- 20 ก.ย. 2562
ขั้นตอนหลังจากนี้คงได้เข้าสู่โหมดการตรวจสอบความถูกต้อง หลังจากปปช.แสดงบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 80 ราย แยกเป็นกรณี เข้ารับตำแหน่ง 79 ราย และพ้นจากตำแหน่ง 1 ราย แต่ไฮไลต์ที่ถูกจับจ้องมากสุด คือ กรณีการชี้แจงทรัพย์สินและหนี้สิน ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่วันนี้อยู่ในระหว่างหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
ขั้นตอนหลังจากนี้คงได้เข้าสู่โหมดการตรวจสอบความถูกต้อง หลังจากปปช.แสดงบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 80 ราย แยกเป็นกรณี เข้ารับตำแหน่ง 79 ราย และพ้นจากตำแหน่ง 1 ราย แต่ไฮไลต์ที่ถูกจับจ้องมากสุด คือ กรณีการชี้แจงทรัพย์สินและหนี้สิน ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่วันนี้อยู่ในระหว่างหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ยอดทรัพย์สินและหนี้สิน ของนายธนาธร แยกเป็นหลัก ๆ คือ มีรายได้ 188,606,720 บาท และมีรายจ่ายรวม 66,000,000 บาท ส่วนยอดทรัพย์สินรวม มีมูลค่าสูงถึง 5,628,118,852 บาท และมีหนี้สินเพียง 683,303.45 บาท
ขณะที่ประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปี นายธนาธรแจ้งว่า ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ในช่วงปี 2546-2561
นอกจากนั้นยังเป็น คณะกรรมการบริหารคลัสเตอร์ อุตสาหกรรมการผลิต สวทช. , คณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงการมีตำแหน่งเป็รกรรมการบริหาร บมจ.มติชน ในช่วงปี 2556-2561
@อย่างไรก็ตามกับทรัพย์สินที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาพลักษณ์เดิมเคยถูกเรียกว่า "ไพร่หมื่นล้าน" แล้วลดลงเหลือกว่า 5 พันล้านบาท โดยข้อเท็จริงไม่ถือเป็นเรื่องเกินคาดหมาย เพราะนายธนาธร วางแผนระบบการเงินของตนมาตั้งแต่ต้น ในรูปของ Blind Trust ที่มีการประโคมข่าวว่าเป็นแนวทางการเมืองใหม่ แต่ภายหลังมีข้อมูลว่านักการเมืองดัง ๆ หลายคนก็เลือกวิธีการนี้ เพื่อแสดงความโปร่งใสในการทำงาน
โดยกรณีของนายธนาธร ได้แถลงข่าวกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 ว่าได้เลือกโอนทรัพย์สินบางส่วนให้บลจ.ภัทร เป็นผู้บริหารจัดการกองทุน และจะกลับมมาถือกรรมสิทธิ์อีกครั้ง เมื่อพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว 3 ปี ทั้งนี้เพื่อไม่เกิดครหาเรื่อผลประโยชน์ทับซ้อน
ดังนั้นประเด็นว่าด้วยทรัพย์สินเพิ่้มหรือลด จึงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่ผลของการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของปปช. ปรากฎว่าไฮไลต์ไปอยู่ที่เรื่องข้อเท็จจริงเรื่องการปล่อยกู้เงินให้กับพรรคอนาคตใหม่ โดยมีรายละเอียดแสดงให้เห็นว่านายธนาธรได้ปล่อยเงินกู้ให้กับพรรคอนาคตใหม่จริง และเป็นยอดเงินที่สูงกว่าเคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้า
ตามเอกสารจดแจ้งในหมวดเงินให้กู้ยืม คือ 1. สัญญากู้เงิน ลงวันที่ 2 มกราคม 2562 ระหว่างนายธนาธร กับพรรคอนาคตใหม่ โดยนายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรค หรือ นายธนาธร เป็นผู้ทำสัญญากู้ และมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ลงชื่อเป็นพยานในการทำสัญญากู้เงิน
ส่วนยอดเงินกู้งวดแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 161,200,000 บาท โดยเงื่อนไขสัญญากำหนดว่าพรรคอนาคตใหม่ จะชำระเงินกู้ ทั้งหมดภายใน 3 ปี โดยแบ่งเป็นปีที่ 1 ชำระ เงินต้น จำนวน 80 ล้านบาท ปีที่ 2 ชำระ หนี้ 40 ล้านบาท และปีที่ 3 ชำระหนี้เงินต้นอีก 41,200,000 บาท โดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
