- 18 ก.พ. 2562
พลันที่ฝุ่นควันลอยละล่องบนชั้นบรรยากาศกำลังเจือจางลง...ทัศนวิสัยที่เคยพร่าเลือนก็ปรากฏภาพที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ แต่กลับมิได้นำมาซึ่งความทุเลาเบาบางของความรู้สึกอันหลากหลายบนถนนการเมืองไทยที่ยังคงดำเนินต่อไป ด้วยเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เกิดการผสมปนเปทางความ คิดที่ชวนสับสนยิ่ง
พลันที่ฝุ่นควันลอยละล่องบนชั้นบรรยากาศกำลังเจือจางลง...ทัศนวิสัยที่เคยพร่าเลือนก็ปรากฏภาพที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ แต่กลับมิได้นำมาซึ่งความทุเลาเบาบางของความรู้สึกอันหลากหลายบนถนนการเมืองไทยที่ยังคงดำเนินต่อไป ด้วยเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เกิดการผสมปนเปทางความ คิดที่ชวนสับสนยิ่ง
ทั้งความกระอักกระอ่วนใจต่อกรณีการเดินหมากของพรรคการเมืองบางพรรค...ความหวาดระแวงต่อปรากฏการณ์บางอย่างที่อุบัติขึ้นตามมาแทบจะในวันเดียวกัน แต่ต่อให้ไม่มีอะไรในกอไผ่ หากเพียงคำบอกเล่าจากปากต่อปากในกลุ่มผู้ขาดวิจารณญาณ จากน้ำผึ้งหยดเดียวก็บานปลายให้กลายเป็น อุปทานหมู่โดยที่ไม่น่าแปลกใจนัก
"จริง" หรือ "เท็จ" ... คือคำถาม ... กับกระแสข่าวลือการ "รัฐประหาร" เมื่อปรากฏมีการขยับขับเคลื่อนกำลังพลจากหน่วยรบ พล.ร.2 รอ หรือที่รู้จักกันในนาม "บูรพาพยัคฆ์" หากเป็นการเตรียมการเพื่อฝึกตามวงรอบ และมิได้สลักสำคัญต่อสังคมจนถึงขนาดที่ว่าต้องมี การอัดคลิปเผยแพร่ต่อบนโลกออนไลน์ ซึ่งก็ชัดเจนเพียงพอถึงเจตนาจากพฤติการณ์อันเสมือนว่าชักจูงผู้รับสาห์นให้คล้อยตาม จนออกอาการกระต่ายตื่นตูมไป
ตามกัน
หารู้ไม่หากใช้สติปัญญาพินิจพิเคราะห์เสียหน่อย...ประวัติศาสตร์กองทัพและการเมืองไม่เคยสอนว่าการรัฐประหารจะสำเร็จลุล่วง ได้ด้วยวิธีการทำให้ "ไก่ตื่น" ...ข้อนี้จึงตกไป
ราวประหนึ่งพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก...เมื่อมีมือดีนำแถลงการณ์ "ปลอม" เผยแพร่ต่อสอดรับกับกระแสข่าวลือการรัฐประหาร "ปลอม" ให้ดูเข้มขลังมากขึ้น ด้วยคำสั่งปลด ผบ.เหล่าทัพ แต่หากผ่านทัศนะของกลุ่มคอการเมืองหรือกองทัพคงเป็นเรื่องชวนหัว เสียมากกว่าที่จะอกสั่นขวัญแขวนเอนเอียงตามกระแส ด้วยเพราะตระหนักดีถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "บิ๊กตู่" และ ผบ.เหล่าทัพ รวมถึงความเป็นเอกภาพระหว่างรัฐบาลและกองทัพ
โอกาสในการเกิดรัฐประหารจึงดูเป็นสิ่งที่รางเลือน หากที่ชัดเจนเห็นจะเป็นการหวังผลลัพธ์ทางการเมืองบางประการของผู้กระทำการ เช่นว่า ต้องการทำลายศรัทธาของประชาชนต่อกองทัพ หรือเจตนาสร้างสถานการณ์เชิงสมมติให้เห็นถึงความแตกแยกระหว่างสถาบันการเมืองและกองทัพก่อนช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง...ซึ่งก็เป็นได้ทั้งสิ้น
เป็นความโชคดีที่รัฐบาลออกมาสยบต่อทุกกระแสลืออย่างทันท่วงที...ไม่ได้ช้าเกินการแม้แต่น้อย ทำให้ลดความเขม็งเกลียวที่ก่อตัวขึ้นได้ในระดับหนึ่ง หากแต่ยังหลงเหลือกลุ่มเคลื่อนไหวปรปักษ์ทางการเมือง ออกมาดิ้นเร่าเต้ากระแส แต่ไม่ทันกระไรก็ต้องดับวูบแยกย้ายกันไป เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลก็ไม่ได้ให้ราคามากนัก อีกทั้งสังคมส่วนใหญ่ก็มิได้คล้อยตามแม้สักนิด
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจวบจนกระทั่งถึงตอนนี้...ทุกอย่างกำลังกลับสู่สภาวะปกติ รถถังอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทำให้บางคนวิตกกังวลประหนึ่งของแสลง ก็เดินหน้ากลับสู่กรมกรอง เหลือเพียงรถหาเสียงวิ่งสวนกันไปมา
