- 18 ก.ย. 2562
เปิดศาลรธน.ไต่สวน คดี ธนาธร ถือหุ้นวี-ลัค มีเดีย จับตา 10 พยานปากสำคัญ เสียวไส้แทนจริงๆ?
ถือเป็นอีกจังหวะสำคัญทางการเมือง สำหรับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ระยะนี้อาจหายหน้าหายตาไปบ้าง เพราะมีภารกิจใหญ่ในการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการถือหุ้น บริษัทวี-ลัค ทีเดีย อันเป็นความผิดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จนทำให้หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้พักการทำหน้าที่ ส.ส. เป็นการชั่วคราว ระหว่างรอขั้นตอนพิสูจน์ความผิดถูก ตามคำร้องของกกต.
กรณีดังกล่าวถ้าย้อนความโดยสังเขป ก็คือ เหตุเริ่มต้นจากการที่ทางคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.ได้ดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายธนาธร ในการดำรงสถานะสมาชิกผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา
โดยเป็นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 82 วรรคสี่ กรณีความปรากฎหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า นายธนาธร ในฐานะส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.
และเป็นเหตุให้สมาชิก ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ซึ่งระบุถึงบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยการมีระบุชัดเจนถึงข้อห้าม สำหรับบุคคลที่เข้าข่าย การเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
@ ไล่เรียงแต่ละประเด็นที่ต้องจับตา เพราะเป็นข้อกังขาซึ่งค้างคามาโดยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ว่านายธนาธรจะพยายามชี้แจงแต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล
เริ่มต้นจาก 1.การแจ้งวันถือครองหุ้น และ การโอนหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร ไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา โดยมีข้อน่าสังเกตเรื่องวันดำเนินการที่แตกต่างกันอยู่ คือ ในวันที่ 8 มกราคม 2562 และ วันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผลต่อการพิจารณาว่าคุณสมบัติการเป็นส.ส.ของธนาธร ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากนายธนาธร ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นเอกสารสมัครรับเลือกตั้งต่อกกต.ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
2.หลักฐานปรากฏตามเอกสาร 2 ฉบับ มีความต่างที่จะต้องนำไปพิจารณาตามหลักกฎหมาย คือ เอกสารที่เรียกว่า “ตราสารโอนหุ้น” หรือ Share Transfer Document ลงชื่อ นายธนาธร แสดงรายละเอียด เรื่อง การโอนหุ้น จำนวน 675,000 หุ้น หมายเลขหุ้น 1350001-2025000 ให้แก่ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยมีการลงลายมือชื่อประกอบ ลงวันที่ 8 มกราคม 2562
ในขณะที่เอกสารแบบ บอจ.5 แสดงสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ระบุว่าคัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ระบุข้อมูลว่า นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือครองหุ้นจำนวน 2,250,000 หุ้น โดยจำนวนหุ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นหุ้นที่ได้รับการโอนหุ้น ตามเลขหมายหุ้นเดียวกับของนายธนาธร คือ 1350001-2025000 จำนวน 675,000 หุ้น ลงวันที่ 21 มีนาคม 2562
ตรงนี้จึงกลายเป็นประเด็นในเชิงข้อกฎหมาย ว่า นายธนาธรได้โอนหุ้นก่อนหรือหลังจากยื่นสมัครับเลือกตั้ง เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 1129 วรรคสาม มีเงื่อนไขว่าด้วยความสมบูรณ์เรื่องการโอนหุ้นตามกฎหมาย
โดยเนื้อหาของมาตรา 1129 วรรรคแรก คือ "อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น"
วรรคสอง "การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
และ วรรคสาม "การโอนเช่นนี้จะนํามาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น"
ทั้งนี้โดยรายละเอียดของการนำสืบค้นหาข้อเท็จจริง ที่เป็นประเด็นข้อกังขา สำหรับเรื่องการถือหุ้นของนายธนาธร ค่อนข้างมีรายละเอียดมาก และเป็นที่มาของการให้โอกาสนายธนาธรนำหลักฐานชี้แจงอย่างเต็มที่ ก่อนจะกำหนดไต่สวนพยานบุคคล
โดยรายละเอียดที่มีการเปิดเผยออกมาล่าสุด ก็คือ การนัดหมายนัดไต่สวนพยานบุคคลจำนวน 10 ปาก (วันที่ 18 กันยายน 2562) หลังจากเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องของนายธนาธร กรณีขอให้ศาลพิจารณาคำร้องยกเลิกคำสั่งให้นายธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง ด้วยเห็นว่ายังไม่ปรากฏพฤติการณ์ อันเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เดิม จึงให้ยกคำร้อง
และเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติไม่อนุญาตให้นายธนาธรขยายเวลาขอชี้แจงพยานเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 อีก 15 วัน ตามที่ยื่นคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมา เคยขยายเวลารอบแรกให้แล้วเป็นเวลา 30 วัน สมควรแก่เหตุเพียงพอต่อการเตรียมเอกสารหลักฐานชี้แจงคำร้องที่มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็นว่าด้วยพยานบุคคลจำนวน 10 ปาก จะประกอบด้วยใครบ้าง ถ้าพิจารณาจากรายละเอียดในสำนวนการอ้างอิงของนายธนาธรที่ผ่านมาตั้งแต่ต้น และรวมถึงเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องในหลักฐานข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย มีความเป็นไปได้ว่า
