- 18 ม.ค. 2562
ชัดยิ่งขึ้น! หลังพรฏ.เลือกตั้งประกาศแล้ว กกต.จะแจ้งวันเลือกตั้งใน5วัน
น่าจะเรียกว่าเป็นการช่วยปลดล็อก สร้างความชัดเจนมากขึ้นทีเดียว จากที่เมื่อวานนี้(17ม.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายระดับเซียน ที่ได้ออกมาพูดถึงกล่าวถึงหากเลื่อนวันเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 24 มีนาคมแล้ว ทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สามารถรับรองส.ส.ได้ทันวันเปิดประชุมสภา โดยเนติบริกรอธิบายความไว้ค่อนข้างชัดแจ้งถึงหน้าที่ของรัฐบาลและกกต. ว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจหน้าที่ แต่ถ้ากกต.เชื่อว่าสามารถทำได้ก็เป็นหน้าที่ของกกต. ทางรัฐบาลหรือใครไม่สามารถไปเกี่ยวข้องได้ ซึ่งอันนี้นี่แหละที่บอกว่า ชัดเจนและชัดแจ้งที่สุด นั่นความหมายว่าเมื่อพระราชกฤษฏีกาประกาศออกมาแล้ว ผู้มีหน้าที่กดปุ่มแทบทุกอย่าง ทุกขั้นตอนต่อจากนี้ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งนั่นเอง!!!
“เรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง แต่สำหรับเรื่องการประกาศผลวันเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องของกกต. โดยทั้งหมดจะทำเสร็จหรือไม่เสร็จ หรือจะประกาศวันใดก็เป็นหน้าที่ของกกต. เพียงแต่ได้พูดคุยกันให้ทราบว่า การจะประกาศวันเลือกตั้งวันใดนั้นมีความหมายมาก เพราะถือเป็นการนับหนึ่งที่จะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาฯภายใน 15 วัน
หลังจากนั้นที่เกรงกันก็คือเรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อนแล้วนับ 15 วันจะไปอยู่ในช่วงพระราชพิธี จึงพูดคุยกันว่าให้ยึดวันที่ 9 พ.ค.เป็นหลัก และหากวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค.ก็จะห่างอยู่ประมาณ 45-47 วัน ซึ่งถ้ากกต.คิดว่าทำได้ทัน และดูแล้วก็ไม่ติดพระราชพิธีใดๆ ดังนั้นจะให้อยู่ในกรอบวันที่ 9 พ.ค.ก็อยู่ที่กกต.บริหารจัดการ รัฐบาลเป็นห่วงอยู่เพียงเรื่องที่จะไปทับซ้อนกับพระราชพิธีเท่านั้น แต่ถ้าเป็นไปอย่างที่ได้พูดคุยกันข้างต้นก็ไม่มีปัญหา” นายวิษณุ กล่าว
นอกจากนี้รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ยังพูดถึงอีกเรื่องสำคัญ ที่ยังดูเหมือนว่าเถียงกันไม่จบ ต่างคนต่างคิดต่างตีความกันไปคนละทาง นั่นคือกรอบเวลา150วันหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พรป.)เลือกตั้งส.ส. โดยในตัวเลขที่ว่านี้รวมทั้งวันเลือกตั้งไปจนถึงวันประกาศผลด้วยหรือไม่ ซึ่งกูรูกฏหมายรายนี้ บอกไว้ว่า ตนเองและนักกฎหมายทั้งหลาย หรือแม้แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เองเคยเข้าไปชี้แจงในสภาฯแล้วว่า ในการประกาศผลการเลือกตั้งช่วง 60 วัน เป็นคนละเรื่องกับ 150 วัน แต่ถ้ากกต.คิดว่าเพลย์เซฟ แล้วเอามาเป็นเรื่องเดียวกันก็แล้วไปไม่มีปัญหาเพียงแต่ขอให้บริหารจัดการให้ได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตามถ้าเป็นเช่นนั้น คือหากมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ก็จะทำให้เหลือเวลาหาเสียงเพียงพอหรือไม่สำหรับบรรดาพรรคการเมือง ซึ่งนับนิ้วกางปฏิทินจะมีเวลาให้ประมาณ 45-47 วัน เรื่องนี้นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นเวลาที่พอดี แต่บังเอิญคราวนี้พิเศษ บัตรเลือกตั้งเป็นใบเดียว เลือก 2 ชนิด และการนับคะแนน ต้องมีวิธีคิดเพื่อให้เกิดเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ก็อาจมีปัญหาล่าช้า แต่ถ้ากกต.เชื่อว่าสามารถบริหารจัดการได้ก็ไม่เกิดปัญหา และสมมติว่าถ้าถึงวันที่ 9 พ.ค.แล้วยังไม่เสร็จ ยังต้องนับคะแนนต่อ ยังไม่สามารถประกาศผลได้ ตนเห็นว่าไม่มีข้อขัดแย้งอะไร และหากตอนนั้นไม่ทัน กลัวแล้วจะเกินเวลา ก็ไปถามศาลรัฐธรรมนูญได้
“นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วยค้นและได้มาอธิบายกับตน แต่ตนก็บอกว่าอย่ามาอธิบายกับตนเลย ให้ไปอธิบายกับสื่อก็แล้วกัน เพราะถ้อยคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเขียนแบบเดียวกันว่า ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จ การประกาศผลก็นับจากนั้น แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ได้ใช้คำว่า ประกาศผล แต่ใช้คำว่า ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 หรือ 90 วัน ซึ่งการจะเปิดสภาก็คือจะต้องประกาศผลนั่นเอง นับเป็นระยะเวลาคนละส่วนกันกับการจัดการเลือกตั้ง”
สุดท้ายเมื่อถามถึงส่วนตัวเห็นว่า 24 มี.ค.เหมาะเป็นวันเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่กกต. แต่กระนั้นก็ยังให้ความเห็นที่มีความสำคัญหากไม่ใช่วันที่24 แต่ยังคงเป็นเดือนมีนาคมจะเป็นอย่างไร โดยมองว่าถ้าเป็นวันที่ 3 หรือวันที่ 10 มี.ค.อาจกระชั้นเกินไป เมื่อไปเทียบกับวันที่จะประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง จึงอาจทำให้เหลือระยะเวลาหาเสียงสั้น และถ้าเป็นวันที่ 17 มี.ค.อาจมีปัญหากับเด็กที่สอบ TCAS จำนวนเป็นแสนคน และเป็นวัยที่มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเหลือวันที่ 24 มี.ค.ซึ่งน่าจะเหมาะที่สุด
ที่ต้องนำความคิดความเห็นของนายวิษณุ มาเป็นตัวตั้งในเรื่องขั้นตอนการเลือกตั้งนี้ นั่นเพราะสิ่งที่ออกมาไม่ใช่แค่การแสดงวคามคิดเห็นทั่วๆไป หากแต่นี่คือ มือกฎหมายของรัฐบาลคสช. ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจที่สุดคนหนึ่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกทั้งนักกฎหมายระดับเซียนผู้นี้ยังเคยผ่านงานในเรื่องพระราชพีสำคัญมาแล้ว ย่อมรู้ขั้นตอนกฏเกณฑ์เป็นอย่างดี กระนั้นก็มีสิ่งที่ต้องติดตามไปอีกถึงท่าทีของกกต.เพราะดูเหมือนว่า ทุกอย่างจะต้องอยู่ที่องค์กรนี้เป็นคนบริหารจัดการ อีกทั้งยังมองกันว่าขณะเดียวกันก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องในทางกฎหมายด้วยอันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งนี่เอง ฉะนั้นจึงต้องไปดูความคิดเห็น ทีท่าด้วยว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
เมื่อวันที่ 16 ม.ค.62 ที่ผ่านมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกมากล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งในการออกมาครั้งนี้ของกกต. เรียกว่าน่าจะมีความชัดเจนกว่าทุกครั้งในเรื่องของวันเลือกตั้ง รวมทั้งในเรื่องของเงื่อนเวลา 150 วัน โดยเลขาฯกกต.บอกว่า กกต.ได้มีการพูดคุยกันแล้วว่าจะจัดการเลือกตั้ง และประกาศผลภายใน 150 วัน นับแต่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ได้ใช้บังคับ นั่นคือทางกกต.จะยึดกรอบภายในวันที่ 9 พ.ค. ส่วนถ้ามีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ระยะเวลาการประกาศผลก่อนวันที่ 9 พ.ค. หรือรวมแล้ว 45 วัน ก็เชื่อว่า กกต.สามารถทำได้ แม้ว่าระยะเวลาดังกล่าวค่อนข้างจะบีบ และกฎหมายยังกำหนดให้ กกต.ต้องรับฟังความเห็นของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ด้วย
