- 03 ก.ย. 2562
ส.ส.ฝ่ายค้านดาหน้า กดดันห้ามประชุมลับ “อภิปรายปมถวายสัตย์” วิปรัฐบาลอย่าง “วิรัช” พูดเต็มปาก ใครก้าวล่วง..รับผิดชอบเอง!??
ถึงนาทีนี้มีความชัดเจนในระดับสำคัญแล้วว่าประเด็นเรื่องญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำครม.กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วน จะเกิดขึ้นในรูปแบบไหน อย่างไร ?
ทั้งนี้โดยหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ระบุว่า " สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือ เสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้"
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตุตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ประกอบการพิจารณาเรื่องการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง ว่า "ในกรณีที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้
ในกรณีนี้ประธานรัฐสภา ต้องดําเนินการให้มีการประชุมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการแจ้ง แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้" โดยการประชุมตามวรรคหนึ่งให้ประชุมลับ และคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย
@อย่างไรก็ตามที่ผ่าน ๆ มา กับมุมมองของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันหลักการสำคัญ ชนิดเอาเป็นเอาตาย ว่า ต้องให้การอภิปรายดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะ ไม่ใช่การประชุมลับ อย่างที่หลายคนเป็นห่วง ?
ตัวอย่างของนักการเมืองพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เน้นย้ำไม่ยอมให้มีการประชุมลับ ประกอบด้วยนักการเมือง อาทิเช่น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน โดยอ้างว่าการอภิปรายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนอยากรู้ ดังนั้นหากมีการประชุมลับแล้ว ก็จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริง พร้อมแสดงความมั่นใจว่าผู้อภิปรายแต่ละคนจะมีความระมัดระวังอย่างสูงไม่ให้มีการพาดพิงสถาบันอยู่แล้ว
จุดน่าสนใจก็คือ หลักคิดของผู้นำฝ่ายค้านที่ประกาศชัด ในนกรณีถึงขั้นต้องลงมติ พรรคร่วมฝ่ายค้านก็พร้อมจะวัดคะเนนเสียงในสภาฯ เพื่อหาข้อยุติว่าการอภิปรายจะเป็นการประชุมลับหรือไม่ รวมถึงในส่วนของฝ่ายค้านเห็นว่าควรมีการอภิปราย 2 วัน
ส่วนกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชัดเจนว่าต้องการใช้เวทีนี้ เดินหน้าเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากนำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบข้อคสามตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายธนาธรย้ำว่าเป็นการผิดรัฐธรรมนูญชัดเจน
ไม่เท่านั้น หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยถูกตั้งคำถามเรื่องทัศนคติต่อสถาบันฯ ยังวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ในเชิงตั้งคำถาม ว่า ถ้าปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านเลย ต่อไปใครที่ชนะเลือกตั้งและได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะแถลงอะไรก็ได้ โดยไม่ถือเป็นความผิดใช่หรือไม่ รวมทั้งยังย้ำว่ากรณีนี้ต้องมีการชี้แจงแบบเปิดเผย เพราะประชาชนทั่วประเทศให้ความสนใจ และต้องการรู้ว่าเหตุผลอะไรที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า อดีตที่ผ่านมามีการประชุมลับเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง ในประเด็นเรื่องความมั่นคง หรือ เป็นเรื่องสถานการณ์ที่อ่อนไหว ดังนั้นหากจะมีผู้เสนอให้ประชุมลับ ต้องแสดงเหตุผลว่าเรื่องไหนเป็นประเด็นอ่อนไหว หรือเป็นเรื่องความมั่นคง
แต่จากการตรวจสอบเนื้อหาที่เตรียมอภิปรายแล้ว ไม่มีเรื่องความมั่นคงหรือความอ่อนไหวแต่อย่างใด ประเด็นมีเพียงอย่างเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ถวายสัตย์ปฏิญาณ ครบหรือไม่ หรือแจ้งที่มารายได้ครบหรือไม่ ส่วนจะอภิปรายกี่วัน ต้องดูด้วยว่าผู้อภิปรายมีจำนวนเท่าไร ถ้า 1 วันไม่พอ ก็อาจขยายไปเป็น 2 วัน ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร
@ ถึงตรงนี้ก็ต้องเน้นย้ำให้ทุกฝ่าย พิจารณาอย่างรอบคอบ ว่า สิ่งที่จะนำไปอภิปรายโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 จริงหรือไม่?
