- 26 ม.ค. 2562
ถอดรหัส"บิ๊กตู่"เมื่อถูกถามอนาคตการเมือง แล้วเจอคำตอบ#ไปดูข้อกม. กับนัยสำคัญคำพูดว่า#เพื่อชาติ!!
ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งที่ชัดเจนว่าจะมีอย่างแน่นอนในวันที่ 24 มีนาคม 2562 องค์ประกอบสำคัญที่กำลังถูกเฝ้าจับตาก็คือ ภาพลักษณ์หน้าตาของว่าที่ผู้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ซึ่งมีกระแสข่าวมาโดยตลอดว่าจะได้รับการผลักดันจาก พรรคพลังประชารัฐให้ทำหน้าที่ผู้นำประเทศสืบต่อไป เพื่อประสานแผนยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ 20 ปีให้เดินหน้าจนเป็นผลสำเร็จ
ล่าสุดในการเป็นประธานในงานวันสถาปนาโรงเรียนเตรียมทหาร ครบรอบปีที่ 61 และงานเกียรติยศจักรดาว ประจำปี 2562 ณ โรงเรียนเตรียมทหาร อ.บ้านนา จ.นครนายก พล.อ.ประยุทธ์ ถึงแม้จะไม่ได้ตอบคำถามอย่างชัดเจน ถึงกระแสการเป็น 1 ใน 3 รายชื่อถูกเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ แต่อากัปกริยาบางประการก็ยิ่งทำให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีการตัดสินใจเรื่องอนาคตทางการเมืองแล้ว เหลือเพียงแต่ว่าจะมีความชัดเจนเมื่อไรเท่านั้น โดยทางด้านพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสั้น ๆ ว่า "ไปดูข้อกฎหมาย" ก่อนจะขึ้นรถตู้เดินทางกลับ พร้อมกับชูนิ้วแสดงสัญลักษณ์ ไอ เลิฟ ยู สลับกับคำพูดที่ยิ่งมีนัยสำคัญทางการเมือง ว่า "เพื่อชาติ เพื่อชาติ" ตามการรายงานข้อมูล โดย "วาสนา นาน่วม" ผู้สื่อข่าวอาวุโส สายทหาร
ประเด็นต้องพิจารณาประการแรก ก็คือ ว่า ไปดูข้อกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อข้อคำถามเกี่ยวกับอนาคตการถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยสาระสำคัญอะไรบ้าง พบว่า ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดรายละเอียดขั้นตอนการแต่งตั้งบุคคลผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี
เริ่มต้นจากข้อกำหนดทางกฎหมาย "นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159" ซึ่งมีรายละเอียดว่า
ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิก ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวการได้มาซึ่งบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง"พล.อ.ประยุทธ์" ใช้คำว่าให้สื่อมวลชนไปดูข้อกฎหมาย ยังมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวเนื่องไว้เพิ่มเติม โดยในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ระบุว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อท่ีพรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
กรณีนี้ก็คือต้องใช้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 จาก 500 เสียงขึ้นไป เพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา โดยให้เรียกประชุมเพื่อหาเสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่องดเว้น การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีได้ ซึ่งประเด็นนี้แปลความโดยง่าย ก็คือ การพิจารณาบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลภายนอกจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนำเสนอขึ้นมา และกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจอยู่ในกรณีนี้ได้ ถ้าไม่ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองในรูปของสมาชิกพรรค และเป็น 1 ใน 3 บัญชีรายชื่อที่ถูกพรรคพลังประชารัฐนำเสนอ เพียงแต่น่าจะเป็นทางเลือกท้ายสุดที่เกิดขึ้น
ดังนั้นในกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ ถ้ายึดตามคำสัมภาษณ์ล่าสุด ก็น่าจะเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คือ เป็นเรื่องความเห็นหรือมติของพรรคประชารัฐ เพื่อดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ดังต่อไปนี้
มาตรา 88 ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ และให้นําความในมาตรา 87 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้ (หรือเท่ากับบุคคลผู้ถูกเสนอชื่อสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ได้รับการยกเว้นไม่ต้องสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.)
เนื่องจากมาตรา 87 ว วรรคหนึ่ง ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้ง และจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้ .. เมื่อมีการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัครรับเลือกตั้ง หรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เฉพาะกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทําก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง
ส่วนมาตรา 89 การเสนอชื่อบุคคลตามมาตรา 88 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการ การเลือกตั้งกําหนด
(2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 และไม่เคยทําหนังสือยินยอมตาม (1) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น
การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น ... ด้วยองค์ประกอบทางกฎหมายทั้งหมด เมื่อนำมาถอดรหัสเริ่มต้นจากคำพูดสั้น ๆ ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เน้นย้ำให้ไปดูข้อกฎหมาย จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมนาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงยังไม่มีการตอบคำถามเรื่องประเด็นอนาคตทางการเมือง เพราะช่วงจังหวะเวลาดังกล่าว ถือเป็นกลไกที่พรรคพลังประชารัฐจะดำเนินการ ก่อนจะถึงขั้นตอนสุดท้าย ว่าด้วยการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ ตามข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 89 (1)
อย่างไรก็ตามถ้าเติมเต็มด้วยคำว่า "รักชาติ รักชาติ" ที่พล.อ.ประยุทธ์พูดส่งท้าย ก็น่าจะสื่อความได้ว่า ในการชิงชัยเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ผ่านการเลือกตั้ง 2562 ชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" จะอยู่ในบัญชีที่ถูกเสนอจากพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน....และคะแนนนิยมจากทุกสำนักโพลที่ผ่านมา จะเป็นตัวชี้วัดสุดท้าย ว่า ประชาชนคนไทย เสียงส่วนใหญ่ พร้อมจะผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนสุดทางแรงเชียร์หรือไม่??