- 21 มิ.ย. 2562
เป็น Hot Issue ทางการเมืองในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา สำหรับสถานะเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน หลังจากเกิดกระแสข่าวว่า มีความพยายามจะผลักดันให้คนรุ่นใหม่ในพรรคเพื่อไทย อย่าง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ขึ้นมาเป็นคู่ท้าชิงกับ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ นักการเมืองรุ่นลายคราม เพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นภายในพรรคเพื่อไทย
เป็น Hot Issue ทางการเมืองในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา สำหรับสถานะเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน หลังจากเกิดกระแสข่าวว่า มีความพยายามจะผลักดันให้คนรุ่นใหม่ในพรรคเพื่อไทย อย่าง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ขึ้นมาเป็นคู่ท้าชิงกับ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ นักการเมืองรุ่นลายคราม เพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นภายในพรรคเพื่อไทย
ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ระบุว่า ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่พรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง มีสมาชิกเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
เช่นนี้จึงเป็นที่มาของกระแสข่าวเกี่ยวเนื่อง ว่าด้วยการเตรียมการลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยของ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ซึ่งปัจจุบันไม่มีสถานะเป็นส.ส. เพื่อเปิดทางให้มีการคัดสรรหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็จะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไปด้วยในคราวเดียวกัน
อย่างไรก็ตามกับกรณีนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ เลือกออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า ส่วนตัวอยากให้ความสำคัญ กับการทำหน้าที่ส.ส.มากกว่า เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีระบบการตรวจสอบ และแนวทางปกป้องผลประโยชน์ประชาชน รวมถึงก็อยากทุ่มเทให้พรรคมากที่สุด
สอดรับกับคำให้สัมภาษณ์คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาปฏิเสธว่าอยู่เบื้องหลัง การผลักดันให้ น.อ.อนุดิษฐ์ ขึ้นเป็นคู่ชิงหัวหน้าพรรค หลังจากเกิดกระแสหนาหูทางการเมือง ว่าอาจเป็นอีกครั้งของการเปิดศึกรอบใหม่ ระหว่าง "เจ้าแม่วังบัวบาน” หรือ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะผู้สนับสนุน นายสมพงษ์ กับ “เจ้าแม่วังทองหลาง” หรือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สนับสนุน น.อ.อนุดิษฐ์
ถึงตรงนี้ก็ต้องย้ำว่า (ถ้า) ไม่มีไฟก็ไม่มีควัน กรณีการเสนอชื่อ น.อ.อนุดิษฐ์ เป็นอืกหนึ่งทางเลือก ชิงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คงปฏิเสธไม่ได้ทั้งหมด ว่า ไม่มีแนวคิดตั้งต้นมาก่อน โดยเฉพาะถ้าย้อนกลับไปพิจารณา จากตรรกะสัมพันธ์ทางการเมือง ระหว่าง น.อ.อนุดิษฐ์ และ คุณหญิงสุดารัตน์
เช่นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 น.อ.อนุดิษฐ์ ได้ออกตอบโต้กระแสข่าวลือ ภายในพรรคเพื่อไทย กรณีมีการเตรียมการดึง นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล มานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทั้ง ๆ ที่ห้วงเวลานั้น คุณหญิงสุดารัตน์ ถือเป็นแคนดิเดท ในการทำหน้าที่สำคัญนี้ โดยระบุว่า พรรคเพี่อไทยมีตัวแทนจากประชาชนทุกจังหวัด ดังนั้นความเห็นของสมาชิกพรรคในการคัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ จึงต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ว่าบุคคลใดกันแน่พร้อมทำหน้าที่
