- 10 มิ.ย. 2563
ถือเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หลังผลการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรหลายวาระไม่เป็นไปตามเป้า ต่อเนื่องมาถึงผลการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่นที่พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้หมดรูป จนมีการปล่อยข่าวสมาชิกพรรคไม่อาจทนการทำหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์พรรค ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้อีกต่อไป
ถือเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หลังผลการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรหลายวาระไม่เป็นไปตามเป้า ต่อเนื่องมาถึงผลการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่นที่พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้หมดรูป จนมีการปล่อยข่าวสมาชิกพรรคไม่อาจทนการทำหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์พรรค ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้อีกต่อไป
ตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฎผ่านโลกโซเชียล คือ ข้อความโพสต์ของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และ นักโทษคดีอาญามาตรา 112 ที่วิเคราะห์สถานภาพพรรคเพื่อไทยอย่างตรงไปตรงมา ว่า "ความเสื่อมถอยและจุดจบพรรคเพื่อไทย จากการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น แล้วมีการอ้างเหตุเรื่องการใช้เงินซื้อเสียง (แต่จับไม่ได้สักที) เป็นเหตุผลเก่า แค่ปลอบใจกันเอง
ความพ่ายแพ้สะท้อนได้หลายแง่มุมด้วยกันทั้งตัวบุคคล การลงพื้นที่หาเสียง ยุทธวิธีหาเสียง นโยบายการหาเสียง ภาวะผู้นำภายในพรรค และบทบาทของพรรค พรรคเพื่อไทยกำลังเสื่อมถอยด้วยเหตุที่มีแต่นักเลือกตั้ง และนักการเมืองที่ไร้ศักยภาพ ขาดความมุ่งมั่นจริงจังในการต่อสู้ทางการเมือง เหินห่างจากชาวบ้านและทำได้แค่สร้างภาพฉาบฉวย อาศัยบุญเก่าที่สะสมกันมาแต่ทว่าไร้มนต์ขลังไปแล้ว ไม่มีสิ่งที่ดีกว่าและเหนือกว่าเดิม หากพรรคเพื่อไทยยังอาศัยแค่บุญเก่า ห่างเหินจากชาวบ้าน ขาดความมุ่งมั่นจริงจังและขาดความกล้าหาญ"
ขณะที่ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทความ เรื่อง "บทเรียนที่ไม่เคยเรียนรู้ วันนี้จึงไม่ใช่แค่ย่ำอยู่กับที่ แต่คือการถอยหลัง" ย้ำความจำเป็นของพรรคเพื่อไทยที่ต้องปฏิรูปให้เป็นพรรคของประชาชน ไม่ใช่ทรัพย์สินประจำตระกูล หาไม่แล้วก็จะมีแต่เสื่อมความนิยมไปเรื่อยๆ ดังนี้..
เคยเขียนถึงพรรคเพื่อไทยเมื่อ 1 เม.ย. 62 ขอนำบางส่วนมาลงซ้ำอีกครั้ง ผ่านมาแล้วกว่าขวบปี ไม่มีสัญญาณบวกใด ๆ นอกจากการเมืองแบบแลกเปลี่ยนเพื่อผลปย.ของตัวเถ้าแก่เหมือนเดิม พร้อมกับเสียงนกแตกรังยามพระอาทิตย์อัสดง!
"เหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งที่ผ่านมา? แน่นอน เหตุผลสำคัญหนึ่งคือ รธน.60 ที่ลดทอนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ข้อนี้อธิบายไม่ได้ว่า ทำไมคะแนน 15.7 ล้านเสียงเมื่อปี 54 จึงเหลือ 7 ล้านในวันนี้? การอ้าง "ถูกโกง" ก็อธิบายไม่ได้ทั้งหมด
สาเหตุรากฐานอยู่ที่พท.เองที่ยังเป็น "พรรคเถ้าแก่" ที่ใช้เครือข่ายสส.เป็นโครงสร้างหลัก สองปัจจัยนี้เคยเป็นจุดแข็งในอดีตจนถึงจุดสูงสุดเมื่อเลือกตั้งปี 54 แต่วันนี้คือจุดอ่อน ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยน แต่เถ้าแก่ยังทำซ้ำ ๆ แบบเดิม ทษช.ถูกยุบ เสียไป 150 เขตราว 3 ล้านเสียงจากปี 54
สส.ไหลออก แต่บางส่วนยังสอบได้เพราะปชช.ในพื้นที่ยังเลือกแม้ย้ายพรรค เสียงบางส่วนในภาคเหนือและอีสานเปลี่ยนไปเลือกพปชร.เพราะ "บัตรคนจน" ประชานิยมทักษิณเริ่มเสื่อม ประชานิยมกลับกลายเป็นจุดแข็งของพปชร.แทนเพราะเขามีอำนาจรัฐ หาเสียงสไตล์เดิม ๆ ชูธงเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่วันนี้พรรคอื่น ๆ ก็ทำเหมือนกัน ...
