- 03 พ.ค. 2562
9 ปี ของการพิจารณาคดีก่อการร้าย นปช. ชุมนุมกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2553 การชุมนุมครั้งนั้นถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของไทย เพราะมีการเข่นฆ่าสูญเสียทั้งเลือดเนื้อ และทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก 26 เม.ย. 62 ศาลนัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายคดี นปช. ก่อการร้าย ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเหล่า อดีตแกนนำและแนวร่วม นปช.รวม 24 คน เป็นจำเลยที่ 1- 24 เอ่ยชื่อไปรู้จักแทบทุกคนค่ะตั้งแต่ปี 2553 จนระยะเวลาล่วงมาถึงปี 2562 รวมระยะเวลา 9 ปี และอีกไม่กี่เดือนเราก็จะได้ทราบผลการพิพากษาของคดีนี้แล้ว
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก คึกคักเป็นพิเศษเพราะได้ต้อนรับนักการเมืองหลายท่านแต่ไม่ได้ไปแถลงข่าวใดๆ นะคะ ไปในฐานะจำเลย โดยคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วย คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. ได้เดินทางไปศาลหลังศาลนัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย คดี นปช. ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำและแนวร่วม นปช. กับพวกรวม 24 คน กรณีพวกจำเลยปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 2553 เพื่อกดดัน ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภา คุณธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานที่ปรึกษานปช. ภรรยานายแพทย์ เหวง โตจิราการ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 24 นปช.ที่โดนคดีดังกล่าว ก็ได้เดินทางไปด้วย ไปให้กำลังใจหมอเหวงและแกนนำนปช. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ค่ะว่า “มาสังเกตการณ์และประเมินสถานการณ์ เตรียมใจที่จะต้องเจอรับงานหนัก ต้องติดคุกกี่ปี ต้องมาเยี่ยมนานไหม” เค้าหมายถึงสามีเค้าหนะค่ะ นอกจากนี้ยังมีคุณจตุพร ที่ให้สัมภาษณ์โดยบอกว่า... "สำหรับวันนี้มีจำเลย 2 คน คือตัวเองกับนายณัฐวุฒิ จะเป็นสองปากสุดท้าย หลังจากนั้นศาลจะนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมาทุกคนมีเจตนาที่จะต่อสู้และยึดแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเท่านั้น ไม่ยึดระบบอื่น ในขณะนั้นก็ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ดังนั้นเรื่องราวอื่นๆ ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรกันหมดทุกคน และมีการซักถามตอบกลับเป็นจำนวนหลายครั้ง ตนมั่นใจในคดีนี้ เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว กระบวนการยุติธรรมจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 นี้"
โดยศาลมีกำหนดวันฟังคำพิพากษาคดีคือในวันที่ 14 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ซึ่งให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีส่งศาลภายใน 45 วัน และสำหรับคดีนี้อัยการได้ยื่นฟ้องกลุ่มแกนนำ นปช.มาตั้งแต่ ปี 2553 ซึ่งใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐานและสืบพยานบุคคลมานานร่วม 9 ปี จึงได้นัดฟังคำพิพากษา จำเลยทั้ง 24 คนมีความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 135/1, 135/2 , ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา ให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวม 6 ข้อหา ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยรายชื่อแกนนำนปช.และแนวร่วมทั้ง 24 คนประกอบไปด้วย 1.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 2.นายจตุพร พรหมพันธ์ 3.นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ 4.นายแพทย์เหวง โตจิราการ 5.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ 6.นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง 7.นายอดิศร เพียงเกษ 8.นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ 9.นายก่อแก้ว พิกุลทอง 10.นายขวัญชัย ไพรพนา 11.นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก 12.นายนิสิต สินธุไพร 13.นายการุณ โหสกุล 14.นายพายัพ ปั้นเกตุ
15.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย 16.นายภูมิกิตติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง 17.นายสุขเสก พลตื้อ 18.นายจรัญ ลอยพูล 19.นายอำนาจ อินทโชติ
20.นายชยุต ใหลเจริญ 21.นายสมบัติ มากทอง หรือผู้กองแดง 22.นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ 23.นาย รชต หรือกบ วงค์ยอด 24.นายยงยุทธ ท้วมมี ซึ่งในวันที่เดินทางไปศาลสองคนที่ให้สัมภาษณ์คือคุณธิดา และคุณจตุพร ไปฟังเสียงกันค่ะ
