- 24 เม.ย. 2562
ทางรอด ... อันริบหรี่ !! ของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"
บทความพิเศษ ดร. เวทิน ชาติกุล
ประเด็นหลัก
-จากฏีกาแพ่ง การโอนหุ้นจะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นท่านั้น
-ศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะมีดุลพินิจตามแนวทางของฏีกาแพ่งหรือไม่? -หรือศาลจะวินิจฉัยว่าการโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค. 2562 เป็นการดำเนินการย้อนหลัง?
1. เกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัท*
1.1 ไม่ทราบขั้นตอนทำให้มีปัญหาฟ้องร้อง
ปัจจุบันมีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน ผู้ถือหุ้นหลายคนยังไม่ทราบขั้นตอนการโอนหุ้น และแบบของการโอนหุ้น ทำให้มีปัญหาฟ้องร้องกันในชั้นศาลเป็นจำนวนมาก
1.2 ควรมีหนังสือ ให้ถือหุ้นแทน หรือ โอน
ยังไม่รวมถึงการที่บิดามารดาโอนหุ้นให้ลูกจำนวนมาก หลังจากนั้น ก็มาฟ้องขอหุ้นคืน หากบิดามารดาต้องการให้บุตรถือหุ้นแทนก็ควรจะมีหนังสือตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าให้ถือหุ้นแทนเท่านั้นไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ขาด
1.3 หุ้น ครอบครองเกิน 5 ปี แม้ไม่ชอบด้วยกฏหมายได้กรรมสิทธิ์ครอบครองปรปักษ์
การโอนหุ้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายถ้าครอบครองเกิน 5 ปีผู้ครอบครองย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
2. ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการโอนหุ้น*
2.1 คำพิพากษาฎีกาที่ 1127/2521 (กรณีการโอนหุ้นที่ไม่ได้ระบุหมายเลขหุ้น)
ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 บังคับว่าการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อในใบหุ้นต้องแถลงเลขหมายหุ้นซึ่งโอนกันลงในตราสารการโอนด้วยนั้น ก็เพื่อว่าถ้าผู้โอนมีหุ้นหลายหุ้นและต้องการโอนเพียงบางหุ้น ก็ให้ระบุเลขหมายหุ้นที่โอนไป เพื่อจะรู้ได้แน่นอนว่าหุ้นใดยังอยู่หรือโอนไปแล้วเท่านั้น
แต่ในกรณีที่ผู้โอนต้องการโอนหุ้นทั้งหมดดังคดีนี้เพียงแต่ระบุในเอกสารการโอนว่าขอโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ผู้รับโอน ก็ถือได้ว่าเป็นการแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันแล้ว
2.2 คำพิพากษาฎีกาที่ 2451/2551 (กรณีการโอนหุ้นที่ยังไม่ได้ออกใบหุ้น) หุ้นที่ยังไม่ได้ออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่เป็นหุ้นที่มีหลายเลขใบหุ้นแล้ว การซื้อหุ้นดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง
2.3 คำพิพากษาฎีกาที่ 11883/2554 (กรณีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์) การซื้อขายหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งซึ่งต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม
ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง เพียงกำหนดแบบของการโอนหุ้นที่มีหลักฐานการโอนที่แน่นอนเท่านั้น หาใช่แบบของการซื้อขายหุ้น ... ผู้ซื้อหุ้นที่มิได้โอนหุ้นให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวยังไม่อาจอ้างว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทและไม่อาจใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้เท่านั้น หาทำให้การซื้อขายหุ้นตกเป็นโมฆะไม่?
2.4 คำพิพากษาฎีกาที่ 5873/2546 (กรณีการโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกได้)
การโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม
เมื่อโจทก์รับว่าการโอนหุ้นให้แก่ ม. มิได้จดแจ้งการโอนต่อนายทะเบียนผู้ถือหุ้นของ ป. ในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงยังคงปรากฏชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วยันจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้
โจทก์ต้องนำเงินปันผลจากหุ้นของ ป. มาคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.5 คำพิพากษาฎีกาที่ 14225/2558 (กรณีการโอนหุ้นโดยความรู้เห็นของบริษัท)
จำเลยที่ 1 และ ป. ทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 เมื่อหุ้นดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 และ ป.
โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทก็ทราบเรื่องดังกล่าวดีตั้งแต่วันนั้น ถือว่าบริษัททราบเรื่องการโอนหุ้นดังกล่าวแล้ว
โจทก์ร่วมทั้งสามใช้ยันกับบริษัทได้ว่าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว แม้จะไม่ได้มีการจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ตาม และเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทดังกล่าวที่จะต้องไปจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อบริษัทมีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นย่อมมีผลให้โจทก์ร่วมทั้งสามไม่ได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุมด้วย
และที่ประชุมก็มีมติให้แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการแบ่งประเภทของหุ้น และกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามเสียหายเนื่องจากไม่สามารถคัดค้านเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวได้
โจทก์ร่วมทั้งสามย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงในกรณีนี้ที่จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวได้
3. ตัวบทกฎหมายอ้างอิง*
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129
อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ
อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น การโอนหุ้นควรทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายหุ้น และต้องมีการชำระเงินค่าหุ้นให้ครบถ้วนก่อนจึงจะลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น มิฉะนั้น อาจเสียหุ้นไปโดยไม่ได้เงินค่าหุ้น.
