- 16 พ.ค. 2562
เปิดตัวหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ “จุรินทร์” ถอดรหัสท่าที กรรมการบริหารชุดใหม่ กับการตัดสินใจครั้งสำคัญ จะไปต่อหรือถอยกลับ ??
เรียกได้ว่าเป็นเด็นร้อนแรงทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ และทำให้ปรากฏความชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังอาจนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตถึงจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์หลังจากนี้ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
สืบเนื่องจากกรณีวานนี้ 15 พ.ค. 2562 ที่โรงแรมมิราเคิล พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค โดยมีผู้เสนอตัวทั้งสิ้น 4 คน ประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรค , นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ , นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยแต่ละคนจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ คนละ 15 นาที
จากนั้นต่อมาได้มีการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งผลการนับคะแนนปรากฏว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ คว้าชัยชนะได้เป็นหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่
อย่างไรก็ตาม ก่อนได้รับความไว้วางจากจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ กล่าวว่า "ตนร่วมอุดมการณ์กับพรรคมาอย่างน้อย 33 ปี ถ้านับจากวันที่เป็นส.ส.ปี 2529 ยังไม่รวมการทำงานร่วมกับพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งเคยเป็นเลขานายชวน หลีกภัย ขณะเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง และได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ครั้งแรก ตอนอายุ 36 ปี
จากนั้นได้เป็นรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง รวมถึงการทำหน้าที่ทั้งในฐานะประธานวิปรัฐบาลและประธานวิปฝ่ายค้าน โดยมีโอกาสได้เป็นรองหัวหน้าพรรคตั้งแต่ปี 2546 ที่บอกสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพราะเก่งหรือดี แต่มีวันนี้เพราะมีโอกาส
และนี่คือสิ่งที่ตนตระหนักว่าโอกาสคือสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ซึ่งถ้าได้รับโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ให้ทุกคนที่ตั้งใจทำงานทุ่มเทเสียสละให้พรรคโดยไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ฝ่ายไหน หรือเป็นเด็กของใคร นี่เป็นคำสัญญาที่ขอให้ไว้"
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ได้กล่าวขึ้นในการจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งก็ไม่ได้เป็นคำโอ้อวดสรรพคุณที่เกินจริงเท่าใดนัก ตัวของนายจุรินทร์ นั้นมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นผูกพันธ์กับผู้เปี่ยมบารมีมายาวนานอย่างนายชวน ทั้งยังผ่านร้อนหนาวทางการเมืองมาร่วมกัน จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะตั้งข้อสังเกตุว่า ชัยชนะในครั้งนี้มีแรงหนุนจากนายชวน เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่ง
นายจุรินทร์ จัดเป็นนักอภิปรายฝีปากกล้าที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ สมกับที่ติดตามรับใช้นายหัวชวนอย่างใกล้ชิดนานหลายปี ประหนึ่งศิษย์ก้นกุฏิ ที่ได้รับการถ่ายทอดกลเม็ดเคล็ดวิชาด้านการเมือง จนสื่อมวลชน เคยเลือกให้เป็น ส.ส.ดาวรุ่ง (ส.ส.ใหม่ดีเด่น) ตั้งแต่คราวแรกที่ได้เป็น ส.ส.
พอสังเขปแต่เพียงเท่านี้ หากที่สังคมให้ความสนใจเห็นจะเป็น จุดยืนทางการเมืองของ นายจุรินทร์ นับแต่หนหลังเป็นต้นมาว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในเวลานี้ ที่มีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ยังสงวนท่าทีไม่ผลีผลามหันซบอกพรรคที่กุมเก้าอี้ ส.ส. เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาล อย่างใดไม่ ... แต่เมื่อถอดความเป็นไปได้ในหลายแง่มุมภายในตัวนายจุรินทร์ อาจทำให้คำตอบปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไป จนถึงเวลานี้ข้อเท็จจริงทั้งหมดทั้งมวลแสดงให้เห็นว่า ทัศนะทางการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ยังขาดความเป็นเอกภาพ มีทั้งกลุ่มที่พร้อมจะหนุน บิ๊กตู่ เป็นนายกฯ ด้วยการร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มที่พร้อมจะตั้งตนเป็นฝ่ายค้าน
จากการตั้งข้อสังเกตุทั้งจุดยืนและอุดมการณ์ที่ถือร่วมของ นายจุรินทร์และ นายชวน นั้นย่อมยากที่จะแยกจากกันได้ขาด เพราะผู้มากบารมีอย่างนายชวนนั้น ได้ปลุกปั้น ผู้สืบทอดเจตนารมณ์จนสามารถยืนหยัดโลดแล่นบนสนามการเมืองได้ด้วยตนเอง และนายอภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าพรรคที่เคยประกาศกร้าววว่าจะไม่สนับสนุน บิ๊กตู่ จนทำให้ทางพรรคต้องเผชิญวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ ก็เป็นหนึ่งในผู้อาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาของนายชวน
ซึ่งถ้าหากนายจุรินทร์ถอดชุดความคิดมาจากนายอภิสิทธิ์มาอย่างไม่บิดพริ้ว นั้นย่อยหมายถึงว่า โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะตบเท้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐก็อาจมีน้อย และน่าจะให้น้ำหนักไปทางการจัดตั้งขั้วที่สามหรือตั้งต้นเป็นฝ่ายค้านอิสระหากทั้งนี้ ยังมิอาจด่วนสรุปเพราะส่วนหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับมติพรรรคโดยที่ต้องได้รับความร่วมมือส่วนหนึ่งจากเหล่าคณะกรรมการพรรคเช่นกัน
อย่างไรก็ตามจากโผรายชื่อล่าสุดของคณะกรรมการพรรคนั้น นับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเมื่อนำมาถอดความเป็นไปได้และท่าทีของแต่ละตัวบุคคลเริ่มแต่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ก่อนหน้ามีความชัดเจนในตัวเองตลอดมา ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต. รวมถึงการออกมาโดดป้องนายอภิสิทธิ์ ว่าเดินเกมตามอุดมการณ์ของพรรค
นั่นอาจสะท้อนออกมาผ่านอุดมการณ์การที่เป็นไปในทางเดียวกับอดีตหัวหน้าพรรค จึงแน่นอนในระดับหนึ่งว่าหากนายนิพิฏฐ์ ไม่เอนไหวต่อกระแสต้านอย่างไรเสียย่อมปฏิเสธการร่วมกับพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน
ถัดมากับนายองอาจ คล้ามไพรบูลย์ ที่ไม่ต้องนำมาวิเคราะห์ให้มากความ เพราะได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านรัฐบาล คสช. ทั้งเรื่องอภิปรายตำหนิการทำงาน ตลอดจนหยิบยกประเด็นด้านการทุจริตคอรัปชั่นไว้เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ทำนองว่า "บิ๊กตู่" ไม่สามารถปราบปรามและทำให้ปัญหาเหล่านี้หายไปอย่างจริงจังได้
อีกหนึ่งท่านที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายหลังการรัฐประหาร 2557 ของเขาน่าสนใจยิ่ง เพราะนายอลงกรณ์ ประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเข้ารับตำแหน่งในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และมีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่คสช. แต่งตั้ง
หลังจากนั้นก่อนการเลือกตั้งได้กลับสู่ถิ่นเก่าอีกครั้งด้วยหมายว่าจะสร้างการเมืองสีขาว อย่างไรก็ตาม นายอลงกรณ์ เคยประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าพรรคการเมืองควรคุยได้กับทุกคน คล้ายจะเป็นการแบ่งรับแบ่งสู้แต่ก็ชวนให้คิดได้ว่า นายอลงการณ์ นั้นอาจพร้อมที่จะสนับสนุนให้ทางพรรคเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
ต่อมากับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน จะเห็นความชัดเจนได้ในระดับหนึ่ง ด้วยตนนั้นเคยยืนยันต่อสาธารณะว่าพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเป็นสถาบันการเมืองหลัก และเป็นที่พึ่งของประเทศ ทั้งยังมีบางเสี้ยวบางตอนที่เคยกล่าวไว้ก่อนการเลือกตั้งว่า "ผมไม่มีสามมิตร ผมมีแต่มิตรเดียว มิตรแท้
วันนี้ขอเปิดหน้าชนกันไปเลย ก่อนหน้านี้ผมก็ยังไม่กล้าเปิด เพราะว่าแรงดูดมันแรงเหลือเกิน" โดยที่อาจปล่อยให้ผู้ฟังตีความกันไปว่าเป็นการพาดพิงถึงพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่ที่บ่งบอกได้ถึงความเห็นทางการเมืองเห็นจะเป็นการที่ ดร.เฉลิมชัย แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาในการสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ซึ่งต้องก็ต่อไปว่าสิ่งที่เขายึดถือมั่นแต่แรกนั้น จะถูกสั่นคลอนหรือไม่
ท้ายสุดกับ นางมัลลิกา มหาสุข ที่ดูเสมือนว่าจะเอนเอียงคล้อยตามไปกับอดีตหัวหน้าพรรคอย่างนายอภิสิทธิ์ เพราะจะเห็นได้ว่ามีการวิพากษ์การทำงานของกกต. อย่างเผ็ดร้อนในหลายต่อหลายครั้ง พร้อมตำหนิว่ากองทัพมีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งทัศนะเช่นนี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่า นางมัลลิกานั้น อาจต้องการแสดงออกต่อต้านรัฐบาล คสช. ที่มีภาพลักษณ์เป็นรัฐบาลทหารอยู่ในที จึงเลาๆได้ว่าในอนาคตอันใกล้ย่อมไม่สนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมหอลงโลงกับพรรคพลังประชารัฐเป็นแน่
อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งมวลนั้น เป็นการคาดการณ์ในเบื้องต้นที่ยังมิอาจด่วนสรุป เพราะถึงแม้ว่าตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ นายจุรินทร์ จะมีแนวโน้มว่าจะไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่เร็วๆนี้มีการเปิดเผยว่าทางพรรคจะมีการประชุม เพื่อที่จะนำมติเอกฉันท์มาชี้นำสู่ทางสว่างสุกสกาวราวโรจน์หรือวูบดับ ชวนให้ระทึกอยู่ไม่น้อย
อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นอย่างไร พรรคการเมืองเก่าแก่มากล้นบารมีแต่เกือบหลุดโคจรบนถนนการเมืองไทยเพราะเดินหมากเกมผิดพลาด จะนั่งอยู่แห่งหนใดภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ต้องจับตาดูกันต่อไป!!