกใช้อำนาจรัฐฯ ผลักดันเร่งรัดให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 ธ.ค.46 ให้จงได้ แถมยังเผื่อเวลาไว้แบบเผื่อเหลือเผื่อขาดในวันที่ 31 ธ.ค. 2546 อีก 1 วัน เพราะหากเข็มนาฬิกาเดินเคลื่อนเข้าสู่วันที่ 1 ม.ค.2547 เมื่อใด การโอนที่ดินในครั้งนั้นต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก...นับ 6 - 7 ล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มคนที่เชียร์ทักษิณ ยังไม่ใส่ใจในข้อเท็จจริงกรณี
"การประกาศขายที่ดินโดยวิธีประกวดราคาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 นั้น น่าเชื่อว่า มีการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม"...ตามที่ คตส. ระบุไว้โต้ง ๆ อีกด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สำหรับคดีนี้ แม้กรณีการประกาศให้วันที่ 31 ธ.ค. 2546 เป็นวันทำงาน จะคาบลูกคาบดอก เผื่อเหลือเผื่อขาดเอื้อประโยชน์การโอนที่ดินรัชดาฯ และยังถกเถียงกันไม่จบว่า... เอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัวผู้ถืออำนาจรัฐฯ ในครั้งนั้น...มากน้อยแค่ไหน?? แต่ทว่าท้ายที่สุดคดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานคดีดังกล่าว เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ
ปฎิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.4 , 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ขอให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน โดยศาลฯ สั่งจำคุก "ทักษิณ" 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วน"พจมาน"ให้ยกฟ้อง เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ...ตามที่คนไทยทุกคนรับรู้รับทราบ..ทักษิณบินออกไปอยู่ต่างแดน แต่ก็ยังเคลื่อนไหวคอยบัญชาการอยู่รอบๆประเทศ...