ในการชุมนุมเมื่อปี 53 เป็นการชุมนุมกันอย่างต่อเนื่องยาวนานข้ามเดือน แต่ในช่วงการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 7-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ตอนนั้นรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ได้ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม และรถหุ้มเกราะ เข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณแยกราชประสงค์ เย็นวันที่ 13 พฤษภาคม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ผู้สนับสนุนการรักษาความปลอดภัยแก่กลุ่มผู้ชุมนุม ถูกยิงที่ศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวต่างประเทศ รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มอีก 17 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งอีกหนึ่งสิ่งที่เจ็บปวดคือหลังจากแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมมอบตัวกับตำรวจและประกาศสลายการชุมนุม ในวันเดียวกัน ได้เกิดเหตุการเผาอาคารหลายแห่งทั่วประเทศ รัฐบาลจึงประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน ซึ่งถ้าจะลำดับเหตุการณ์คร่าวๆ คุณผู้ชมคะ 7 พฤษภาคม เกิดเหตุการณ์ยิงและระเบิดเกิดขึ้นบริเวณสี่แยกถนนพระรามที่ 4 แยกศาลาแดง ส่งผลให้ ส.ต.อ.กาณนุพัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ เสียชีวิตจากอาวุธปืน ผบ.หมู่ จร.สน.ทุ่งมหาเมฆ กรุงเทพมหานคร เสียชีวิตจากเหตุการณ์คนร้ายยิงเอ็ม 16 เข้าใส่ที่หน้า ธ.กรุงไทยถนนสีลม ช่วงกลางดึก 14 พฤษภาคม ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศว่าอภิสิทธิ์ได้เริ่มสงครามกลางเมือง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดความแตกแยกในกองกำลังความมั่นคง สถานทูตอเมริกันและอังกฤษปิดด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ราว 13.30 น. มีการปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสนามมวยเวทีลุมพินี ทั้งสองฝ่ายมีการยิงปืน ประทัดยักษ์และพลุตะไลตอบโต้กัน
19 พฤษภาคมเวลา 13.20 น. แกนนำ นปช. ลงมติตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุม พร้อมทั้งยอมเข้ามอบตัว กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในเวลาดังกล่าว แกนนำ นปช. คนสำคัญคือ จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ต่างขึ้นบนเวทีแยกราชประสงค์ จากนั้นจตุพร เริ่มกล่าวเป็นคนแรกว่า "โดยช่วงท้ายได้บอกว่าขอให้พี่น้องเดินออกไปทางสนามศุภชลาศัย การ์ดจะดูแลให้พี่น้องเดินทางกลับด้วยความสงบ และปลอดภัย" ในที่สุด แกนนำ นปช.ส่วนหนึ่งยอมมอบตัวต่อตำรวจ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ส่งเสียงโห่ร้อง เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของแกนนำ นปช.ที่ขอให้ยุติการชุมนุม และไม่ยอมมอบตัวต่อทางการ จึงทำให้การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับกองทัพ ยังคงดำเนินต่อไป ในหลายส่วนของกรุงเทพมหานคร หลังแกนนำ นปช. บนเวทียุติการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าทำลายทรัพย์สิน และลอบวางเพลิงอาคารหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ส่วนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ กลับถูกกลุ่มผู้ชุมนุมยิงด้วยอาวุธปืนเพื่อสกัดไม่ให้เข้าดับเพลิงได้ มีกลุ่มผู้ชุมนุมทุบกระจกที่ชั้น 1 ของอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งศูนย์การค้าเซน แล้วลอบเข้าไปวางเพลิงภายใน จนทำให้มีกลุ่มควัน และเปลวไฟพวยพุ่งออกมา นอกจากนี้ ในภายหลังยังมีรูปกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนลับลอบขโมยขนสินค้าราคาสูงออกมาจากตัวห้างด้วย มีการลอบวางเพลิงโรงภาพยนตร์สยามอีกแห่งหนึ่งเช่นกัน และยังมีการวางเพลิงสถานที่อีกหลายแห่ง เช่นสาขาธนาคารออมสิน บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และถนนวิภาวดีรังสิต, ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น สาขาใกล้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ย่านดินแดง
ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีประชาชนเจ้าหน้าที่เสียชีวิตอย่างน้อย 57 ศพ ช่วงเวลาการชุมนุมแกนนำนปช.ได้ผลัดกันขึ้นเวทีปลุกระดมชักชวนให้คนเข้าร่วมการชุมนุม สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อมีการปะทะกัน แกนนำทุกคนปลอดภัยดี แต่ประชาชนที่ถูกปลุกระดมกลายเป็นแนวหน้ารับลูกกระสุน เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในครั้งนั้นนำมาซึ่งการพิจารณาคดีก่อการร้ายกินเวลายาวนาน 9 ในการสืบพยานรวบรวมหลักฐาน แต่อีกไม่นานเกินรอค่ะ 14 ส.ค.นี้ เป็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาแล้วจะรอดหรือคุกอย่าเดาเลยค่ะปล่อยให้กรรมมันทำงานไปตามเวลาที่เหมาะสม
คุณผู้ชมสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมและย้อนหลังได้ที่เพจ เจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก และทางยูทูปช่องทีนิวส์ ออนไลน์นะคะและอย่าลืมกด Subscribe และกดกระดิ่งเพื่อรับข้อมูลข่าวสารก่อนใคร