- 25 ม.ค. 2562
ชำแหละ "ตัวแดง"การบินไทย!จริงหรือไม่ ? “ยุคทักษิณ” ผุดนโยบายการบินเสรี ระห่ำก่อหนี้ซื้อเครื่องบินจน”เจ้าจำปี”ทรุด .."บิ๊กตู่"ต้องมาตาม?
ถือเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ ที่วนเวียนอยู่กับการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ สำหรับบมจ.การบินไทย ตามข้อมูลที่ "สนข.ทีนิวส์" นำเสนอไปก่อนหน้า ในการชี้ให้เห็นต้นเหตุวิกฤตการณ์ซึ่งเริ่มต้นชัดเจนในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะแนวนโยบายเปิดการบินเสรี กระทั่งนำมาสู่การใช้เป็นข้ออ้างการเร่งจัดซื้อเครื่องบิน ที่กลายเป็นต้นทุนในรูปหนี้สินจำนวนมหาศาลมาจนถึงปัจจุบัน และส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ไขที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ก็คือ การเร่งจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวางทั้ง 20 ลำ รวมทั้งจะต้องมีความชัดเจนในแผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่
ทั้งนี้แผนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ดังกล่าว ก็เป็นไปตามตามมติครม. รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2554 ตามข้อเสนอของนายโสภณ ซารัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย ในการจัดซื้อเครื่องบินจำนวน 38 ลำ วงเงินรวม 241,052 ล้านบาท ก่อนมาดำเนินการต่อในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ยืดเยื้อไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยสถานะทางการเงินของบมจ.การบินไทย ซึ่งมีตัวเลขแดงมาโดยตลอด และข้อมูลนี้ก็คือ ส่วนหนึ่งการสรุปประเด็นที่เกิดขึ้นภายใน บมจ.การบินไทย โดยกลุ่มพนักงาน บมจ.การบินไทยเอง
เริ่มต้นจากการแสดงรายละเอียดว่าปี 2545-2547 : เป็นช่วงเริ่มเปิดเสรีการบิน(Open Sky policy) โดยรัฐบาลทักษิณ และผลพวงการเปิดเสรีการบิน ซึ่งดูเหมือนว่าบมจ.การบินไทย จะได้ผลประโยชน์ในช่วงเวลาต่อจากนั้น เพราะมีผลการดำเนินงานที่มีการปรับเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิแตะระดับ 10,182.92ล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของ บมจ.การบินไทย สืบเนื่องจากการขยายเส้นทางการบินอีกหลายเส้นทาง บวกกับนโยบายการตลาดเชิงรุกภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่ คือ จำนวนเครื่องบินเท่าเดิมแต่เพิ่มเที่ยวบินหลายเส้นทาง โดยในปี 2545-2546 บมจ.การบินไทยมีเครื่องบินทั้งฝูงบิน 81 ลำและเพิ่มเป็น 83 ลำในปี2547 จึงเสมือนเป็นการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลทำให้ในช่วงปี 2545-2547 บมจ.การบินไทยมีกำไรสุทธิในระดับ 10,077-12,453 ล้านบาทจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิสูงสุดต่อเนื่องกัน 3 ปี
กระทั่งเข้าสู่ช่วงปี 2548-2551 ซึ่งพนักงานบมจ.การบินไทยใช้คำเป็นปีไฮไลท์ เนื่องจากในปี 2548 เป็นปีเริ่มต้นของการก่อหนี้ก้อนมหึมา และมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบต่อเนื่องครอบคลุม 10 ปีต่อจากนั้น เนื่องจากตั้งแต่ปี 2547-2558 สิ่งที่เริ่มเห็นได้ชัดเจน ก็คือ รายการหนี้ระยะยาว ได้แก่หุ้นกู้ ในปี 2547 อยู่ที่ระดับ 10,000 ล้านบาท ขยับเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 40,000 ล้านบาท ในปี 2548
