- 08 พ.ค. 2562
เผยที่มาการสถาปนา พระราชอิสริยยศใหม่พระราชวงศ์ เมื่อเปลี่ยนรัชกาล พระยศพิเศษ " กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ" เฉลิมพระนามใหม่ใน "รัชกาลที่ 10"
จากกรณีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกหนึ่งพระราชพิธีสำคัญที่พสกนิกรเฝ้าชื่นชม คือพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562
โดย สำนักข่าวทีนิวส์ เผยที่มาการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ พระยศพิเศษของ "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" (พระนามเดิม) ซึ่งทรงได้รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 9 นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
โดยมีการคาดเดากันว่า จะได้รับการปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร? แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ และเฉลิมพระนามาภิไธย ดังนี้
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ และเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี"
( สม-เด็ด-พระ-กะ-นิด-ถา-ทิ-ราด-เจ้า-กรม-สม-เด็ด-พระ-เทบ-พะ-รัด-ราด-สุ-ดา-เจ้า-ฟ้า-มะ-หา-จัก-กรี-สิ-ริน-ทอน-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-วอ-ระ-ราด-ชะ-พัก-ดี-สิ-หริ-กิด-จะ-กา-ริ-นี-พี-ระ-ยะ-พัด-รัด-ถะ-สี-มา-คุ-นา-กอน-ปิ-ยะ-ชาด-สะ-หยาม-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-กุ-มา-รี) และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มิได้รับพระราชทานสายสะพาย และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 เพียงอย่างเดียว เนื่องจากฐานันดรของพระองค์ท่าน สูงที่สุดของฝ่ายใน เทียบเท่าพระบรมราชชนนีแล้ว
ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพฯ ทรงได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อแรกประสูติว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์" ซึ่งแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ ครั้นในปี 2520 ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระชนมายุ 22 พรรษา รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์
ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และทรงบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองมากมาย รวมถึงทรงเพียบพร้อมด้วยพระจรรยามารยาทและคุณสมบัติแห่งขัตติยราชกุมารีทุกประการ อีกทั้งยังเป็นที่รักใคร่ นับถือ และสรรเสริญพระเกียรติคุณโดยถ้วนทั่ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) ซึ่งพระราชอิสริยยศนี้สูงส่งที่สุดของเจ้านายฝ่ายใน
พร้อมทั้งเฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2520 ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ของรัชกาลที่ 9
อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊ก 'คลังประวัติศาสตร์ไทย' ได้อธิบายความเป็นมาและหลักเกณฑ์การสถาปนาพระราชอิสริยยศใหม่ของพระราชวงศ์ เมื่อเปลี่ยนรัชกาล ดังนี้ "ยศใหม่ของพระราชวงศ์" เมื่อเปลี่ยนรัชกาล
เมื่อมีการผลัดแผ่นดินเกิดขึ้น หากพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้เรียบร้อยแล้ว องค์รัชทายาทพระองค์นั้นก็จะเสด็จขึ้นเป็นพ่ออยู่หัวพระองค์ใหม่ทันทีตามธรรมเนียมที่ว่า “แผ่นดินจะว่างเว้นพ่ออยู่หัวไม่ได้” เพราะราชการงานศึกที่เกี่ยวพันธ์มาจากรัชกาลก่อนนั้นยังจะต้องดำเนินต่อไป และอีกเหตุผลก็คือ “เพื่อเป็นเสาหลักให้แก่พระราชวงศ์ และพสกนิกรในประเทศ”…
ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ขึ้นครองราชสมบัติการนับเชื้อพระวงศ์ทางสายพระโลหิตก็จะย้ายจากสายของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมาที่สายของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทันที นั่นก็คืออ “การสถาปนาพระราชอิสริยยศใหม่ภายในพระราชวงศ์” โดยมีหลัก เกณฑ์ดังนี้
1. พระราชบุพการีในพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ คือ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ พอเข้ามาในรัชกาลใหม่นั้นพระองค์มีฐานะเป็นพระชนนี หรือแม่ของพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นพระองค์จะได้รับการถวายพระราชอิสริยยศขึ้นเป็น “สมเด็จพระศรี(รอชื่ออย่างเป็นทางการ)บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง” ออกพระนามโดยย่อว่า “สมเด็จพระพันปี”
อนึ่งผู้ที่จะขึ้นไปถึงยศพระพันปีหลวงนี้จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ว่า เป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน แลเป็นแม่ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ดั่งในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ที่เคยมีมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 เมื่อผลัดแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ถวายพระราชอิสริยยศใหม่ให้แม่ขึ้นเป็น "สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง"
