- 16 พ.ค. 2562
ทราบผลอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 นั้นก็คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ที่สามารถคว้าชัยชนะมาจากทั้งหมด 4 แคนดิเดท ประกอบด้วย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาควัย และนายกรณ์ จาติกวณิช
ทราบผลอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 นั้นก็คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ที่สามารถคว้าชัยชนะมาจากทั้งหมด 4 แคนดิเดท ประกอบด้วย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาควัย และนายกรณ์ จาติกวณิช ซึ่งต้องถือว่ามีบทบาทโดดเด่น และเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือดูป๊อปปูล่ามากที่สุดจากทั้ง4แคนดิเดท
โดยภายหลังจากการทราบผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเป็นที่เรียบร้อย ทางด้านของนายกรณ์ได้โพสต์ผ่านเพจบุ๊คส่วนตัว “Korn Chatikavanij” ขอบคุณเสียงสนับสนุน โดยระบุว่า.. “ ขอบคุณสำหรับทุกเสียงสนับสนุนครับ ทุกกำลังใจ และแรงเชียร์มีค่ามากสำหรับพวกเรา สู้ต่อไปด้วยกันครับ #ไปด้วยกรณ์ไปด้วยกัน”
ย้อนกลับไปพิจารณาผลการนับคะแนนเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ จากโหวตเตอร์ 309 คน ในสัดส่วนของ ส.ส. จำนวน 52 คน ซึ่งคิดเป็นคะแนน 70% ปรากฎว่า นายจุรินทร์ ได้คะแนนนำเป็นอันดับ 1 คือ 25 คะแนน หรือ 33.6538 % ตามด้วย นายพีระพันธุ์ 20 คะแนน หรือ 26.9231 % นายกรณ์ 5 คะแนน หรือ 6.7308 % และนายอภิรักษ์ 2 คะแนน หรือ 2.6923 %
ส่วนกลุ่มที่สอง 257 คน ซึ่งคิดเป็นคะแนน 30% ประกอบด้วย รักษาการกรรมการบริหารพรรค 22 คน, อดีตหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค 2 คน, อดีต ส.ส. 125 คน, อดีตรัฐมนตรี 2 คน, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 1 คน, สมาชิก อบจ. 4 คน, สมาชิกเทศบาล 1 คน, หัวหน้าสาขาพรรค 8 คน, ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 63 คน, ตัวแทนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) 2 คน, ตัวแทนสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) 2 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ชุดล่าสุด 25 คนนั้น ผลคือ นายจุรินทร์ ได้คะแนนนำเป็นอันดับ 1 คือ 135 คะแนน หรือ 16.9456 % ตามด้วย นายพีระพันธุ์ 82 คะแนน หรือ 10.2929 % นายกรณ์ 14 คะแนน หรือ 1.7573 % และนายอภิรักษ์ 8 คะแนน หรือ 1.0042 %
โดยเมื่อนำคะแนนเสียงทั้ง 2ส่วนมารวมกัน ผลปรากฏว่า อันดับ1 นายจุรินทร์ ได้คะแนน 50.5995 % ตามมาอันดับ2 คือ นายพีระพันธุ์ ได้คะแนน 37.2160 อันดับ 3 นายกรณ์ ได้คะแนน 8.4881 % และ อันดับ4 นายอภิรักษ์ ได้คะแนน 3.6965 % ส่งผลให้ นายจุรินทร์ สามารถคว้า ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 ต่อจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นผลสำเร็จ
อย่างไรก็ตามศึกชิงหัวหน้าพรรคในครั้งนี้ มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า นายกรณ์จะได้รับการสนับสนุนจากนายอภิสิทธิ์ และจะนำพาสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งนั้นหมายถึงบันไดขั้นแรกสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศเลยทีเดียว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่านายกรณ์ มีความที่ใกล้ชิดเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของนายอภิสิทธิ์ ที่ได้ชักชวนเข้าสู่เส้นทางการเมือง
ในเว็บไซต์วิกิพีเดียได้เปิดเผยถึง วิถีชีวิตของนายกรณ์ และ นายอภิสิทธิ์ มีความคล้ายคลึงกันไม่น้อย ตั้งแต่ที่ทั้งคู่ถือกำเนิดในตระกูลเก่าแก่ มีบรรพบุรุษทางบิดาเป็นชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศสยาม ทั้งนามสกุล "จาติกวณิช" และ "เวชชาชีวะ" ต่างก็เป็นนามสกุลพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 6
บิดาของนายกรณ์และนายอภิสิทธิ์ ต่างสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในระดับประเทศ ทั้งนายกรณ์และนายอภิสิทธิ์เกิดในต่างประเทศ โดยกรณ์เกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2507 ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เกิดที่ เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ในปีเดียวกัน แม้เกิดที่อังกฤษแต่ทั้งคู่ถือสัญชาติไทย ต่อมาทั้งคู่ได้กลับมาเมืองไทยตั้งแต่ยังเล็กเรียนหนังสือระดับประถมศึกษาที่ประเทศไทยเหมือนกัน นายกรณ์กลับไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ เมื่ออายุ 11 ปี ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ก็กลับไปเรียนต่ออังกฤษในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยนายอภิสิทธิได้เข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนอีตัน ส่วนนายกรณ์เรียนที่โรงเรียนวินเชสเตอร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนคู่แข่งกัน ระหว่างการเรียนกรณ์ได้ทราบกิตติศัพท์ว่า อภิสิทธิ์ซึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนอีตัน เรียนหนังสือเก่งมาก