ในส่วนของรายการ "หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน" ก็ขยับจาก 39,671.97 ล้านบาท ในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 49,101.10 ล้านบาท ประเด็นที่เป็นข้อคำถามคาใจก็คือ การก่อหนี้ก้อนมหึมาและอาจมีภาระผูกพันไปอีก 10 ปี เป็นการตัดสินใจของบอร์ดบมจ.การบินไทยในขณะนั้่น ที่รับสนองนโยบายการเปิดเที่ยวบินกรุงเทพฯ-แอลเอ โดยไม่ได้สนใจเรื่องจุดคุ้มทุนในการดำเนินธุรกิจ
เพราะเมื่อประเมินถึงการขยับขึ้นราคาเช่าซื้อเครื่องบินในแต่ละปีต่อไป จึงได้เห็นว่ามีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกปี และเชื่อว่าในอีก 10 ปีหนี้ระยะยาวคงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมากกว่านี้แน่นอน เพราะถ้าย้อนกลับไปมองตัวเลขหนี้ระยะยาวรวมไม่กี่รายการ จะเห็นได้ทันทีว่าในปี 2546 มูลค่าหนี้สินระยะยาว อยู่ที่ระดับ 64,782.75 ล้านบาทได้เพิ่มขึ้นแตะระดับ 102,910.49 ล้านบาท ในปี 2548 นี่คือ ผลพวงจากการที่ DD และบอร์ดบมจ.การบินไทย ในขณะนั้น ดำเนินการสนองนโยบายภาคการเมือง จนเป็นปมปัญหาเรื้อรังมาจนถึงยุคปัจจุบันไม่จบไม่สิ้น
ตามข้อมูลบางส่วนที่ปรากฏในหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ความว่า “ การจัดซื้อเครื่องบิน A340 -500 : ในปีพ.ศ. 2545-2547 ครม.มีมติอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินเป็นจานวนทั้งสิ้น 39 ลำ ซึ่ง 4 ใน 39 ลำ เป็นเครื่องบินแบบ A340-500 โดยมีนโยบายเพื่อให้ใช้เครื่องบินแบบดังกล่าวทาการบินตรงจากประเทศไทยไปยังสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ขอให้ทบทวนเนื่องจากเห็นว่ามีความเสี่ยงสูงจากการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าทั้งด้านการปฏัติการและการตลาด แต่แผนดังกล่าวได้ถูกผลักดันจนเป็นผลสาเร็จโดยเปิดดาเนินการเที่ยวบินแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 และยุติการบินเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 รวม 36 เดือน การบินไทยขาดทุน 7,000 กว่าล้านบาท
ปัจจุบันเครื่องบิน A340-500 ถูกปลดระวางรอขาย และถึงแม้จะมีผู้มาขอซื้อและวางเงินมัดจำแล้ว คณะกรรมการฯ ยังคงมีมติไม่อนุมัติให้ขาย จนเป็นเหตุให้ผู้วางเงินมัดจาทาจดหมายร้องเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ การอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินในคราวนั้น ส่งผลให้การบินไทยมีหนี้สินระยะยาวไปอีก 10 ปี
กระนั้นเพื่อความชัดเจนในเรื่องผลประกอบการของบมจ.การบินไทยหลังยุคนโยบายการบินเสรี และการโหมซื้อเครื่องบินในยุครัฐบาลทักษิณ เราจะไปดูตัวเลขบางส่วนที่มีการจดบันทึกไว้ เริ่้มจากผลประกอบการของบมจ.การบินไทยในช่วงปี 2533- 2541 ที่สนข.ทีนิวส์ตรวจสอบจากรายงานประจำปี บมจ.การบินไทย พบว่า โดยค่าเฉลี่ยผลประกอบการมีตัวเลขเป็นบวกประมาณ 2-3 พันล้านบาท มาโดยตลอด และแม้ว่ารายได้บางปีจะลดลงตามสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปี 2540 ที่บมจ.การบินไทยขาดทุนกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายลอยตัวค่าเงินบาท แต่ในปี 2541 บมจ.การบินไทยสามารถพลิกฟื้นผลประกอบการกลับมาเป็นกำไรสุทธิได้เกือบ 4 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตามเราจะไปดูกันต่อว่าในปี 2542 – 2549 ที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ประเทศไทยเปิดเสรีการบินในยุครัฐบาลทักษิณ ผลประกอบการของบมจ.การบินไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อนำไปสู่การหาคำตอบที่เกี่ยวโยงกับตัวเลขขาดทุนสุทธิในช่วงเวลาต่อ ๆ มา