2. พระราชโอรส และพระราชธิดา คือ เนื่องจากพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่นี้ล้วนแต่ประสูตินอกเศวตฉัตรทั้งสิ้น (ประสูตินอกเศวตฉัตรหมายถึง ประสูติก่อนขึ้นครองราชย์) ดังนั้นในรัชกาลก่อน พระราชโอรส และพระราชธิดาเหล่านี้จะมียศเป็น พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้ากันทั้งสิ้น เมื่อเปลี่ยนรัชกาลก็จะได้รับการอวยยศขึ้นเป็นพระเจ้าลูกเธอโดยทันที ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
2.1สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าชาย-หญิง (เจ้าฟ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า ทูลกระหม่อมชาย –หญิง) พระราชโอรส และพระราชธิดาชั้นนี้จะต้องประสูติจากพระอัครมเหสีเท่านั้น นั่นก็คือประสูติจาก พระบรมราชินีนาถ ,พระบรมราชินี, พระบรมราชเทวี, พระอรรคราชเทวี เป็นต้น
2.2สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าชาย-หญิง...(เจ้าฟ้าชั้นโท ออกพระนามว่า สมเด็จชาย -หญิง) พระราชโอรส และพระราชธิดาชั้นนี้จะต้องประสูติจากพระภรรยาเจ้า นั่นก็หมายความว่า “มีแม่เป็นเจ้าหญิงในพระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้น พระวรวงศ์ เธอพระองค์เจ้า หรือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขึ้นไปแต่ไม่ถึงราชินี” เช่น พระวรราชเทวี ,พระวรราชชายา ,พระวรชายา เป็นต้น
2.3พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าชาย-หญิง (พระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า เสด็จพระองค์ชาย-หญิง) พระราชโอรส และพระราชธิดาในชั้นนี้จะประสูติจากเหล่าพระสนม เจ้าจอมมารดา หญิงสามัญชน หรือเป็นหม่อมมาแต่เดิม
3.พระเชษฐภคินี และพระขนิษฐา เจ้านายชั้นนี้ในฐานะที่เป็นพี่สาว และน้องสาวของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ก็จะได้รับการปรับเปลี่ยนเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าหญิง และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าหญิง ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และน้องนางเธอ จะได้รับพระราชทานกรมในภายหลัง "เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน" เช่น น้องนางเธอในรัชกาลที่ 5
คือ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑลฯ กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ หรือพี่นางเธอในรัชกาลที่ 6 คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัยฯ กรมพระเทพนารีรัตน์ หรือพี่นางเธอในรัชกาลที่ 9 ก็ได้รับพระราชทานที่กรมหลวงเช่นเดียวกัน
4.หลานเธอที่มิใช่สายตรง...ในรัชกาลใหม่นี้มีหลานเธอที่มิใช่สายตรงติดมาแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯถึง 2 พระองค์ นั่นก็คือ พระเจ้าหลานเธอที่ประสูติจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ซึ่งคำว่า “พระเจ้าหลานเธอ” เป็นคำขยายของคำว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ เพื่อให้รู้ว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์นี้เป็นหลานเธอในพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ แล้วเมื่อเปลี่ยนมารัชกาลใหม่ หลานเธอเหล่านี้ก็จะกลายเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตยาทรกิติคุณ” ตามฐานันดรศักดิ์แรกประสูติของทั้งสองพระองค์ ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นคือ พระหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา หลานเธอในรัชกาลที่ 5 เมื่อเปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ 6 ก็กลายเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (คำว่าพระหลานเธอ ไปขยายคำว่า พระวรวงศ์เธอนั่นเอง)
ไม่ว่าจะอย่างไร ยศพิเศษ1 ตามธรรมเนียมแล้วจะไม่มีการลดพระราชอิสริยยศของเจ้านายในพระราชวงศ์ ถึงแม้จะเปลี่ยนรัชกาลแล้วก็ตาม คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระราชอิสริยยศนี้สูงส่งที่สุดของเจ้านายฝ่ายในแล้ว นั่นก็คือ ได้รับสัปตปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 7 ชั้น เสมอเท่าสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระบรมราชินีเลยทีเดียว แต่มีความพิเศษสูงไปอีกอย่างคือ ใช้คำ “พระราชบัญชา” ในการออกคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์อันลุ่มลึกและน่าหลงใหลที่ประชาชนคนไทยควรศึกษา ทั้งยังเปี่ยมคุณค่าทั้งในเชิงจารีตวัฒนธรรมของสถาบันหลักของชาติที่ยึดโยงดวงใจของราษฎรมายาวนาน และจักดำรงอยู่คงคู่ประเทศไทยสสืบตลอดไป ..
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สมเด็จฯเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงโพสต์ภาพเซลฟี่ร่วมเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนฯและพระอนุชา
-สมเด็จพระเทพฯนำพระบรมวงศานุวงศ์ถวายสัตย์ จงรักภักดี
-สมเด็จพระเทพฯตรัสอากาศเปลี่ยน รับสั่งไม่มักง่ายทิ้งขยะ เคยต้องเดินเก็บเอง
-สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯทรงเป็นสักขีพยาน ราชาภิเษกสมรส
-สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงกราบพระบาทสมเด็จพระเทพฯ ฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