- 02 พ.ค. 2562
พสกนิกรปลื้มปิติ เปิดประวัติ "สมเด็จราชินีสุทิดา" องค์ราชินีในรัชกาลที่ ๑๐ พระปรีชาสามารถด้านการทหารอันโดดเด่น
เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวที่ทำให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าต่างปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นล้นพ้น เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินี ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ชาวไทยทั้งผองต้องจารึกไว้ในความทรงจำ ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตของชนชาวไทยได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในช่วงรัชสมัยที่มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส หากทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปในอดีต พระราชพิธีมหามงคลนี้ล้วนแต่น่าสนใจทั้งยังเปี่ยมไปด้วยความงดงามสะท้อนถึงความรักขององค์พระมหากษัตริย์และองค์ราชินี ที่มีต่อกันอย่างแนบแน่นและน่าประทับใจยิ่ง
อ่านข่าว : ราชกิจจาแพร่ประกาศ เรื่อง โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินี
โดยเมื่อย้อนกลับไปคราสยามสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ องค์ราชินีในราชวงศ์จักรี มีพระนามดังต่อไปนี้
1.รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
2.รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
3.รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ไม่มีการสถาปนาพระราชินี โดยเหตุที่ว่าพระองค์มีพระราชประสงค์คืนราชสมบัติแก่องค์รัชกาลที่ 4 ซึ่งยังทรงพระเยาว์
4.รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีการสถาปนาพระราชินี แต่มีพระภรรยาเจ้าชั้นสูงสุดในตำแหน่ง พระอัครมเหสี คือ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี และ สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระราชเทวี (พระชนนีของรัชกาลที่ 5)
5.รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
6.รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ทรงดำรงอิสริยยศสมเด็จพระราชินีอยู่ 2 ปี 8 เดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศเปลี่ยนอิสริยยศ ลดลงเป็น พระวรราชชายา และไม่ได้สถาปนาพระราชินีพระองค์ใหม่
7.รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
8.รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไม่มีการสถาปนาพระราชินี และไม่มีพระมเหสี
9.รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
อันจะเห็นได้ว่า พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสหาได้มีขึ้นในทุกรัชสมัย จึงเป็นบุญวาสนาของชนชาวไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 10 หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงสถาปนา พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินี
ในโอกาสนี้จึงควรยิ่งที่จะนำพระราชประวัติของ สมเด็จพระราชินีสุทิดา ผู้เปี่ยมด้วยความสามารถทางการทหาร และถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยพระปรีชาสามารถ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนชาวไทย
สมเด็จพระราชินีสุทิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เมื่อปี 2543 ก่อนที่จะทรงเข้าทำงานเป็นพนักงานต้อนรับของการบินไทย ต่อมาทรงเป็นนายทหารบกหญิง และทรงดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) และยังได้รับพระกรุณาให้เป็นราชองครักษ์เวรในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์
โดยในรอบ 7 ที่ผ่านมา นับแต่ปี 2555 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เเละประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับพระราชินีสุทิดา อันสะท้อนถึง ความซื่อสัตย์ จงรักภักดี และเสียสละต่อพระบรมวงศานุวงศ์มาโดยตลอด
ไม่เพียงแต่เท่านี้ เพราะสมเด็จพระราชินีสุทิดา ยังมีความสามารถทางการทหารอันโดดเด่น จากกรณีบนเฟสบุ๊ก Wassana Nanuam ผู้สื่อข่าวสายทหารได้โพสต์ข้อความระบุว่า
พระปรีชาสามารถ ด้านการทหาร ของ “สมเด็จพระราชินีสุทิดา”
10 เรื่องด้านการทหาร ของ “พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา” สมเด็จพระราชินี ใน รัชกาลที่10 ที่แสดงถึงพระปรีชา ของพระองค์.... สมเด็จพระราชินี ผู้ทรงเป็นนายทหารหญิง ราชองครักษ์ที่แข็งแกร่ง..
1.ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ)
2.ทรงเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรฯ
3.ทรงมีพระนามย่อ ที่ ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เรียกขาน ว่า S.V. : Suthida Vajiralongkorn na Ayudhya
4. ทรงเป็นนายทหารหญิง อย่างเต็มภาคภูมิ และ ทรงพระปรีชา ด้านการทหาร โดยทรงผ่านหลักสูตรการฝึกต่างๆ ทั้งหลักสูตร รักษาพระองค์ ,ยิงปืน ของรบพิเศษ ยิงปืนฉับพลัน เป้าเคลื่อนไหว และ การยิงในCQB
5.ทรงผ่านหลักสูตร ส่งทางอากาศของหน่วยรบพิเศษ โดยทรงทำการกระโดดร่ม 5 ครั้ง จากเครื่องบิน ตามหลักสูตร ของ รร.สงครามพิเศษ
6.ทรงผ่านหลักสูตร ส่งทางอากาศนาวิกโยธิน ด้วยการกระโดดร่มลงทะเล ที่สัตหีบ ในเวลากลางคืน เป็นพระองค์แรก ของ นย. เพราะ เป็นครั้งแรกของ นาวิกโยธิน เพราะที่ผ่านมา โดดแต่ตอนกลางวัน
7.ทรงมีความแข็งแรง และแข็งแกร่ง ทั้งร่างกาย และจ้ตใจ. ทรงตั้งพระทัย ในการฝึก จนได้รับคำชมเชย จากครูฝึกในทุกหลักสูตร ที่ทรงมีความมุ่งมั่น และใส่ใจ ในการฝึก จนสำเร็จ
8.ทรงเข้ารับการศึกษา วิทยาลัยการทัพบก (วทบ.)รุ่น 59อันเป็นหลักสูตร การศึกษา สำหรับ นายทหารระดับที่จะเป็น ผบ.หน่วย
9.ทรง เป็น ผู้บังคับการกรมราชวัลลภเริงระบำ ที่มีกำลัง 3 กองพัน และ1 บก.กรม และทรงนำทำการแสดงทางทหารประกอบดนตรี”ราชวัลลภ เริงระบำ” Hop to the Bodies Slams เมื่อ 11 พย. 2559 ในงานวันราชวัลลภ ที่มีความยาวนาน 48 นาที ต่อเนื่อง อย่างสง่างาม และเข้มแข็ง โดยทรงใส่ใจในการมาซ้อม ด้วยพระองค์เอง อย่างสม่ำเสมอ ทรงมีความอดทนสูงเยี่ยงทหาร
10. ทรงเป็นพระราชินี ที่เป็น ราชองครักษ์ ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และปฏิบัติหน้าที่ ราชองครักษ์ ในทุกพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีระเบียบวินัย มีความเป็นทหาร ทั้ง ลักษณะทางทหาร พระวรกาย และ พระหฤทัย
เหล่าจึงเป็นที่ประจักษ์ว่า ทั้งพระปรีชาสามารถ และความจงรักภักดี ตลอดจนความเสียสละประโยชน์ส่วนตนของสมเด็จพระราชินีสุทิดา เพื่ออุทิศแด่ราชวงศ์จักรี ล้วนเป็นสิ่งที่คู่ควรแก่ฐานันดรอย่างแท้จริง ...