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านปฏิกิริยาของสังคมต่อสองกรณีข้างต้นก็สะท้อนถึงความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนต่อความสุ่มเสี่ยง การเกิดรัฐประหารในประเทศไทย จากข้อเท็จจริงในแง่มุมประวัติศาสตร์ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการล้มลุกคลุกคลานของการเมืองไทย อีกหนึ่งสาเหตุนอกเหนือจากการฉุดกระชากทางอุดมการณ์นั้น คือการปฏิวัติและรัฐประหาร
ในแง่ทฤษฎีเป็นเช่นว่านี้จริง หากการหมุนเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาทำให้บริบททางสังคมและการเมืองเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อในปัจจุบันการหยิบยกประเด็นการก่อรัฐประหารมาย้ำหัวตะปูด้วยยกเหตุว่าเป็นเจตนาการแสวงหาอำนาจของผู้นำกองทัพไม่มีน้ำหนักอีกต่อไป ความเป็นเอกภาพที่หล่อหลอมขึ้น ทำให้ประจักษ์ถึงการสลายตัวของความขัดแย้งอย่างชัดเจน
หลากหลายตำรับตำราทั้งแวดวงวิชาการด้านการเมืองที่นำเสนอว่าปัจจัยที่นำไปสู่การรัฐประหารส่วนหนึ่งมาจาก ความแตกแยกและไม่สมานฉันท์ในกองทัพ ทว่าเป็นกว่าทศวรรษที่ทุกอย่างกลับตาลปัตร ด้วยหนหลังมานี้วิกฤตการณ์การเมืองกลับก่อตัวขึ้นจากภาคประชาชน ... อย่างที่ยากจะลืมเลือนเมื่อครั้งหนึ่งอุณหภูมิของมวลชนถูกเติมเชื้อเพลิงด้วยวาทะของแกนนำ อันเป็นอมตวลีที่ไม่น่าจดจำจนถึงทุกวันนี้ความว่า "เผาเลยครับพี่น้อง...ผมรับผิดชอบเอง"
ชั่วพริบตาสถานที่ราชการถูกเพลิงพิโรธเผาเป็นจุณ เหลือเพียงซากปรักหักพังอันเป็นอนุสรณ์ของความอัปยศอดสู โดยน้ำมือของประชาชนที่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง...บาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่กำลังจะได้รับการเยียวยา กลับถูกหยิบยกมาจุดประกายอีกครั้ง เมื่อปรากฏเทือกเถาเหล่ากอที่มีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนายใหญ่ผู้ชักใยเหตุการณ์ในอดีต ซ้ำยังคลุกวงในกับกลุ่มการเมืองที่ตกเป็นจำเลย ปราดออกมาโอดว่า คำจำจัดความที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของมวลชนทีนิยมความรุนแรง ที่เรียกว่า "เผาบ้านเผาเมือง" นั้น ...เป็น "วาทกรรม" ?
พร้อมชักแม่น้ำทั้งห้าว่า การฟื้นฝอยหาตะเข็บต่อเหตุกาณ์ดังกล่าวรังแต่จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ถือเป็นการกล่าวหาเพื่อหวังผลทางการเมือง ทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้ความเป็นธรรมในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และขยายความต่อความหมายของการสร้างวาทกรรมว่าทำให้เกิดความเกลียดชัง เป็นความรุนแรงประเภทหนึ่ง และอาจนำไปสู่ความรุนแรงอื่นๆ
ย้อนกลับมาพินิจถึงเชิงเปรียบเทียบต่อสถานะและบทบาทของ "การรัฐประหาร" และ "เผาบ้านเผาเมือง" ซึ่งประจักษ์ชัดเพียงพอว่าอย่างหลังนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และยังเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งขีดสุด จึงควรค่าที่จะนำกล่าวถึงในบางโอกาสเพื่อเป็นอุทาหรณ์เพื่อไม่ให้อดีตต้องซ้ำรอยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง ในขณะที่ปลุกระดุมสร้างชุดความคิดให้เกิดการวิตกต่อการรัฐประหารที่ยังคงไว้ซึ่งความเป็น "นามธรรม" จากองค์ประกอบอันหลากหลายที่เป็นการตอกย้ำถึงความเป็นเอกภาพในกองทัพ ชนิดไม่มีโอกาสจะเกิดรัฐประหารซ้อนแม้แต่น้อย
นำมาซึ่งคำถามห้อยท้ายที่มิอาจเป็นอื่นได้อีก นอกจาก แล้วแท้จริงอันใดแน่คือวาทกรรมระหว่าง "เผาบ้านเผาเมือง" หรือ "รัฐประหาร" ?