2.สัญญากู้เงิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ระหว่างนายธนาธร กับ นายนิติพัฒน์ เหรัญญิกพรรค โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ลงชื่อเป็นพยานการทำสัญญากู้เงินเพิ่มอีก จำนวน 30 ล้านบาท
โดยรายละเอียดที่มีการจดแจ้งระบุว่าพรรคอนาคตใหม่ ตกลงจะชำระเงินกู้ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี
@เพื่อความเข้าใจในประเด็นนี้ ทำให้ต้องย้อนกลับไปในสิ่งที่ทำให้กรณีดังกล่าวถูกจับตาเป็นพิเศษ
เริ่้มต้นจากก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 นายธนาธร ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที (FCCT) ในหัวข้อ อะไรคืออนาคตของพรรคอนาคตใหม่ (What is the future of Future Forward?) และตอนหนึ่งนายธนาธรได้กล่าวถึง การบริหารการเงินของพรรคอนาคตใหม่ว่า เพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าในช่วงการเลือกตั้งได้ จึงตัดสินใจให้เงินทางพรรคยืมไปแล้วราว 110 ล้านบาท
ส่วนข้อความที่ถูกระบุในการบรรยายดังกล่าว ก็คือ "ผมเปิดเผยถึงวิธีบริหารการเงินของพรรคอนาคตใหม่ เป็นหนี้ผมอยู่ ผมให้เงินพรรคยืมอยู่ 110 ล้านบาท ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้ เนื่องจากพรรคไม่สามารถระดมทุนได้ทันเวลาสำหรับการหาเสียง อย่างที่ผมบอกไปว่าพรรคเพิ่งมีตัวตน ในทางกฎหมายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถระดมเงิน ได้ทันการหาเสียงเลือกตั้ง
แต่เราก็ไม่ต้องการทำเหมือนพรรคอื่น เราต้องการความโปร่งใส ดังนั้นผมจึงไม่ได้ให้เงินพรรค แล้วบอกว่าให้พรรคใช้เงินก้อนนี้โดยไม่ต้องแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ผมต้องการที่จะเปิดเผยตรงไปตรงมา จึงถือโอกาสแจ้งเรื่องเงินก้อนนี้ รวมถึงวิธีการใช้เงินของเรา โดยตอนนี้ในบัญชีของพรรค ผมเป็นเจ้าหนี้การค้า (Account Payable) ร้อยกว่าล้าน ผมจำตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้ แต่น่าจะประมาณ 105 หรือ 110 ล้านบาท"
ต่อกรณีดังกล่าวกลายเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก คนหนึ่้งที่พูดถึงประเด็นดังกล่าว ก็คือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีการโพสต์ความเห็นไว้ใน เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า "การกระทำดังกล่าวผิดทั้งหลักการและเจตนารมณ์กฎหมาย เพราะถ้ายอมให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ ก็จะนำไปสู่การถอนทุนคืนโดยทุจริต ถามกลับพรรคอนาคตใหม่จะเอาเงินจากไหนมาคืน"
โดยแหล่งเงินหลักควรจะมาจากผู้ที่เข้ามาร่วมกัน เพราะฉะนั้น การที่ อนคม. (อนาคตใหม่) ไปกู้เงินจากคุณธนาธร จึงเป็นการกระทำที่ผิดหลักการ .... ไม่มีกฎหมายใดที่อนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินจากใคร เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่สถาบันธุรกิจ และถ้ากฎหมายยอมให้กู้เงินได้ ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ตัวแทนของพรรค แทนที่เข้าไปรับใช้ประเทศ กลับมีแต่จะเน้นการถอนทุนคืนโดยทุจริต
ทั้งนี้การที่ อนคม. (อนาคตใหม่) จะต้องใช้หนี้ร่วม 100 กว่าล้านบาทนั้น ถามว่า อนคม. (อนาคตใหม่) จะหาเงินมาจากไหน? จะต้องเก็บเงินสมาชิกคนละเท่าไหร่? เป็นไปได้จริงหรือไม่? กรณีนี้ จึงทำให้ภาพของ อมคน. (อนาคตใหม่) กลายเป็นพรรคการเมืองเถ้าแก่หลงจู๊ เหมือนหลายพรรคที่มีภาพพจน์ติดลบในอดีต
ผมจึงเห็นว่าวิธีการที่ อนคม. (อนาคตใหม่) กู้เงินจากคุณธนาธรนั้น ผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ตรงไปตรงมา และทำให้ประชาชนที่ตั้งความหวังว่าจะมีการเมืองแบบใหม่ ผิดหวังกันไปตามๆ กัน ส่วนจะมีความผิดหรือไม่ ก็จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ กกต. และศาล???