เริ่มจากข้อมูลในรายงานประจำปีงบประมาณ 2542 ซึ่งระบุว่าบมจ.การบินไทยยังคงมีกำไรติดต่อกันเป็นปีที่ 35 โดยมีการรับมอบเครื่องบินใหม่จำนวน 10 ลำ และจำหน่ายเครื่องบินออกไป 7 ลำ ส่งผลให้มีเครื่องบินในฝูงบินทั้งสิ้น 79 ลำ นอกจากนี้ในปี 254 2 การบินไทยยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สายการบินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จากผลการสำรวจของ นิตยสารคอนเดอ นาสต์ แทรเวิลเลอร์ ประเทศอังกฤษ และได้รับ 5 รางวัลจากการประกาศสายการบินดีเด่นประจำปี 1999 โดย กลุ่มผู้พิมพ์นิตยสารท่องเที่ยวนานาชาติ หรือ Official Airline Guide ส่วนผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2542 มีการแจ้งยอดกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,707 ล้านบาท
ขณะที่ในปี 2543 ซึ่งบมจ.การบินไทยดำเนินงานครบรอบ 40 ปี มีการแจ้งยอดผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ 4,717 ล้านบาท ตามทิศทางภาวะการท่องเที่ยวซึ่งมีการขยายตัวในช่วงปี 2543 เพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับปี 2542 ที่น่าสนใจก็คือ ขณะนั้นบมจ.การบินไทยมียอดหนี้สินรวม 158,126 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่ายอดหนี้สินในปัจจุบันเกือบหนึ่งเท่าตัว
ต่อมาในปี 2544 ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างหนัก เพราะผลกระทบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐ แต่ผลประกอบการของบมจ.การบินไทยก็ยังมีกำไรสุทธิ 1,929 ล้านบาท เนื่องจากบมจ.การบินไทยมีการปรับกลยุทธ์การบริหารงาน รวมถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยก็ไม่ลดลงมากนัก โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวในตลาดระยะใกล้ รวมถึงยุโรปและออสเตรเลีย ที่มีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ที่น่าสนใจคือผลประกอบการของบมจ.การบินไทยในปี 2545 ซึ่งตามรายงานประจำปีงบประมาณ 2545 ระบุว่าเป็นปีที่บมจ.การบินไทยมีผลกำไรสูงสุด โดยมีผลกำไรมากถึง 10,182 ล้านบาท แต่สิ่งที่ต้องโฟกัสจริง ๆ ก็คือความเคลื่อนไหวการเมืองที่เริ่มเข้าไปมีบทบาทในบมจ.การบินไทย และ โครงสร้างการบินของไทยมากขึ้นเป็นลำดับ
ทั้งการแต่งตั้งคนใกล้ชิดทางการเมืองอย่าง นายทนง พิทยะ เข้านั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด บมจ.การบินไทย และการประกาศนโยบายเสรีการบิน โดยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นมาตรการที่มุ่งปลดล็อคให้สายการบินต่าง ๆ สามารถเข้ามาให้บริการในประเทศได้มากขึ้น จากเดิมที่อุนญาตให้สายการบินเพียงไม่กี่สายเข้ามาให้บริการภายในประเทศ และยังจำกัดเส้นทางในการให้บริการของสายการบินเหล่านั้น ไม่ให้บินทับเส้นทางหลักของสายการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ
และมีเพียงสายการบินไทยเท่านั้น ที่สามารถบินเส้นทางหลักๆ อาทิเช่น กรุงเทพ-เชียงใหม่ ด้วยการบินตรงแบบไม่จอดแวะพักที่ไหน ส่วนสายการบินอื่นๆ ที่จะทำเส้นทางบินไปเชียงใหม่จะต้องมีการหยุดพัก เช่นบางกอกแอร์เวย์ส จะต้องจอดแวะพักที่สนามบินสุโขทัย และ โอเรียนท์เอ็กซเพรสแอร์ (โอเรียนท์ไทย) ต้องไปจอดแวะพักที่สนามบินอู่ตะเภาก่อน ซึ่งการประกาศนโยบายเสรีการบินในขณะนั้น ได้นำไปสู่การเปิดตัวสายการบินต้นทุนต่ำอย่าง สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่รับรู้กันในเวลาต่อมาว่าเป็นธุรกิจการบินที่เกิดจากดีลธุรกิจระหว่างทุนต่างชาติและทุนระบอบทักษิณในรูปนอมินี หรือ ระหว่าง บริษัท AirAsia Berhad กับ บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
มาถึงปี 2546 ปรากฏว่าผลประกอบการของบมจ.การบินไทยยังดีขึ้นต่อเนื่อง โดยรายงานประจำปีได้แจ้งยอดกำไรสุทธิไว้ที่ 12,079 ล้านบาท และมีการระบุว่าผลกำไรที่เกิดขึ้นมีส่วนเชื่อมโยงกับแผนการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน รวมถึงมีการเพิ่มจุดบินเพื่อขยายการบินของบมจ.การบินไทยให้ครอบคลุมรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าบางช่วงเดือนของปีงบประมาณ 2546 จะมีการปรับลดเที่ยวบินลงบ้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามในอิรัก และ วิกฤตการณ์โรคซาร์สในภูมิภาคเอเซียก็ตาม
ส่วนในปีงบประมาณ 2547 บมจ.การบินไทยมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิลดลงเหลือ 10,077 ล้านบาท ปี 2548 ลดลงอีกเหลือ 6,825 ล้านบาท และปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มต้นใช้เท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ บมจ.การบินไทย มีผลกำไรสุทธิเหลือเพียง 8,992 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนที่มีการนำเสนอเพื่อจะบอกว่าในช่วงที่ผลประกอบการของบมจ.การบินไทยมีปัญหา ด้วยรายได้และผลกำไรที่ลดลงต่อเนื่องด้วยหลายองค์ประกอบเกี่ยวเนื่อง แต่บมจ.การบินไทยก็มีภาระที่ต้องรับผิดชอบจากนโยบายและการตัดสินใจในช่วงรัฐบาลทักษิณมากมาย
โดยนับตั้งแต่ปี 2544 หรือ ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นรัฐบาลทักษิณ เข้าบริหารประเทศเป็นต้นมา มีข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับยอดหนี้สินระยะยาวของบมจ.การบินไทย โดยเฉพาะมูลค่าหนี้ภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน ดังนี้
ปี 2544 หนี้สินภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน ตามรายงานประจำปี 2544 มียอดหนี้ 9,927 ล้านบาท แต่มีการปรับปรุงตามรอบบัญชีใหม่และแสดงในรายงานประจำปี 2545 เพิ่มเป็น 44,822 ล้านบาท
ส่วน ปี 2545 ยอดหนี้ภายใต้สัญญาเช่าเครื่องบินของบมจ.การบินไทย อยู่ที่ 34,801 ล้านบาท จากนั้นก็มีการปรับขึ้นโดยเฉลี่ยแทบทุกปี คือ
ปี 2546 จำนวน 35,292 ล้านบาท
ปี 2547 จำนวน 39,672 ล้านบาท
ปี 2548 จำนวน 49,101 ล้านบาท
ปี 2549 จำนวน 53,486 ล้านบาท
ปี 2550 จำนวน 70,572 ล้านบาท
ปี 2551 จำนวน 65,336 ล้านบาท
ปี 2552 จำนวน 68,028 ล้านบาท
ปี 2553 จำนวน 54,732 ล้านบาท
ปี 2554 จำนวน 47,793 ล้านบาท
ปี 2555 จำนวน 61,611 ล้านบาท
ปี 2556 จำนวน 63,319 ล้านบาท
ปี 2557 จำนวน 61,389 ล้านบาท
