- 10 เม.ย. 2562
ย้อนคำสัมภาษณ์ “ธนาธร” กับแนวคิดให้เลิกวัฒนธรรมเรียกพี่น้องลุงป้าน้าอา ชี้เป็นอำนาจนิยมกีดกันโอกาสและความคิดสร้างสรรค์!
วันที่ 10 เมษายน ในโซเชียลมีเดียมีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์เดอะโมเมนตัม เมื่อปีที่แล้ว (19 มี.ค. 2561) ก่อนหน้าวันยื่นขอจดชื่อพรรคไม่กี่วัน ถึงเบื้องหลังการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยนายธนาธรกล่าวว่า ที่ลงมาก่อตั้งพรรคร่วมกับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์
เพราะอยากเห็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ก้าวไปข้างหน้า แม้จะขัดแย้งแต่ก็มีวิธีหาข้อสรุปได้โดยไม่ต้องทำรัฐประหาร และให้คนกลับมาเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา โดยการทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความน่าเชื่อถือ สามารถเป็นตัวตัดสินปัญหาของสังคมได้
ส่วนเบื้องหลังการรวมตัวก่อตั้งพรรค นายธนาธรกล่าวว่า ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคมีความหลากหลายมาก มีทั้งครู เกษตรกรรุ่นใหม่ นักสื่อสารมวลชน นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Open Data ตัวแทนจากกลุ่ม LGBT (กลุ่มความหลากหลายทางเพศ) ซึ่งทุกคนอยากเห็นสังคมดีขึ้น ฝ่าวิกฤตประเทศ และสร้างอนาคตใหม่
ส่วนที่บางคนอายุยังน้อยนั้น พรรคมีศักยภาพพอที่จะระดมคนลงสมัครรับเลือกตั้ง 350 เขต และสมาชิกพรรคที่อายุยังน้อยนั้น มีพลังและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ถ้าไม่เอาคนกลุ่มนี้มาเสนอนโยบายจะให้ใครเสนอ โดยการทำนโยบาย ในคณะกรรมการนโยบายจะประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม
ทั้งนี้ เมื่อถามว่า พอไปอยู่ในองค์กรจริงๆ จะไม่มีปัญหาเรื่องระบบอาวุโสหรือ นายธนาธรกล่าวว่า “ผมยังนั่งคุยกับพวกเขาอยู่เลยว่า ถ้าพรรคของเราเกิดได้เมื่อไร ในพรรคของเราอยากให้เลิกใช้คำว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา อยากให้เลิกใช้คำพวกนี้ให้หมด สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ อย่างที่ผมบอก อะไรก็ตามที่อยากให้เกิดก็ต้องทำในพรรคก่อน เราต้องการยกเลิกวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งกีดกันโอกาส กีดกันความคิดสร้างสรรค์ของคน เรียกคนอื่นเป็นพี่ ป้า น้า อาเมื่อไร
มันเป็นการเข้าไปอยู่โครงสร้างอำนาจนั้น เราจึงคิดว่า ใช้คำว่า คุณ ผม ดิฉัน สามคำเพียงพอแล้ว ให้เกียรติกันมากพอแล้ว ไม่มีพี่ ไม่มีท่าน คนทุกคนจะกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าเป็นตัวของตัวเอง การจะไม่ยอมรับความคิดเห็นเพราะอายุ เพราะเพศสภาพ เพราะการศึกษา ตกไปเลย…not this party ต้องไม่ใช่ที่นี่ หรืออย่างน้อยที่สุด ตราบใดที่ผมยังอยู่ที่นี่ เราจะไม่ปฏิบัติต่อกันแบบนี้”
นอกจากนี้ 'นายธนาธร' ยังกล่าวต่อว่า "จุดอ่อนของพรรค คือ ความไม่เข้าใจของประชาชนซึ่งมีความคาดหวังมาก ที่ผ่านมาอยากจะสื่อสาร ทำกิจกรรมทางการเมือง และออกไปพบปะผู้คนเพื่อชี้แจงนโยบาย และอธิบายทางออกจากวิกฤตของสังคมไทย แต่ทำไม่ได้ เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ส่วนโครงสร้างพรรค คิดว่าอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้ ไม่ว่าจะตรงไหนของพรรค
ตราบใดที่พรรคกับตนเห็นอนาคตตรงกัน มีจุดยืนทางอุดมการณ์ตรงกัน ตำแหน่งไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ยอมรับว่า ในการบริหารองค์กรต้องมีผู้นำตัดสินใจ ปัญหาคือกลไกที่จะทำให้ผู้นำยึดโยงกับอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทุกอย่างต้องตอบกันด้วยการประชุมสามัญพรรค ซึ่งเป็นส่วนที่มีอำนาจสูงสุดในพรรค ไม่ใช่มาจากนายธนาธรหรือนายปิยบุตร ถ้าอยากให้สังคมไทยเป็นแบบไหน ก็ต้องเอารูปแบบนั้นมาใช้ที่พรรคก่อน และต้องใช้ให้สำเร็จ"
ส่วนชีวิตหลังจากเล่นการเมืองต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง นายธนาธร กล่าวว่า ต้องทิ้งความเป็นตัวของตัวเองบางส่วน เช่น การจะออกไปทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ การให้สัมภาษณ์ การโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ต้องพึงระวังว่าจะสะท้อนไปถึงบุคคลที่มีอุดมการณ์ร่วมกันและมาร่วมจัดตั้งพรรค สิ่งที่ใหญ่กว่านั้นคือ วิถีชีวิตแบบเดิมคงไม่ได้ใช้แบบนั้นแล้ว โชคดีที่ครอบครัวให้การสนับสนุน
เพราะทุกคนอยากเห็นสังคมใหม่และอนาคตใหม่ด้วยกัน แม้ไม่อยากให้ตนออกจากธุรกิจครอบครัว ส่วนเสียงวิจารณ์ว่านักธุรกิจลงมาเล่นการเมืองอีกแล้ว ยืนยันว่าธุรกิจของตนเป็นธุรกิจที่เปิดเสรี นึกไม่ออกเลยว่าถ้าเป็นรัฐบาลแล้ว จะเป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มให้กับตัวเองได้อย่างไร และที่ผ่านมาเรายืนบนขาตัวเองตลอด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ธนาธร ถูกทักษิณหลอกใช้ ระวังจบไม่สวย ไม่มีแผ่นดินจะอยู่เหมือนกัน
-ศรีวราห์ชี้ธนาธร ยื่นขอศาลทหารโอนคดีมาศาลพลเรือนได้ เหมือนคดีเสือดำ
-ตำรวจส่งธนาธรขึ้นศาลทหาร โดนแจ้งข้อหาเพิ่ม! เจ้าตัวยอมรับอยู่ในพื้นที่จริง