- 10 เม.ย. 2563
จากประเด็นร้อน กรณีนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและผู้ดำเนินรายการข่าว วิจารณ์เหน็บแนม โฆษกศบค. มาถึงอีกหนึ่งนักวิชาการ ค่ายธรรมศาสตร์
กลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง จากกรณีนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและผู้ดำเนินรายการข่าว ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้าน การบริหาราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทวิตข้อความในเชิงเสียดสีการทำหน้าที่โฆษกศบค. ของ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในฐานะโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จนเกิดข้อโต้แย้ง เป็นคำถามกลับไปถึง บทบาทของศิโรตน์ ในหลายแง่มุมเช่นกัน
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ดูชัดๆคำแถลงศบค. ศิโรตม์ มั่วโพสต์แขวะ นพ.ทวีศิลป์ ทำตัวเป็นโฆษกรัฐ ป้าฟองเหลืออด ต้องออกโรงเตือน)
ล่าสุด รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เป็นอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ การเสียสละทำหน้าที่ เป็นโฆษกศบค. ของ นพ. ทวีศิลป์ โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก ว่า "หมอ ทหาร และเชื้อไวรัส"
"นักทฤษฎีด้านอำนาจคนหนึ่งเสนอว่าสถาบันเบ็ดเสร็จจำพวกคุก โรงพยาบาลบ้า และค่ายทหาร ต่างมีวิถีอำนาจหลักเหมือนกันคือวินัย ภายใต้สถาบันเหล่านี้ ผู้คุม จิตแพทย์ และนายทหาร จะใช้อำนาจในการปรับเปลี่ยนนักโทษ คนบ้า และพลทหารให้มีความเชื่องเชื่อและใช้ประโยชน์ได้ โดยอาศัยแหล่งอ้างอิงการใช้อำนาจต่างกันออกไป เช่น จิตแพทย์อาศัยอำนาจจากวิชาจิตเวชศาสตร์ในการบำบัดรักษาคนบ้า ขณะที่นายทหารอาศัยอำนาจจากสายบังคับบัญชาในการฝึกฝนพลทหาร พวกเขาจึงคุ้นเคยกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จภายในสถาบันของตนเหมือนกัน
สังคมไทยพิเศษตรงที่สนับสนุนให้บุคคลเหล่าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จด้านนอกสถาบัน เพราะเป็นสังคมที่นิยมอำนาจ นอกจากจะเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องและยำเกรงในสภาวะปกติ เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นมา พวกเขามักจะถูกเรียกร้องให้เข้ามาแก้ไขโดยใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือ
เราจึงเห็นการใช้คำเรียกพวกเขาสลับหรือแทนที่กันได้ ในการระบาดของไวรัสครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกบุคลากรทางการแพทย์ว่า “นักรบชุดขาว” “อัศวินเสื้อกาวน์” การเรียกการรักษาพยาบาลว่า “สู้ศึก” หรือการเรียกอุปกรณ์ทางการแพทย์ว่า “อาวุธ”
การเปรียบเปรยเหล่านี้แม้จะต้องการสร้างความฮึกเหิม ยกย่อง และให้กำลังใจ แต่ก็สะท้อนให้เห็นลักษณะอำนาจนิยมของสังคมไทย ที่ต้องการให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการคลี่คลายปัญหาเหมือนกับทหาร
ในทำนองเดียวกัน การที่โฆษก ศบค. มักเปรียบเปรยการรับมือสถานการณ์ การระบาดของไวรัสกับการทำศึกสงคราม อย่างการเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “พ่อเมือง” เรียกการระบาดว่า "ตีค่าย" และเรียกการตรวจพบผู้ติดเชื้อในแต่ละจังหวัดว่า “ป้อมแตก” จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการสร้างสีสันและความเป็นกันเองในการแถลงข่าว
หากแต่เป็นการเลือกใช้คำศัพท์หรือสำนวนที่เข้าถึง หรือโดนใจคนในสังคมที่ต้องการเห็นการใช้อำนาจเด็ดขาดในยามวิกฤติ ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าเพราะความที่เป็นจิตแพทย์ เขาจึงคุ้นเคยและเห็นความคล้ายคลึงของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จภายในโรงพยาบาลบ้าและค่ายทหาร และไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจหากสังคมหรือสื่อจะใช้ศัพท์แสงทางการศึกสงคราม มาเรียกปฏิบัติการทางการแพทย์แทน ไม่นับรวมความใกล้ชิดรัฐบาลด้วยเหตุผลทางการเมือง ที่ทำให้ระยะหลังเขาแสดงบทบาทเป็นโฆษกส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี อดีตทหาร รวมถึงรัฐบาลมากเข้าไปทุกที
ว่ากันว่าวิกฤติเผยให้เห็นธาตุแท้ของสังคม การระบาดของไวรัสครั้งนี้ก็เผยให้เห็นธาตุแท้ของสังคมไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในด้านอำนาจนิยม แต่ที่ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาก็คือว่า มันได้ดึงเอาอำนาจเบ็ดเสร็จของแพทย์ที่ปกติจะจำกัดอยู่ในสถาบัน ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจเบ็ดเสร็จของทหารในบริบทของ “การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ซึ่งหากเราไม่ตระหนักหรือว่าไม่ระมัดระวังพอ เราก็จะกลายเป็น “ผู้ป่วย” ที่ไม่มีวันหายและตกอยู่ภายใต้การบงการของอำนาจเบ็ดเสร็จเหล่านี้ไม่มีที่สิ้นสุด