- 28 ม.ค. 2562
ชำแหละนโยบายพรรคไหนโม้ Part2 : ปชป. สมชื่อ "รัฐบาลดีแต่พูด" ชื่อนี้ไม่ได้มาเล่นๆ จำได้ไหม ใครจะแก้ปัญหาน้ำมันปาล์ม? สุดท้ายวิมานในอากาศ!
สืบเนื่องจาก “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,132 คน ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม 2562 หัวข้อ “การเปิดตัวหาเสียงของพรรคการเมืองไทย ณ วันนี้” ภายหลังจากที่ คสช. มีคำสั่งปลดล็อคให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ส่งผลให้หลายพรรคการเมืองลงพื้นที่ ออกเดินสายหาเสียง เปิดตัวผู้สมัครและทำกิจกรรมทางการเมืองกันอย่างคึกคัก เพื่อที่จะให้การเลือกตั้ง การหาเสียงเป็นที่ถูกใจของประชาชน จากการสำรวจสรุปพอสังเขปได้ดังนี้
ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.72% คิดว่าการเปิดตัวหาเสียงของพรรคฯ ทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น และทำให้ได้รู้ถึงนโยบายของในแต่ละพรรคฯ และนโยบายของแต่ละพรรค ต้องทำได้จริง ไม่โอ้อวด หรือ พูดเกินจริง ..
ทั้งนี้ ได้กล่าวเรื่องนโยบายขายฝัน ของ "พรรคเพื่อไทย" ไว้แล้วใน Part 1 "ชำแหละนโยบายพรรคไหนโม้ Part1 : "พรรคเพื่อไทย" ประชานิยมขายฝัน? ทำชาวนาน้ำตาตก เก่งแต่ทำนาบนหลังคน!"
ขณะที่ทางด้าน พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นหัวหน้าพรรคนั้น "นโยบายดีแต่พูด"ที่ผ่านมา ก็ใช่ว่าจะห่างไกลกับพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยขายฝันแทบไม่ต่างกัน ซึ่งในกรณีผลงานงานของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ประชาชนตาดำๆ อาจจะต้องจำกันไปจนวันตาย... กล่าวได้ว่า "ผลงานชิ้นโบดำ" ที่ทำให้ประชาชนคนไทยหวาดผวากับการบริหารงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็คือการบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่พ่นพิษจนเกิดข้าวยากหมากแพงกันไปทั่วทุกระแหง ทั้งราคาหมู ราคาไข่ ราคาน้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภคแทบทุกรายการพากันปรับตัวสูงขึ้นแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
ทำเอาประชาชนชั้นกลางไปจนถึงคนยากคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเดือดร้อนกันไปหมด จากคนที่เคยอิ่มก็เริ่มอด ส่วนคนที่อดอยู่แล้วก็ต้องอดอยากเสียยิ่งกว่าเดิม แม้ล่าสุดรัฐบาลจะประกาศเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการอีก 5% และปรับขึ้นอัตราจ้างขั้นต่ำอีกวันละ 7-18 บาท แต่ก็ตามไม่ทันราคาสินค้าที่ถาโถมขึ้นราคาอย่างบ้าระห่ำ แต่ที่ทั้งเจ็บทั้งฮาก็คือวิธีการแก้ปัญหาที่อ่อนด้อยทางปัญหาของรัฐบาล อย่างเช่นการแก้ปัญหาไข่แพง ด้วยการประกาศนโยบายเอาไข่ไป 'ชั่งกิโล' ที่หลายคนสงสัยว่ามันจะทำให้ราคาไข่ลดลงได้อย่างไรตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต ทั้งเรื่องพันธุ์ไก่และราคาอาหารสัตว์ที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ
ทั้งนี้ จากผลสำรวจของคณะทำงานปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "ความสุข การใช้จ่าย และการบริโภคของคนไทย ปี 2554" พบว่า ปัจจุบันประชาชนมีความกังวลต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเพื่อการบริโภคประจำวัน ซึ่งภาวะสินค้าราคาแพงนั้นทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของคนไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้จากคะแนนเต็ม 10 พบว่า คนไทยมีความกังวลต่อค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าเพื่อการบริโภคประจำวันมากที่สุด คิดเป็น 5.61 คะแนน รองลงมาเป็นค่าผ่อนยานพาหนะ/รถยนต์/ของใช้ภายในบ้าน 5.43 คะแนน การซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง/ไฟฟ้า/ค่าสาธารณูปโภค 5.38 คะแนน ค่าผ่อนซื้อที่อยู่อาศัย/ค่าเช่าที่อยู่อาศัย 5.28 คะแนน แน่นอนว่า ปัญหาของแพงที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้นส่งผลให้คะแนนนิยมของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ "ดิ่งเหว" ชนิดที่เรียกได้ว่ากู่ไม่กลับ
อีกทั้ง ยังมีการทุจริตน้ำมันปาล์ม .... หนึ่งในสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่าไม่เคยปรากฏมาก่อนก็คือ "น้ำมันปาล์ม" ที่ราคาพุ่งพรวดจากขวดละ 38 บาท ขึ้นไปถึงขวดละ 70บาท อีกทั้งยังขาดตลาดหายากยิ่งกว่าทองคำ จนเกิดปรากฎการณ์ "มีเงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำมันขาย" ทำเอาประชาชนชนและพ่อค้าแม่ขายเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทั้งที่ประเทศไทยนั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 2 ของโลก และที่เจ็บปวดที่สุดก็คือปัญหาราคาน้ำมันปาล์มที่แพงลิบลิ่วและขาดหายไปจากตลาดโดยเกิดจากกลไกตลาดที่ถูกบิดเบือนนั้นเราๆ ท่านๆ ต่างก็รู้กันดีว่าล้วนมาจากน้ำมือของนักการเมืองในรัฐบาลที่พัวพันกับธุรกิจน้ำมันปาล์มนั่นเอง จึงเกิดเป็นปฏิบัติการ 'กักตุน ปั่นราคา ฟันกำไร' จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันทั้งประเทศ
นอกจากนั้นปัญหานี้ยังถูกปล่อยให้ยืดเยื้อยาวนานถึง 4 เดือน แถบจะไม่ขยับเขยื้อนทำอะไร วิธีแก้ปัญหาก็เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เช่น ประกาศควบคุมราคาแต่ไม่มีสินค้าในตลาด , ออกน้ำมันปาล์มธงฟ้าที่คุมราคาไว้ที่ขวดละ 47 บาท แต่ปริมาณที่วางขายก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ขณะที่จุดวางจำหน่ายก็กระจายไม่ทั่วถึง , สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษลงไปตรวจสอบการกักตุนน้ำมันของโรงงานผู้ผลิต แต่กลับไม่จัดการกับนักการเมืองที่อยู่ 'เบื้องหลัง' ซึ่งเป็นคนกักตุนและปั่นราคา น้ำมันปาล์ม
ทั้งนี้ จุดที่น่าสงสัย คือก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี 2553 มีการปล่อยสต็อกน้ำมันปาล์มสำรองให้ปริมาณต่ำกว่าที่ควรจะมีน้ำมันปาล์มสำรองในประเทศ 2 แสนตัน ทั้งยังก้มหน้าก้มตาส่งออก นำไปใช้ผลิตไบโอดีเซล โดยไม่มีการวางแผนนำน้ำมันปาล์มมาทดแทน จนในที่สุดก็หมดสต็อกในเดือนธันวาคม เมื่อน้ำมันปาล์มในประเทศขาดแคลน แต่ไม่รีบนำเข้า จนเกิดกระบวนการปั่นราคา ครั้นพอเมื่อราคาขึ้นไประยะหนึ่ง รัฐบาลจึงค่อยสั่งนำเข้า ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ นอกจากนั้นก่อนหน้านี้ยังมีผู้ผลิตบางรายเล่นแร่แปรธาตุส่งออกน้ำมันปาล์มไปเก็บไว้ที่สิงคโปร์ และเพิ่งนำกลับเข้ามาในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง
ความผิดปกติที่ชี้ชัดว่าน้ำมันปาล์มไม่ได้ขาดตลาดจริงก็คือ ทันทีที่รัฐบาลประกาศทุ่มงบ 200 ล้าน จ่ายชดเชยส่วนต่างให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นน้ำปาล์มบรรจุขวดกลับมีวางขายกันพรึ่บ ซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกทุกห้างต่างมีน้ำมันปาล์มวางกันเต็มเชลล์ ทำให้ประชาชนพากันงวยงงว่าถ้าไม่มีน้ำมันปาล์มในสต็อกจริงแล้วอยู่ๆไป 'เสก' น้ำมันเหล่านี้มาจากไหน
แม้ระหว่างที่มีปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาดจะเกิดภาพความขัดแย้งในการแก้ไขปัญหาระหว่าง นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ จากภูมิใจไทย กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ จากประชาธิปัตย์ ซึ่งต่างก็โยนกลองกันไปมาและขัดแข้งขัดขากันตลอด แต่ลึกๆ แล้ววงในกลับเมาท์กันว่าทั้งพรรคแกนนำที่ทำหน้าที่บริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง เรื่อยมาจนปลายทาง พรรคพวกเครือข่ายล้วนแบ่งสรรประโยชน์ ตามขั้นตอนแบบของใครของมัน แต่ก็ไม่ลืมหารเปอร์เซ็นต์ให้กับอีกพรรคด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเคยตำหนิ"นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทย" แต่มาถึงวันนี้รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ยอมกลืนน้ำลายตัวเอง ด้วยการประกาศนโยบายประนิยม ภายใต้ชื่อที่สวยหรูว่า “ประชาวิวัฒน์” คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ ด้วยเล็งเห็นว่าเป็นวิธีที่พรรคเพื่อไทยเคยใช้ได้ผลและสามารถเรียกคะแนนนิยมให้พรรคได้อย่างถล่มทลาย ประชาธิปัตย์จึงต้องหยิบกลยุทธ์เดียวกันนี้มาใช้เพื่อเรียกคะแนนให้กับพรรคในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้
นโยบายดังกล่าว ที่ "นาย อภิสิทธิ์" ประกาศออกมาเป็นวาระเร่งด่วน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 นั้น ประกอบด้วยนโยบาย 5 ด้านหลัก ดังนี้ 1. การกระจายที่ดินทำกินและโฉนดชุมชน , การเพิ่มจุดผ่อนผันให้ผู้ค้าจำนวน 20,000 ราย มีพื้นที่ค้าขาย 2. การลดภาระค่าครองชีพของคนที่มีรายได้น้อย โดยให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับคนที่ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วย แก้ปัญหากองทุนน้ำมัน ด้วยการยกเลิกการตรึงราคา LPG ในภาคอุตสาหกรรม แต่ยังตรึงราคาภาคครัวเรือนและขนส่ง 3. การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น ให้คนขับรถแท็กซี่ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ขึ้นทะเบียนและจัดระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสวัสดิการ
4. การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และ 5. การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ โดยให้ประชาชนที่อยู่นอกระบบสามารถทำประกันสังคม โดยสมทบเงิน 100 ต่อเดือน เข้าระบบประกันสังคม , ตั้งเป้าลดปัญหาอาชญากรรมได้ร้อยละ 20 ภายใน 6 เดือน ซึ่งนโยบายหลายอย่างถูกวิจารณ์ว่าเป็นการลอกนโยบายของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งยังเป็นการนำเงินภาษีประชาชนมาหาเสียง โดยไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น การให้ประชาชนที่ใช้ไฟน้อยใช้ไฟฟรี แต่กลับไม่แก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นเพียงบางเสี้ยวบางตอนที่หยิบยกขึ้นมา แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ประจักษ์ชัดว่า 2พรรคใหญ่คู่ขับเขี้ยวบนถนนการเมืองไทยมายาวนานนั้น มีพฤติการณ์ขายฝันเชิงนโยบายแทบไม่ต่างกัน ....