- 14 ม.ค. 2562
สวนดุสิตโพล เผยผลโพลคนอยากเลือกตั้ง
เริ่มต้น พุทธศักราชใหม่ ยังไม่ทันถึงเดือน สถานการณ์ทางการเมืองไทยก็เริ่มจะร้อนระอุขึ้นทุกวี่วัน โดยเฉพาะนาทีนี้ กรณีที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด และจับตาดูไม่ให้คลาดสายตาแม้แต่วินาทีเดียวก็ว่าได้ เพราะเป็นไปได้ว่า อาจจะเพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้้ คือมีคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งการประกาศกร้าว ออกมารวมตัวของกลุ่มคน "อยากเลือกตั้ง" ภายหลังที่มีเหตุสุดวิสัยจำต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งจากเดิมวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ออกไปอย่างน้อยอีก 1 เดือน ทั้งหมดทั้งมวลนี้นำมาซึ่งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนดังกล่าวให้เห็นอย่างประปราย โดยเจตนามาจากการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ...
โดย "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" นัดการชุมนุมกันในครั้งแรก วันที่ 6 มกราคม 62 ที่สกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นำโดย "นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์" หรือ "จ่านิว" "นายอานนท์ นำภา" แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ "นายเอกชัย หงส์กังวาน" นักกิจกรรมทางการเมือง "นางพะเยาว์ อัคฮาด" แม่ "น้องเกด" ร่วมกันชูป้ายและพัด ข้อความว่า "ไม่เลื่อน" "ไม่เลื่อนเลือกตั้ง" เพื่อแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องรัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฟังเสียงประชาชน พร้อมตะโกนส่งเสียง ไม่เลื่อนเลือกตั้ง ตลอดการชุมนุม ทั้งนี้ในการชุมนุม ปรากฎภาพของ "นายปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ "นายรังสิมันต์ โรม" ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอีกเสียด้วย
ทั้งนี้ "นายปิยบุตร" อ้างว่า "ตนมาให้กำลังใจในฐานะส่วนตัว กับผู้ที่รณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย เพราะมองว่ารัฐบาลนี้เป็นสิ่งผิดปกติ และอยู่มานานเกินไป ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้ง นำไปสู่ความปกติธรรมดา"
นอกจากนี้ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" มีการรวมตัว (ก่อความวุ่นวายหรือไม่?) อีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 62 ที่ สกายวอร์ค แยกราชประสงค์ นำโดย พวกแกนนำหน้าเดิม เพิ่มเติมคือ "สาวโบว์ -ณัฎฐา มหัทธนา" ร่วมกันชูป้ายไม่เลื่อนเลือกตั้ง โดยมีประชาชนร่วมกว่า 100 คน เคลื่อนขบวน จากแมคโดนัล สาขาราชประสงค์ ขึ้นบันไดเลื่อน มายังสกายวอร์ค พร้อมตะโกน "ไม่เลื่อนเลือกตั้ง" พร้อมกับเคาะขวดน้ำประกอบจังหวะ ตลอดทั้งการชุมนุม
ทั้งนี้ "สาวโบว์" มีการกระจายการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 62 ในหลายจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุทธยา ระยอง นครปฐม ราชบุรี นครศรีธรรมราช ซึ่งในวันที่ 9 มกราคม จะมีการชุมนุมในลักษณะเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอให้รัฐบาลรับฟังไว้ว่า "การจัดงานราชพิธี และการเลือกตั้งสามารถทำคู่ขนานไปได้ หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เกินวันที่ 10 มีนาคม อาจทำให้ มีความเสี่ยงที่การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ว่าการเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน พร้อมย้ำว่าจะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้จนกว่าผู้มีอำนาจจะกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน ส่วนจะเป็นสถานที่ใดนั้น ขอประเมินเป็นรายวัน จนกว่าจะมีความชัดเจน"
สำหรับ แกนนำได้ อ่านแถลงการณ์เรียกร้อง ระบุตอนหนึ่งว่า "ให้รัฐบาล และ คสช. ชี้แจงโดยปราศจากความคุมเครือเกี่ยวกับขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกาว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนใด หากยังไม่มีการทูลเกล้าฯ ให้บอกกับประชาชนตามความเป็นจริง พร้อมขอให้รัฐบาล และ คสช. หยุดแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง อันเป็นหน้าที่ ของ กกต. รวมทั้งขอให้บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเต็มศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับนัดกลุ่มผู้ชุมนุม อีกครั้ง ในวันอาทิตย์ ที่ 13 มกราคม"
ล่าสุด วันที่ 13 มกราคม "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ประกาศนัดชุมนุมครั้งที่ 3 บริเวณแยกราชประสงค์ เวลา 17.00 น. ภายใต้ชื่อ "ไม่เลื่อนไม่ล้มไม่ต่อเวลา" อย่างไรก็ตามในวันนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน จัดแถวกระชับพื้นที่เข้าใหล้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามา เนื่องจากต้องการควบคุมตัวแกนนำ "โบว์ และ ลูกเกด" ในข้อหาทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ใช้เสียงปราศรัยเกินกำหนด ... เช่นเดียวกับพื้นที่ต่างจังหวัด "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้นัดรวมตัวกันที่ทุ่งศรีเมือง เวลา 17.00 น. จังหวัดนครปฐม ได้นัดกันที่บริเวณตลาดโต้รุ่ง องคพระปฐมเจดีย์ พร้อมกระดาษข้อความ "ไม่เลื่อนเลือกตั้ง" เวลา 16.30 น.