4. ความข้องเกี่ยวกับกรณีการโอนหุ้น วี-ลัค ของธนาธร
4.1 กกต.มีมติคำร้องมีมูล หมายความได้สองอย่างคือ
กรณีที่ 1 มีการโอนหุ้นกันจริงในวันที่ 8 ม.ค.2562 แต่มาแจ้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มี.ค.2562 ยังถือว่าธนาธรยังคงเป็นผู้ถือครองหุ้นต่อบุคคลภายนอกจนถึงวันที่ 21 หรือไม่?
4.2 ไม่มีการโอนหุ้นกันจริงในวันที่ 8 ม.ค.2562 (หรือ ข้อสงสัยเรื่องทำเรื่องโอนหุ้นย้อนหลัง)
ซึ่งความเป็นไปได้มี 3 แนวทางคือ
แนวทางที่ 1 ยอมรับว่าแม้ธนาธรโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 จริง แต่ถือว่ามีผลเฉพาะคู่กรณีหรือคนใน ซึ่งก็ต้องมานับสำหรับคนนอก(เช่น กกต.) จะนับว่ามีผลคือในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่บริษัทไปแจ้งอย่างเป็นทางการแล้วเท่านั้น กรณีนี้ ธนาธรไม่รอด ทั้งไม่ได้เป็น ส.ส. ทั้งถูกตัดสิทธิ์ 20 ปี และดีไม่ดีอาจติดคุกด้วย
แนวทางที่ 2 ยอมรับว่าธนาธรโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ถึงแม้จะมาแจ้งกันอย่างเป็นทางการในภายหลัง แต่รับฟังได้ว่า "ตัวธนาธร" ไม่ได้ถือสิทธิในหุ้นนั้นมาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 แล้ว กรณีนี้ ธนาธรก็จะไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม และได้ไปต่อ
แนวทางที่ 3 ไม่ยอมรับว่ามีการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 ด้วย "ข้อสังเกตุ" สารพัดสารพันที่ปรากฏขึ้น อันนี้จะหนักคือ ผิด ถูกตัดสิทธิ์ไม่พอ ยังทำข้อมูลเอกสารเป็นเท็จขึ้นมาด้วย
สำหรับแนวทางที่ 1 มีข้อกฏหมายอื่นที่ต้องพิจารณาประกอบไปด้วยคือ
1. การตัดสิทธิ์รับสมัครส.ส.(ใบส้ม) กม.ระบุไว้ว่าเป็นอำนาจของกกต.ในกรณีผู้รับสมัครส.ส.แบบเขต ส่วน ธนาธร เป็นส.ส.บัญขีรายชื่อ ต้องมีข้อวินิจฉัยทางกฏหมายออกมา
2. ถ้าเป็นคดีทางแพ่ง ฏีการะบุชัดเจนว่า ธนาธรผิดแน่นอน แต่นี่เป็นคดีการเลือกตั้ง ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้งว่าจะวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นไปตามฏีกาทางแพ่ง ธนาธร ก็ไม่รอด ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นอื่น ธนาธรก็มีสิทธิ์รอด
แต่ถ้าศาลฯวินิจฉัยในแนวทางที่ 3 (โอนย้อนหลัง) อันนี้จะหนักเลย เพราะมีเรื่องหลักฐานเท็จเข้ามาเกี่ยวข้อง ธนาธร ยังมีสิทธิ์รอด แม้จะน้อยเต็มทีก็ตาม
ข้อสังเกต .... แม้ กม.ไม่ได้กำหนดหรือระบุว่าหลังโอนต้องไปแจ้งในทันที แต่เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลต่อคุณสมบัติผู้สมัคร.ส.ส. ทำไมถึงไม่รีบไปแจ้งการโอนหุ้นให้เรียบร้อยก่อนวันรับสมัคร (มีเวลาประมาณ 1 เดือน) แต่ปล่อยให้ล่วงเลยมาถึงวันที่ 21 มี.ค. 2562 แม้จะอ้างว่ามีหนี้ 11 ล้านที่ต้องตามก่อนตะปิดบริษัท แต่จริงๆก็สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันรับสมัครได้หรือไม่ ถ้ารู้ว่าจะมีผลกระทบต่อคุณสมบัติผู้สมัคร.ส.ส.
*ไม่เกี่ยวกับกรณีของธนาธร แต่เป็นข้อมูล ข้อเท็จจริงเพื่อให้ทราบแนวทางพิจารณาตามข้อกฏหมาย
*เป็นข้อเขียนของผู้รู้ทางกฏหมาย เครดิตเป็นของผู้เขียน ขออภัยที่ผมไม่ทราบว่าเป็นใคร