"สนามฟุตซอลฉาว" ปปช.ไล่ชี้มูลนักการเมืองดังทุจริต บังเอิญจริงๆ เกิดขึ้นยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์!??

กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกรอบ สำหรับปัญหาการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เนื่องจากหนนี้มีกระแสข่าวว่าทางปปช.ชี้มูลเอาผิดนักการเมือง ที่อยู่ในซีกพรรคร่วมรัฐบาลถึง 3 ราย ทำให้ถูกจับตามองว่าจะสะเทือนไปถึงเสถียรภาพคะแนนเสียงรัฐบาลหรือไม่

กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกรอบ สำหรับปัญหาการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล  ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย  เนื่องจากหนนี้มีกระแสข่าวว่าทางปปช.ชี้มูลเอาผิดนักการเมือง ที่อยู่ในซีกพรรคร่วมรัฐบาลถึง 3 ราย ทำให้ถูกจับตามองว่าจะสะเทือนไปถึงเสถียรภาพคะแนนเสียงรัฐบาลหรือไม่

ตรงประเด็นที่สุด ก็คือ  มีการเจาะจงไปถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นในเขตการศึกษาที่  2 นครราชสีมา   และมีผู้อยู่ในข่ายถูกชี้มูลกระทำผิดจำนวน 28 ราย ในจำนวนนี้เป็น 1   ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 2 ส.ส.เขต พรรคพลังประชารัฐ  ส่วนอีก 25 ราย เป็นข้าราชการระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.   และข้าราชการสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาที่ 2 นครราชสีมา  ตลอดจนผู้อำนวยการโรงเรียน  ข้าราชการครูอีกจำนวนหนึ่ง

จากภาพรวมพื้นที่ที่  ปปช. เข้าดำเนินการตรวจสอบทั้งสิ้น  16 จังหวัด  แยกเป็น  สนามฟุตซอลในภาคอีสาน 9 จังหวัด  ประกอบด้วย   ขอนแก่น , ชัยภูมิ  , มุกดาหาร , นครราชสีมา  , สกลนคร  ,  สุรินทร์  , ยโสธร  , อุบลราชธานี  และ อำนาจเจริญ  ส่วน ภาคเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย  พิษณุโลก , อุตรดิตถ์ , พะเยา , เพชรบูรณ์ , น่าน , ตาก และ เชียงใหม่

แต่ด้วยความบังเอิญ  ที่ผลการตรวจสอบของปปช.หนล่าสุดนี้  มีชื่อของ   นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล  เข้าไปเกี่ยวข้อง  พร้อม ๆ กับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อีก 2 คน ก็เลยทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่า  ในกรณีถ้าเกิดเป็นประเด็นทางกฎหมายจริง ๆ จะกระทบถึงการทำงานในรัฐสภาหรือไม่ อย่างไร  จากคะแนนเสียงในปัจจุบัน  253  เสียง

ประเด็นนี้ชัดเลย ว่าในระยะนี้ไม่มีผลกระทบทางการเมืองแน่นอน  ด้วยขั้นตอนทางกฎหมาย   แต่สำหรับภาพลักษณ์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งรอยแผล ต้องถูกตามขุดไม่จบง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม  เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง   เพราะเชื่อแน่ว่าแม้จะเป็นความผิดส่วนบุคคล  แต่ไม่รอดพ้นถูกโยงนำไปเกี่ยวพันกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา อย่างแน่นอน   เนื่องจากมีนักการเมืองพรรคพลังประชารัฐถูกกล่าวหากระทำผิด   ขณะที่ข้อเท็จจริงกรณีนี้้เป็นหนึ่้งในหลายนโยบาย  หรือ  โครงการที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

และทางด้านศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช.  ระบุเป็น 1 ใน 30  คดีที่ประชาชนสนใจและสังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ   ภายหลังสพฐ. ได้รับงบประมาณจากการแปรญญัติในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จำนวน 689  ล้านบาท  เพื่อจัดสรรให้กับ 358 โรงเรียน ใน 17 จังหวัด  แต่มีความไม่ปกติเรื่องการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ (TOR) ให้กับบริษัทใด บริษัทหนึ่ง  โดยไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม

จากข้อมูลนี้ก็น่าสนใจแล้วว่า  จริงๆปัญหาการทุจริตนี้ เกิดขึ้นเมื่อใด อย่างไร  ถึงปล่อยให้ยืดเยื้อมาถึงปี 2562

ข้อมูลเบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา   ได้เคยแสดงรายละเอียด    ความเป็นมาของโครงการก่อสร้างสนามสนามฟุตซอล    เกิดจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในยุครัฐบาล  ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร    จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555  กว่า 600 ล้านบาท ให้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รวม 17 จังหวัด