หากย้อนไปจับท่าทีของคณะกรรมการการเมือง ก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์ คือเมื่อวันที่ 10 มกราคม ก็พบว่ามีความชัดเจนในเรื่องของกรอบเวลา 150วัน โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พูดถึงกรอบการเลือกตั้ง 150 วัน โดยได้มีการพูดคุยกันในคณะกรรมการกกต.แล้ว ซึ่งตั้งใจที่จะจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จรวมถึงวันประกาศผลเลือกตั้งภายใน 150 วัน อีกทั้งประธานกกต. ยังอธิบายถึงขั้นตอนหลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งประกาศออกมา โดยกกต.จะต้องประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน ทั้งยังย้ำว่าจะต้องกำหนดให้ได้ภายใน 5 วัน ที่กกต.ต้องประกาศวันเลือกตั้งจะเลย 5 วันไม่ได้
ขณะเดียวกันอีกเสียงของกรอบเวลา 150 วัน ที่จริงก็มีความชัดเจนออกมาแล้วหลายวัน เมื่อนายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ กรธ.เป็นผู้ชี้ขาดกรณีกรอบเวลา 150 วัน ว่ารวมประกาศผลเลือกตั้งด้วยหรือไม่ โดยโฆษกกรธ.ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของ กรธ.ตั้งแต่ต้น คือกรอบเวลา 150 วันนั้นไม่นับรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง
ตอกย้ำด้วยโฆษกกรธ.บอกว่า เรื่องนี้ได้ชี้แจงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงพิจารณา พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส.ไปแล้ว จึงได้มีการบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 171 ของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ตั้งแต่กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ครบ 4 ฉบับไปอีก 150 วันได้ คือภายในวันที่ 9 พฤษภาคม โดยไม่ต้องนับรวมเวลาของการประกาศผลเลือกตั้ง ทั้งนี้เห็นว่า คนที่พยายามตีความให้รวมวันประกาศผลอยู่ใน 150 วันด้วย น่าจะหวังตีความเพื่อต้องการให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยโดยเร็ว
สุดท้ายนี้ลองมาเปิดรัฐธรรมนูญปี2560 กฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่อยู่ในบทเฉพาะกาล จะทำให้มีความเข้าใจถึงขั้นตอนการเลือกตั้ง ที่ชัดเจนถูกต้องมากขึ้น ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มีทั้งสิ้น 178 มาตรา มีผลให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยสาระสำคัญอยู่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 171 ระบุว่า ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
ฉะนั้นถึงที่สุดแล้ว ก็ยังต้องรอพระราชกฤษฏีกาเลือกตั้งประกาศออกมาหลังจากนั้นไม่เกิน5วัน คนไทยทั้งประเทศก็จะได้รู้พร้อมกันว่าจะต้องเดินเข้าคูหาวันไหน แม้ความเห็นในเรื่องของกรอบ150วันจะยังออกเสียงกันคนละคีย์ แต่เอาเข้าจริงฟังจากน้ำเสียงของกกต.แล้วก็เชื่อว่า ไม่น่าจะติดขัดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางกกต.เองหลายคนก็เชี่ยวชาญกฏหมายย่อมต้องเพลย์เซฟตัวอย่างดีที่สุด อย่างที่เนติบริกรได้กล่าวไว้นั่นแหละ เพราะท้ายที่สุดหากเกิดอุบัติเหตุยังมีศาลรัฐธรรมนูญให้ทางออก ซึ่งจะไม่ว่าอย่างไรคนไทยก็จะได้เลือกตั้งพร้อมปีติกับพระราชพิธีสำคัญที่รอคอย