ต่อมาเมื่อเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ทุนการศึกษาเพื่อดึงนักศึกษาที่เรียนเก่งเข้ามาสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยทำให้อภิสิทธิ์และกรณ์ได้มาเรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมีโอกาสได้รู้จักสนิทสนมกัน ต่อมาอภิสิทธิ์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ส่วนกรณ์ก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเดียวกัน ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2
หลังจากสำเร็จการศึกษา กรณ์และอภิสิทธิ์ได้แยกย้ายกันไปทำงานแตกต่างกัน โดยอภิสิทธิ์ทำงานเป็นอาจารย์ ส่วนกรณ์ทำงานในสายการเงิน แต่ทั้งคู่ยังมีความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอีก เมื่อกรณ์แต่งงานกับ วรกร จาติกวณิช เนื่องจากภรรยาของกรณ์คนนี้เป็นญาติกับอภิสิทธิ์เพราะว่านามสกุลเดิมของเธอคือ สูตะบุตร เช่นเดียวกับมารดาของอภิสิทธิ์ นอกจากนี้ วรกร จาติกวณิชซึ่งเป็นภรรยาของกรณ์ยังสนิทกับ งามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ที่เป็นพี่สาวของอภิสิทธิ์อีกด้วย นอกจากนี้ คุณลุงของกรณ์ คือ ศ.นพ.กษาน จาติกวณิช กับบิดาของอภิสิทธิ์ คือ ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างก็เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลมาแล้วเช่นกัน
ในที่สุดทั้งนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ได้เข้าสู่วงการเมือง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกัน และได้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารพรรคด้วยกันในเวลาต่อมา และหลังจากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย โดยมีกรณ์ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
และที่ผ่านมาแม้จะมีกระแสเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์ให้เป็นนายกรณ์ แต่นายกรณ์ ก็ยังยืนหยัดที่จะสนับสนุนนายอภิสิทธิ์อย่างสุดลิ้มทิ่มประตูด้วยถือบุญคุณครั้งที่นายอภิสิทธิ์ ชักชวนเข้าวงการ
ย้อนกลับไปวันที่ 10 ก.ย. 61 ซึ่งอยู่ในช่วงเลือกหัวหน้าพรรค เพราะกรรมการมบริหารพรรคขณะนั้นกำลังจะหมดวาระ โดยนายกรณ์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า.. ยืนยันยังสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อหลังมีกระแสข่าวพรรคจะเปิดโอกาส ให้ บุคคลภายนอกเป็นหัวหน้าพรรค รวมถึงกระแสข่าวคนรุ่นใหม่ต้องการ ให้นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธาน สปท.เป็นหัวหน้าพรรค พร้อมยืนยันส่วนตัวไม่ลงแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
ด้วยความสนิทสนมนี้เองจึงเป็นเหตุให้หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่านายอภิสิทธ์ จะสนับสนุนนายกรณ์เช่นกัน แต่เมื่อผลการลงคะแนนปรากฏกลับไม่ใช่ที่หลายคนคาดไว้ เพราะเมื่อพิจารณาจากคะแนน ในสัดส่วนของ ส.ส. จำนวน 52 คน จะเห็นว่า นายกรณ์ได้รับเสียง มาเพียง 5 เสียง นั้นน่าจะเป็นเสียงในกลุ่มของนายกรณ์เพียงกลุ่มเดียว ผลคะแนนแม้จะไม่เปิดเผยโดยโจ่งแจ้ง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าแน่นอนว่าจะเป็นเสียงจากตัวนายกรณ์ 1เสียง เสียงที่2 คือ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก ที่ถูกว่างให้เป็นเลขาธิการพรรค หากนายกรณ์ได้รับชัยชนะ เสียงที่3 คือนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช 1 ในกลุ่ม "New Dem" ที่ออกมาประกาศสนับสนุน ก่อนหน้านี้ เสียงที่4 นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ "นายกชาย" ส.ส. สงขลา และ.นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส. ตรัง บุตรของนายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ และไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มอื่น โดยเฉพาะ กลุ่มส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในมือของนายอภิสิทธิ์ กว่า10 เสียง (ที่นายอภิสิทธ์เป็นผู้คัดเลือกเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค) แต่เลือกเทคะแนนไปที่นายจุรินทร์แทน เพื่อสกัดไม่ให้นายพีระพันธุ์นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค
อนุมานว่า นายกรณ์ ได้ 15 เสียง นายจุรินทร์ได้ 15 เสียง เมื่อคิดกลับเป็น เปอร์เซ็น จะได้ คนละ 28.8462 % ขณะที่คะแนนของนายพีระพันธุ์ ที่ได้ 20เสียง เมื่อคิดกลับเป็น เปอร์เซ็น จะได้เพิ่มขึ้นเป็นละ 38.4615 % และนายอภิรักษ์ ที่ได้ 2 เสียงจะได้ 3.8461% ดังนั้นเมื่อไปร่วมกับ กลุ่มที่สอง 257 คน นั้นจะทำให้ คะแนนของนายพีระพันธุ์ ขึ้นมาเป็นอำดับ1 ที่ 48.7544 % และนายจุรินทร์ จะได้เป็นอันดับ 2 ที่ 45.7917 % ตามด้วย นายกรณ์ ที่ 30.6034 % และนายอภิรักษ์ ได้ ที่ 4.8503%
และนี่คือบทเรียนครั้งสำคัญของเส้นทางชีวิตนักการเมืองของนายกรณ์ จาติกวณิช แต่จะใช่ความเจ็บช้ำน้ำใจเรื่องเดียวหรือไม่ เพราะยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปว่า หากท้ายที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมรัฐบาลแล้วนั้น นายกรณ์จะได้รับตำแหน่งใดๆในรัฐบาลหรือไม่.. หรือแบ่งปันเฉพาะฝ่ายที่สนับสนุนนายจุรินทร์ เฉกเช่นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์