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ใช่หรือไม่ว่า? คือกลุ่มคนที่แสดงจุดยืนไม่ต้องการรัฐบาลทหาร แต่อ้างประชาธิปไตย คือแนวทางเดียวที่จะนำให้ประเทศเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกันพฤติการณ์ที่คนกลุ่มน้อยนี้ จำพวกนี้กระทำอยู่ เรียกว่า "ความสงบเรียบร้อยจริงหรือ?" มีการปลุกระดมคนออกมารวมตัวประท้วงกันตามสถานที่สำคัญต่างๆ จากกรุงเทพมหานคร ลาม ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด กระทั่งทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมไทย พฤติกรรมแบบนี้ ยังเรียก ประชาธิปไตย ได้อยู่ ใช่หรือไม่?
ทั้งนี่้ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,029 คน ระหว่างวันที่ 8-12 ม.ค.62 ปรากฎว่าอันดับ 1 ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม ไม่สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง 31.50% นั่นแสดงถึงกรณีการเลื่อนเลือกตั้ง อาจไม่ใช่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ "ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ"
ในขณะเดียวกันทางด้าน SUPER POLL มีผลการสำรวจจากประชาชนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ เมื่อถามถึงบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 ระบุยังไม่มีใครเหมาะสมมากกว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นั่นย่อมแสดงว่า "ประชาชนส่วนใหญ่เกือบ 90 % ยังศรัทธาในรัฐบาลคสช. อีกทั้งยังมั่นใจในตัวของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่าสามารถปกป้องดูแลบ้านเมืองไทยได้อย่างดีที่สุด ...
เรื่องนี้ตอกชัดขึ้นไปอีก เมื่อ "พ.อ.วินธัย สุวารี" โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงกรณีสมาชิกพรรคการเมืองบางราย ได้ออกมากล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นของ "พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์" ผู้บัญชาการทหารบก ... ในฐานะ เลขาธิการ คสช. ต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ว่า "ตนเชื่อว่า ประชาชนเข้าใจในสาระสำคัญที่ ผบ.ทบ. สะท้อนให้เห็นภาพด้วยความห่วงใย ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อย ที่กองทัพบกประสงค์ให้ในช่วงเวลาสำคัญนี้ วาระสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เป็นมหามงคลยิ่งของพสกนิกร ที่ในตลอดห้วงชีวิตนี้จะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมเพียงครั้งหนึ่ง ควรจะเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยมีบรรยากาศที่มีความสุขสงบเรียบร้อย"
อีกทั้งในขณะนี้ ภาคส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่รับข่าวสารเรื่องการเลือกตั้งด้วยวิจารณญาณ มีความเข้าใจในเหตุและผล และเฝ้าดูการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีความพร้อมที่จะร่วมสร้างบรรยากาศแจ่มใส ให้ประเทศไทย เพื่อเตรียมสำหรับพระราชพิธีที่เป็นมหามงคลยิ่งและสามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามที่ รัฐธรรมนูญกำหนด
อย่างไรก็ตาม กองทัพบกเชื่อในความตั้งใจจริงของทุกฝ่าย ที่กำลังหารือเพื่อให้ได้การปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด สง่างามที่สุด ประชาชนเห็นด้วยที่สุด และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในความเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
นอกจากนี้ "พ.อ.วินธัย" ยังกล่าวอีกว่า "หากสังคมไทย จะมองการตั้งใจเคลื่อนไหวอย่างมีนัยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ด้วยความรู้สึก "กังขา" และมองว่า ไม่เหมาะไม่ควรก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นอารมณ์ ประชาธิปไตย ที่ใครๆ ก็มีสิทธิจะเกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้นได้ และถ้ามองอย่างพิจารณา อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าความเคลื่อนไหวบางอย่าง ได้กลายเป็น "อาชีพ" หนึ่งไปเสียแล้ว และยังเป็นวิธีการเดิมๆที่บางกลุ่มบางส่วนนำมาใช้ โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้สนใจบริบททางสังคมโดยรวม
อีกทั้งการเคลื่อนไหวแบบมีนัยและการวิจารณ์ด้วยอารมณ์ ที่เต็มไปด้วยทัศนคติเชิงลบ ไม่น่าจะเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่งดงาม และยังไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อสังคมไทย เลยแม้แต่น้อย ส่วนการให้ความเห็น ของสมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น คงไม่ต่างจากความเห็นเก่าที่ได้เคยประกาศไว้ตั้งแต่อดีต แต่ระยะหลังมีความกราดเกรี้ยวในถ้อยคำยิ่งขึ้นซึ่งเป็นวาทะที่สังคมคงจะต้องไตร่ตรองให้ชัดเจน โดยเฉพาะการชูประเด็นว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแล้วผลักผู้อื่นให้ไปอยู่ตรงข้ามอาจมองได้ถึงวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยที่กำลังบกพร่องก็เป็นได้ ... "
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง โฆษกคสช.ซัด "คนอยากเลือกตั้ง" วุฒิภาวะ ปชต. บกพร่อง! ไร้ประโยชน์ต่อสังคม กางแผ่กฏหมายการใช้เสียงในการชุมนุมสาธารณะ)
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "คนอยากเลือกตั้ง" เกรี้ยวกราด! ข้ออ้าง"ประชาธิปไตย" พุ่งเป้าป่วนประเทศ ไม่แคร์เสียงคนข้างมาก)