อีกหนึ่งไฮไลต์ก็คือ สิ่งที่นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่กระทำร่วมกัน ถูกนำไปเป็นประเด็นยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือไม่
จากการที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อกกต.เมื่อวันที่้ 21 พฤษภาคม 2562 ขอให้ตรวจสอบ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณียอมรับว่าให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาท ในการดำเนินกิจกรรมของพรรค โดยการกู้ยืมดังกล่าวถือเป็นสัญญาผูกมัดและมีการคิดดอกเบี้ยชัดเจน ขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ระบุว่า บุคคลหรือนิติบุคคลใด จะบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ให้พรรคการโดยมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท ต่อปีมิได้
กรณีดังกล่าวจึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 124 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี
รวมถึงตามรายละเอียด มาตรา 125 ระบุว่า พรรคการเมืองใดที่รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด มีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ กำหนดบทลงโทษไว้ตาม มาตรา 66 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุนพัฒนาการเมือง
@ ขณะเดียวกันกับมุมมองทางกฎหมาย ทางด้าน อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฏีกา ได้แสดงความเห็น พร้อมหลักการทางกฎหมาย ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
"เรื่องที่พรรคอนาคตใหม่กู้ ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่า 110 ล้านบาท อย่างที่หัวหน้าพรรคกล่าว หรือ 250 ล้านบาท อย่างที่โฆษกพรรคกล่าว
ประเด็นสำคัญคือ โฆษกพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่รายได้แต่เป็นรายจ่าย จึงไม่ต้องรายงานต่อ กกต. ไม่ทราบว่าโฆษกพรรคอนาคตใหม่ใช้หลักการคิดมาจากไหนที่ว่าเงินที่ได้มาจากกูยืมผู้อื่นนั้นเป็นรายจ่าย
ขณะที่ตามกฎหมายถือว่าเงินที่ได้มาจากการกู้ยืมบุคคลอื่นเป็นรายรับที่ได้มาจากกู้ยืมเงิน ส่วนในหลักการทางบัญชีไม่ทราบว่า เงินที่กู้ยืมมาถือว่าเป็นรายได้หรือจ่าย ต้องนำมาลงในบัญชีด้านรายรับหรือรายจ่าย โดยพรป.พรรคการเมือง มาตรา ๖๒ พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง
(2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับ
(3) เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
(4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
(5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค
(6) เงินอุดหนุนจากกองทุน
(7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
เงินกู้ยืมจึงไม่ใช่รายได้ที่กฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถกระทำได้ ขณะที่มาตรา 87 เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนําไปใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรม ทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง และ เงินของพรรคการเมืองจะนำไปใช้ได้เฉพาะตามที่ระบุไว้ในมาตรานี้เท่านั้น จะนำไปชำระเงินกู้ไม่ได้ ถ้านำไปใช้ก็จะมีความผิดและมีโทษตามมาตรา 132
โดยมาตรา 132 หัวหน้าพรรคการเมือง , กรรมการบริหารพรรคการเมือง และเหรัญญิก พรรคการเมืองผู้ใดนําหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนําเงิน หรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่าย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนําไปใช้เพื่อการอื่นใด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
@ไล่เรียงจากข้อกฎหมาย ย่อมถือเป็นความสุ่มเสี่ยงทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่อยู่ไม่น้อย แต่ไม่เท่านั้น อ.ชชาติ ยังชี้่ชัดให้เห็นว่าการที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และนางสาว พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ออกมาประกาศกร้าวว่า ไม่มีบทกฎหมายใดที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำชี้ขาดให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ได้นั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด
ทั้งนี้ข้อความเห็นที่ อ.ชูชาติ ระบุว่า คือ "นายปิยบุตรและนางสาวพรรณิการ์ลืมหรือแกล้งลืมเรื่องที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 110 บ้านบาท ที่นายธนาธรและนางสาวพรรณิการ์เป็นผู้เปิดเผยต่อสื่อมวลเอง
เรื่องดังกล่าวนายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ไปร้องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 และ กกต.ได้มีหนังสือนัดนายศรีสุวรรณ ไปไต่สวน สอบสวนแล้ว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562
ขณะที่ตาม พรป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 62 ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน ซึ่งเมื่อพรรคการเมืองกู้ยืมเงินไม่ได้ ดังนั้นการที่นายธนาธรอ้างว่าให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาท ย่อมไม่อาจกระทำได้ จึงต้องถือว่าเงิน 110 ล้านบาท เป็นเงินที่นายธนาธรให้แก่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก็คือเป็นการบริจาคให้แก่พรรคอนาคตใหม่นั่นเอง
ทั้งนี้เป็นไปตามคำนิยามในมาตรา 4 ที่ว่า "บริจาค" หมายความว่า การให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมือง และ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลใดบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองใด มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี วรรคสอง ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี
การที่พรรคอนาคตใหม่รับเงินจำนวน 110 ล้านบาท ที่นายธนาธรมอบให้มาใช้ใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นการรับเงินบริจาคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเกินจำนวนตามมาตรา 66 จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 72
โดย มาตรา 72 ระบุว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 92 เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(3) กระทําการฝ่าฝืนฯลฯ มาตรา 72 หรือมาตรา 74
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
บทบัญญัติของพรป.พรรคการเมือง ให้อำนาจ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ การที่นายปิยบุตรและนางสาวพรรณิการ์อ้างว่าไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ได้เพราะ ไม่รู้หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ทั้งนายปิยบุตรและนางสาวพรรณิการ์ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งคือนอกจากจะสิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.แล้วต้องถูกตัดสิทธิไม่ให้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตลอดไปอีกด้วย
น่าสนใจสุด ๆ ในช่วงท้ายนี้ คือมีรายงานข่าวล่าสุด พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุแล้วว่า จะมีการนำสำนวนไต่สวน คำร้องของศรีสุวรรณ กล่าวหา นายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง จากกรณีการปล่อยกู้เงินให้กับพรรคอนาคตใหม่ให้ที่ประชุม กกต. วินิจฉัย หลังกระบวนการไต่สวนที่ผ่านมาถือว่าครบถ้วนแล้ว