ประเด็นดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า กรณีการเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนว่า โดยข้อบังคับการประชุมสภาฯ สามารถขอประชุมลับได้ หากเห็นว่าเป็นประเด็นที่ไม่สมควรจะถูกเปิดเผยออกไป และการขอเปิดประชุมลับนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ส.ส.ตามจำนวนที่กำหนดเป็นผู้ขอให้ประชุมลับ ตั้งแต่ต้นจนจบก็ได้ หรือขอประชุมลับในบางช่วงบางตอน
แต่ปกติการกล่าวอะไรที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ควรต้องประชุมลับ จึงอยู่ที่ว่าฝ่ายค้านจะกล่าวถึงรัฐบาลหรือกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ และในกรณีหากมีคนนำข้อมูลจากการประชุมลับมาเปิดเผย ผู้นั้นต้องรับผิดชอบด้วย
ทางด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องรับผิดชอบควบคุมไม่ให้การอภิปรายที่เกิดขึ้น ก้าวล่วงไปถึงสถาบันฯ ให้ความเห็นล่าสุดว่าหากพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลมีคำขอให้ประชุมลับ ยื่นเข้ามาตามกระบวนการกฎหมายกำหนด ก็สามารถดำเนินการตามที่ขอได้ และก็กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่า ในกรณีถ้ามีการขอมติต้องมีสมาชิกจำนวนเท่าใดในการสนับสนุน
ซึ่งญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอมี 2 ประเด็น คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณ และการแถลงนโยบายรัฐบาล ที่ไม่มีการระบุถึงที่มาของงบประมาณ โดยตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ สามารถทำได้ 2 กรณี คือ การซักถาม และการให้คำแนะนำ ซึ่งหากเป็นการซักถามต้องมีผู้มาตอบ โดยจะต้องประสานงานกันทั้งผู้ถามและผู้ตอบ เพื่อให้การอภิปรายสามารถดำเนินการไปได้ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตามในความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยังคงไม่นิ่งเรื่องเสถียรภาพเรื่องคะแนนเสียงในสภาฯ ก็ยังเป็นประเด็นกังขาว่า ถ้าในกรณีลงมติว่าจะเปิดประชุมลับ ในประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ จะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ เนื่องด้วยท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ดูจะสร้างรอยแปลกแยกไม่จบไม่สิ้น
โดยเฉพาะกรณีที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธาน สส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความเห็น ว่า การอภิปรายควรเป็นการประชุมเปิดเผยตามปกติ เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านนำเสนอข้อมูลมาเป็นระยะมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ฝ่ายค้านจะพูดอะไร
ยกเว้นฝ่ายค้านมีข้อมูลที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงและสถาบัน ฝ่ายค้านอาจเป็นฝ่ายขอให้ประชุมลับเองเลยได้ เพราะเท่าที่ดูรายชื่อผู้อภิปรายล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ มีวุฒิภาวะสูงพอที่จะพิจารณาได้ว่า ควรประชุมลับหรือไม่
ที่น่าสนใจกว่านั้น ก็คือ ความเห็นของ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุ ส่วนตัวเห็นว่าการอภิปรายที่จะเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีการประชุมลับ ควรจะเปิดเผยให้สังคมและประชาชนทราบข้อเท็จจริง เพราะประเด็นที่จะมีการอภิปรายมีอยู่เพียงแค่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถวายสัตย์ครบหรือไม่เท่านั้น
ดังนั้น การที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายอะไรจึงต้องระวังระวังให้อยู่ในกรอบของเนื้อหา เนื่องจากกรณีนี้อยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่หากฝ่ายค้านอภิปรายเกินเลย หรือก้าวล่วงจนระคายเบื้องพระยุคลบาท ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบเอง
@ถึงตรงนี้คงไม่มีอะไรจะอธิบาย ความเห็นที่เกิดจากสมาชิกในพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งกรณีของนายวิรัช และ นายองอาจ โดยเฉพาะกรณีคำพูดว่า หากฝ่ายค้านอภิปรายก้าวล่วง จนระคายเคืองพระยุคลบาท ถือเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านต้องรับผิดชอบเอง
เพราะในความเป็นจริงหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น พรรคร่วมรัฐบาลและส.ส.ทุกคนในสภาผู้แทนราษฎร ย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบร่วมไม่ได้เป็นอันขาด เพราะรู้อยู่แก่ใจในเจตนาของการเดินเกมส์การเมืองครั้งนี้
โดยเฉพาะกับการแถลงของพรรคอนาคตใหม่ ที่อ้างว่า การอภิปรายจะต้องไม่เป็นการประชุมลับ เพราะนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องตอบกับสาธารณะชน ไม่ใช่ตอบแต่ผู้แทนราษฏรเพียงเท่านั้น ว่าจะตัดสินใจอย่างไร กับการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ
เรื่องนี้เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ได้บอกหลายครั้งแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องที่อ่อนไหวหรือเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ไม่จำเป็นต้องมีการประชุมลับแต่อย่างใด ต้องเป็นการประชุมโดยปกติ!!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-มาดามเดียร์ ลั่น เอาจริงเรื่องแก้ปัญหาน้ำ ไม่ใช่ดีแต่พูด กรีดฝ่ายค้านมัวแต่ยุ่งปมถวายสัตย์ ไม่ช่วยเหลือ ปชช.เดือดร้อน
-โฆษกฯไทยศรีวิไลย์ เผย มงคลกิตติ์’เตรียมลงพื้นที่ให้กำลังใจ ปชช. ที่ประสบอุทกภัยจาก พายุโพดุล ช่วงสัปดาห์นี้
-“Big boss ทักษิณ” พ้นผิดคดีปล่อยกู้กรุงไทย แต่คนละเงื่อนไข “พานทองแท้” โดนข้อหาฟอกเงิน !??
-สว.สมชาย จัดหนัก ปิยบุตร เตือนสติฝ่ายค้าน เล่นไม่เลิกปมถวายสัตย์ ลากไปอภิปรายใหญ่ในสภาฯ