และทางด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ก็เพิ่งออกมาเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 โดยยังคงสัญญาณแสดงถึงความเป็นผู้นำขับเคลื่อนพรรค โดยการระบุว่า พรรคเพื่อไทยอยู่ในระหว่าง เตรียมประชุมปรับโครงสร้างงานและบุคคลรองรับบทบาทการเป็นฝ่ายค้าน เพื่อปกป้องประชาธิปไตยให้ถึงที่สุด พร้อมทำประโยชน์ให้กับประชาชนและบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่
อีกด้านหนึ่งลืมไม่ได้ ชั่วโมงนี้คู่แข่งทางการเมืองจริง ๆ ของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ขั้วการเมืองซีกรัฐบาลปัจจุบัน แต่ทิศทางที่ต้องจับตาก็คือ การเคลื่อนไหวเชิงรุกของพรรคอนาคตใหม่ และผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ชัดเจนว่า พรรคอนาคตใหม่ซึ่งเดินเกมส์การต่อสู้ ด้วยหลักการเดียวกันกับพรรคตระกูลเพื่อระบอบทักษิณ คือ ต่อต้านทหาร คัดค้านรัฐบาลคสช.สืบทอดอำนาจ
แต่การชูคนรุ่นใหม่ อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นแกนความคิด ได้แสดงให้เห็นความแข็งแรงเชิงประจักษ์ว่า พรรคตระกูลเพื่อ ไม่ได้เป็นตัวหลักในการกุมสภาพการแข่งขันเลือกตั้งทั้งหมด ถึงแม้จะวางกลยุทธ์การตลาดใกล้เคียงกัน
เมื่อการเลือกตั้งล่าสุด พรรคอนาคตใหม่ สามารถคว้าเก้าอี้ ส.ส. มาได้ถึง 81 ที่นั่ง แยกเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คน และ ส.ส.แบบแบ่งเขตอีก 31 คน แยกเป็นส.ส.ภาคกลาง 15 คน ภาคอีสาน 1 คน ภาคตะวันออก 9 คน ภาคเหนือ 6 คน
ถามว่าต้นแบบพรรคตระกูลเพื่อ อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” คิดอย่างไร ถ้าพิจารณาจากโครงสร้างการสร้างพรรคการเมือง ลงสนามแข่งเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่า “ทักษิณ ชินวัตร” รับรู้สถานการณ์นี้มาโดยตลอด จึงเลือกปรับยุทธศาสตร์พรรค ที่ยึดโยงกับเพื่อไทย ให้แยกย่อยให้เป็นพรรค “เพื่อไทย-เพื่อธรรม-ไทยรักษาชาติ-เพื่อชาติ” เพื่อแก้ปัญหาโควต้าส.ส.ภายในพรรคและการเปิดตลาดใหม่ทางการเมือง
โดยเฉพาะกับพรรคไทยรักษาชาติ “ทักษิณ ชินวัตร” เสี่ยงเลือกให้นักการเมืองรุ่นใหม่ อย่าง ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น มาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคก็เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานการเมืองโดยตรง มาช่วยกันสร้างความใหม่ทางการเมืองให้เกิดขึ้น
อาทิเช่น น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ บุตรสาวนางเยาวเรศ ชินวัตร , นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตเลขานุการ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , น.ส.สุทิษา ประทุมกุล เลขานุการส่วนตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือ กระทั่ง นายฤภพ ชินวัตร บุตรชายนายพายัพ ชินวัตร อดีตประธาน ส.ส.ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย
ข้อมูลเบื้องต้นนี้ จึงน่าจับตามองว่าท้ายสุด พรรคเพื่อไทย โดย”ทักษิณ ชินวัตร” จะมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร กับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่จะต้องทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ควบคู่กันไป
ภายใต้สถานการณ์การแข่งขัน ช่วงชิงฐานการเมือง จากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งวันนี้ไปไกลถึงขั้นการปูพื้นฐานลงไปในภาคการเมืองท้องถิ่น ไม่เว้นแต่ “อุดรธานี” เมืองหลวงคนเสื้อแดง ที่นายธนาธร ประกาศแล้วว่าเป็น 1 ใน 20 จังหวัดเป้าหมาย!!