และเพื่อให้ชัดเจนในทุกประเด็นเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องนำตัวเลขรายได้และรายจ่ายของ บมจ.การบินไทยมาแสดงประกอบข้อมูลเพื่อเทียบเคียงให้เห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับผลประกอบการที่เป็นกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ ซึ่งก็มีรายละเอียดโดยสรุปเป็นข้อมูลดังนี้
เริ่มจากรายได้ปี 2533 เฉพาะรายได้จากการดำเนินงาน หรือ รายได้จากการขายหรือการให้บริการ ซึ่งประกอบด้วย ค่าโดยสารและค่าน้ำหักส่วนเกิน , ค่าระวางขนส่ง , ค่าไปรษณียภัณฑ์ และ กิจการอื่น ๆ มีมูลค่าสุทธิ 48,615 ล้านบาท และ มีรายจ่ายจากค่าดำเนินงาน หรือ ค่าใช้จ่ายในการขายและการให้บริการ อาทิ ค่าใช้จ่ายการบิน , ค่าบำรุงรักษาและค่าซ่อมแซม , ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริการภาคพื้นดิน , ค่าเช่าเครื่องบิน , ค่าเสื่อมราคาเครื่องบิน เป็นต้น มูลค่า 40,340 ล้านบาท
ปี 2534 รายได้ 51,913 ล้านบาท รายจ่าย 48,208 ล้านบาท
ปี 2535 รายได้ 55,030 ล้านบาท รายจ่าย 50,273 ล้านบาท
ปี 2536 รายได้ 58,579 ล้านบาท รายจ่าย 53,946 ล้านบาท
ปี 2537 รายได้ 63,755 ล้านบาท รายจ่าย 55,260 ล้านบาท
ปี 2538 รายได้ 72,798 ล้านบาท รายจ่าย 63,434 ล้านบาท
ปี 2539 รายได้ 78,022 ล้านบาท รายจ่าย 68,600 ล้านบาท
ปี 2540 รายได้ 84,688 ล้านบาท รายจ่าย 75,682 ล้านบาท
ปี 2541 รายได้ 105,493 ล้านบาท รายจ่าย 92,289 ล้านบาท
ปี 2542 รายได้ 107,653 ล้านบาท รายจ่าย 90,489 ล้านบาท
ปี 2543 รายได้ 121,712 ล้านบาท รายจ่าย 106,780 ล้านบาท
จากข้อมูลรายได้ และรายจ่ายที่พอมองเห็นยอดกำไรสุทธิ พอมาถึงช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเห็นได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านเกี่ยวกับตัวเลขผลประกอบการที่มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ตามรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้
ปี 2544 รายได้ 129,173 ล้านบาท รายจ่าย 116,946 ล้านบาท
ปี2545 รายได้ 129,015 ล้านบาท รายจ่าย 110,328 ล้านบาท
ปี2546 รายได้ 134,536 ล้านบาท รายจ่าย 116,822 ล้านบาท
ปี2547 รายได้ 152,603 ล้านบาท รายจ่าย 132,206 ล้านบาท
ปี2548 รายได้ 162,488 ล้านบาท รายจ่าย 151,664ล้านบาท
ปี2549 รายได้ 178,607 ล้านบาท รายจ่าย 170,243ล้านบาท
รายละเอียดจาการรวบรวมข้อมูลในอดีตจนมาถึงยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นภาวะความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่้งหลายอย่างกับบริษัทสายการบินแห่งชาติในเชิงลบยังไม่จบ เพราะแนวคิดเรื่องการซื้อเครื่องบินด้วยข้ออ้างเพื่อการแข่งขัน ที่พัฒนาต่อยอดมาจากนโยบายการบินเสรี ยังคงมีมาต่อเนื่อง จนถึงยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกำชับในที่ประชุมคนร.ว่าต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ และมีมาตรการดำเนินการกับเครื่องบินเก่า หรือ การจำหน่ายเครื่องบินปลดระวางอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้วิกฤตการณ์ในอดีตกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องไม่รู้จักจบสิ้น ประเด็นสำคัญคือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ อะไรจะเกิดขึ้นอีกกับบมจ.การบินไทย ???