นอกเหนือจากตัว กกต. และ นายธนาธรในฐานะคู่ความ ย่อมจะมีบุคคลสำคัญ อย่าง นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทวี-ลัค มีเดีย และเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ในการซื้อ-โอนหุ้น ของนายธนาธร และภรรยา ไปให้หลานชาย 2 คนเป็นผู้ถือหุ้นแทน
@ไม่ใช่แค่ นางสมพร ผู้เป็นมารดา ที่ถือเป็นพยานปากสำคัญ ในการจะนำพาให้นายธนาธร หลุดรอดจากข้อกล่าวหาเรื่องการถือหุ้นสื่อหรือไม่
นอกจากนั้นต้องจับตาชื่อพยานบุคคลอย่าง นายทวี และ นายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ในฐานะ 2 หลานชายที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นแทนนายธนาธร และ ภรรยา ด้วยเหตุผลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความบังเอิญที่เกิดขึ้น
เพราะเป็น 2 รายชื่อที่ถูกนำมาอ้างหลังจากเกิดข้อคำถาม เรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุม วิสามัญผู้ถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 หลังจากนายธนาธร ยืนยันว่าได้ขาย-โอนหุ้นไปให้นางสมพร ผู้เป็นมารดาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562
ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ว่า นาง รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นภรรยาก็อยู่ในข่ายต้องเป็นพยานในชั้นการไต่สวน เนื่องด้วยครั้งหนึ่ง นายธนาธร ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยยืนยันว่า การโอนหุ้นมีผลสำเร็จตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 เพียงแต่เช็คที่ได้รับจาการชำระค่าหุ้น บริษัทวี-ลัค ทีเดีย ยอดเงินจำนวน 6,750,000 บาท ซึ่งได้รับจากนางสมพร ยังไม่ได้นำเช็คที่ชำระค่าหุ้นไปขึ้นเงิน
ทั้งนี้ นายธนาธร ได้ระบุว่า " ตนมีหลักฐานในรายละเอียดตรงนี้ครบถ้วนแล้ว โดยมักจะเก็บเช็คเอาไว้ประมาณ 2-3 เดือน หลักฐานการตีตราหน้าตั๋ว ส่วนภรรยาจะเอาเช็คจะไปขึ้นเงินเมื่อไรนั้น มันก็เป็นเรื่องของเขา
เพราะเขาได้ทำหน้าที่ในเรื่องการดูแลเรื่องการเงินต่างๆของตนเอง และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะก่อนจะออกจากบ้าน ตนต้องไปขอเงินภรรยา เนื่องจากไม่มีแม้แต่บัตรเอทีเอ็ม มีแต่เครดิตการ์ด แล้วเงินสดทั้งหมดก็ขอจากแฟนผมทุกเช้า ดังนั้นเช็คที่ได้มาจึงเอาไปให้แฟนเป็นคนดูแล"
และที่ต้องโฟกัสอีก ก็คือพยานที่เป็น ทนายความโนตารี ผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารตราสารโอนหุ้น ลงวันที่ 8 มกราคม 2562 รวมถึงบุคคลที่ถูกจับตาอย่างมากว่าอาจจะต้องถูกเรียกมาเป็นพยาน ก็คือ คนขับรถตู้ฮุนได สีขาว ทะเบียน 7xx 8893 กรุงเทพมหานคร ที่นายธนาธร อ้างว่าเป็นผู้นำตนเองจากการหาเสียงในภาคอีสาน กลับมายังกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 8 มกราคม 2562 ทั้ง ๆ ที่มีข้อเท็จจริงว่าในวันเดียวกันนั้น นายธนาธรมีกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้งอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์
ขณะที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งระบุว่า ในการไต่สวนพยานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพยานที่ฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้ศาลสอบถามพยานบุคคลเอง แล้วให้พยานให้ถ้อยคําในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเองหรือตอบคําถามศาล ศาลอาจถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม
วรรคสอง ระบุว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้คู่กรณีซักถามพยานเพิ่มเติมตามประเด็น และข้อเท็จจริงที่ศาลกําหนดไว้ก็ได้ โดยให้ฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ซักถามก่อน
และวรรคสาม ระบุว่า หลังจากคู่กรณีถามพยานตามวรรคสองแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีฝ่ายใดถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ประเด็นท้ายว่าด้วยวิธีการไต่สวนพยานบุคคลของศาลรัฐธรรมนูญ จึงน่าจับยิ่งว่า ผลท้ายสุดของการวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้น กับกรณีการถือครองหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร จะจบลงแบบไหน และพยานที่ถูกเรียกสอบจะสามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะก็เป็นไปได้ว่าการเบิกพยานครั้งนี้อาจนำไปสู่คดีอาญาต่อเนื่องก็เป็นได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ส.ส.เพื่อไทย ต่อยกันยับ ในห้องหัวหน้าพรรค
-เปิดทุกปมความจริง คดียุบพรรค “อนาคตใหม่” หลัง “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ พรรณิการ์” ผนึกกำลัง...บลั๊ฟศาลรธน.??
-“ยิ่งลักษณ์” โพสต์ส่งกำลังใจ คนไทยเผชิญน้ำท่วมปี 62 ภาพ “เอาอยู่” ผุดขึ้นมาทันที 8 ปีแล้ว ยังไม่มีใครทุบสถิติทำเสียหาย??
-มาดามเดียร์ ลั่น เอาจริงเรื่องแก้ปัญหาน้ำ ไม่ใช่ดีแต่พูด กรีดฝ่ายค้านมัวแต่ยุ่งปมถวายสัตย์ ไม่ช่วยเหลือ ปชช.เดือดร้อน