ส่วนรายละเอียดงบประมาณ  มีการระบุเป็นผลมาจากการแปรญัตติของ ส.ส.  แจ้งว่าเป็นค่าก่อสร้าง  ปรับปรุง   ซ่อมแซมอาคารเรียน  อาคารประกอบ  และสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรม  ประสบอุบัติภัย

แต่ในความเป็นจริงกลับถูกนำไปก่อสร้างสนามฟุตซอล  รวมทั้งยังมีการเจาะจงให้จัดแจกงบประมาณทั้งหมด   ไปยังจังหวัดที่กลุ่มนักการเมืองแต่ละแห่งต้องการ  โดยวิธีการที่ถูกตรวจสอบพบ  ก็คือบรรดานักการเมืองต่าง ๆ    จะไปติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา  หรือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา  ให้นำงบประมาณไปก่อสร้างตามโรงเรียนที่กำหนด 

และใช้วิธีการในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง   การประกวดราคา    การกำหนดราคากลาง    รวมทั้งร่างบันทึกการกำหนดขอบเขตงาน (TOR)  ในลักษณะที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า   โดยเจตนาก็เพื่อให้บริษัทห้างร้านของกลุ่มนักการเมืองดังกล่าวเป็นผู้ได้รับงาน

แค่เบื้องต้นก็พอมองเห็นภาพแล้วว่า  โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลที่เกิดขึ้น  มีความไม่ชอบมาพากลขนาดไหน  แต่ข้อมูลไม่หมดเท่านั้น

โดยสำนักข่าวอิศรา  ระบุกรอบลักษณะของทุจริตไว้ดังนี้

1.มีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน โดยพื้นคอนกรีตไม่ถูกต้องตามคุณลักษณะเฉพาะ นำวัสดุแผ่นยางสังเคราะห์สำหรับสนามในร่มมาใช้ในสนามกลางแจ้งทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ และไม่มีความทนทาน เป็นการใช้วัสดุผิดประเภท เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการก่อสร้าง

2.ราคาแพงเกินจริง

3.ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นพื้นที่ของนักการเมือง และ นักการเมืองเป็นผู้รับเหมา

ส่วนกลุ่มผู้รับเหมาที่มีรายชื่อปรากฎเข้ารับงาน จำแนกเป็น 2 กลุ่มหลัก   คือ

 

1.กลุ่มอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี  ได้แก่   บริษัท ลีกาฟุตซอล จำกัด ,   บริษัท ออคตากอน มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส จำกัด  และ บริษัท อินแทรค แอนด์ โค จำกัด  ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับเหมาการก่อสร้างสนามฟุตซอลอย่างน้อย 28 แห่ง

2. กลุ่มเกี่ยวข้องกับเครือญาติ  อดีต ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย  (ในขณะนั้น)  ได้แก่ บริษัท พี อาร์ เอ็น อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด  ,  บริษัท ที วี เอ็น เทคโนโยลี จำกัด บริษัท วอเตอร์ฮีล แลนด์ จำกัด  ,  ห้างหุ้นส่วนจำกัด จีโอโอดี จำกัด  ,  บริษัท แกรนด์สยาม 98 จำกัด  ,  ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มเอไอ เอ็นเตอร์ไพร์ส  ,  บริษัท วายอีอี จำกัด บริษัท สปอร์ต แอนด์ เกม จำกัด และ บริษัท วายเอเอ็ม บิสซิเนส จำกั

 

ส่วนที่เหลือมีการตรวจพบว่าเป็นกลุ่มบริษัทย่อย ๆ  ซึ่งบางแห่งเกี่ยวพันกับเครือญาติ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น)    รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ด้วย

ประเด็นสำคัญ คือ  โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล  ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นฉาว  และเพิ่งมีรายงานว่ามีการชี้มูลผู้กระทำผิดจากปปช. เป็นโครงการที่มีการดำเนินงาน ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ทั้งสิ้น   และเป็นยุคการเมืองที่ผ่านการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนถึง  4 คน  ประกอบด้วย

1.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล  รับตำแหน่งตั้งแต่ 10 ส.ค. 2554-18 ม.ค.2555

2.นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช  รับตำแหน่งตั้งแต่  23 ม.ค.2555-27 ต.ค.2555

3.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา  รับตำแหน่งตั้งแต่  1 พ.ย.2555-30 มิ.ย.2556

4.นายจาตุรนต์ ฉายแสง  รับตำแหน่งตั้งแต่ 30 มิ.ย.2556-22 พ.ค.2557

ทั้งหมดนี้เป็นแค่น้ำย่อยทางการเมือง ที่คนไทยควรจะได้ร่วมกันติดตาม ตรวจสอบกันต่อไป ว่าท้ายสุดจะมีนักการเมืองคนไหน พรรคใด ร่วมรับผิดชอบโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลฉาวนี้หรือไม่