แฟนคลับเอาแต่โทษคนอื่น (รธน. คสช. กกต. ทษช. ศรธน. พปชร. ปชป. อนค. นักวิชาการ สื่อ ฯลฯ) ไม่สรุปบทเรียน ... เถ้าแก่ตามโลกไม่ทัน เครือข่ายสส.กับฐานเสียงถูกบ่อนเซาะ แกนนำต้องฟังเถ้าแก่ ไม่มีบทบาทนำจริง ริเริ่มเองไม่ได้ พท.วันนี้มีแต่บุญเก่า ทั้งตัวเถ้าแก่ แนวคิด แกนนำ สส. มีแต่จะหมดไปไม่ได้เพิ่มขึ้น
ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน ก็จะได้สส.ลดลงไปอีก! วันนี้เป็นฝ่ายค้านทำประชานิยมไม่ได้ ฐานเสียงประชานิยมจะไหลไปพปชร. ฐานเสียงปชต.จะไหลไปบรรดาพรรคปชต.ใหม่ สส.จะไหลออกอีกเพราะไม่อยากเป็นฝ่ายค้านอีกต่อไปและเห็นชัดว่า "โปรย้ายค่าย-แถมเงินก้นถุง" ของเขาดีจริง!
... หลายคนเห็นแล้วว่า ต้องปฏิรูปพรรค แต่ปัญหาอันดับแรกคือ เถ้าแก่ต้องยอมรับว่า พท.เป็นของประชาชน ไม่ใช่ "ทรัพย์สินประจำตระกูล" แกนนำไม่ใช่ "เด็กในบ้าน" ไม่ใช่เครื่องมือใช้ต่อรองเพื่อปย.ตัว ให้มีประชาธิปไตยในพรรค ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอดจริงจัง"
อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นภายในพรรคเพื่อไทย แม้จะมีความพยายามปฏิเสธเรื่องรอยร้าว แต่สิ่งปรากฎสู่สาธารณชนก็ยากเลี่ยงจะพูดว่า ความสัมพันธ์พรรคเพื่อไทยยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะกรณี นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านฯ ออกมายืนยันความคืบหน้าการจัดตั้ง "กลุ่มแคร์" หรือ คณะกลุ่มผู้ห่วงใยบ้านเมือง ว่า เป็นเรื่องจริงที่จะมีการรวมตัวกันของกลุ่มคนหลากหลายวิชาชีพ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประโยชน์ประเทศชาติในยามวิกฤต และคาดว่าเมื่อทุกอย่างเกิดความชัดเจนแล้ว จะมีการเปิดตัวกลุ่มอย่างเป็นทางการภายในเดือนมิ.ย.นี้ ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดคณะกลุ่มผู้ห่วงใยในบ้านเมืองครั้งนี้ น่าจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากได้มีการหารืออย่างเต็มที่แล้วคาดว่าจะพร้อมเปิดชี้แจงให้สาธารณชนได้รับทราบ
ประเด็นสำคัญเมื่อกระแสข่าวการจัดตั้งกลุ่มแคร์ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลระดับแกนนำพรรคเพื่อไทย และ ไทยรักไทย เดิม อย่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย , นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล , นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ดูเหมือนว่ารอยร้าวภายในพรรคเพื่อไทยจะยิ่งขยายวงกว้าง
ยิ่งกับกระแสข่าวจากการประชมพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 9 มิ.ย. 2563 ที่มี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน และทางด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค, พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีตหัวหน้าพรรค และนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เข้าร่วม ถึงขั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของกลุ่มแคร์อย่างกว้างขวาง
อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรค ระบุว่า " พวกเราจะแยกไปตั้งกลุ่ม ก็ไม่แปลก เพราะถ้ารัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ เราจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ถึงไม่ได้ก็ยังอยู่ แม้จะสอบตก จะยืนตรงนี้ เพราะตรงนี้คือบ้าน ไม่แปลกใจที่บางคนจะไป แต่ถ้าจะไปไม่ควรจะทำลายที่นี่ คำพูดที่บอกว่า ต้องออกไป เพราะว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นที่หวังของประชาชน เป็นคำพูดที่ใช้ไม่ได้ ถ้าเปรียบเป็นผัว-เมีย เมื่ออยู่ด้วยกันไม่ได้ก็แยกกันไป ไม่ใช่ปักหลักอยู่ในบ้านอย่างนี้ถือว่าเห็นแก่ตัว เมื่อยังอาศัยพรรคนี้ กลับมาสร้างความขัดแย้ง แล้วบอกว่าพรรคนี้ไม่ได้เป็นที่หวัง ไม่ได้เป็นโอกาสประชาชน มันย้อนแย้งคนที่จะออกไป ที่จะไปตั้งพรรค เมื่อไม่มีความศรัทธา เมื่อไม่มีความเชื่อมั่น ก็ควรจะไป"
ขณะที่ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ระบุว่า " สิ่งที่เจ็บปวดมากที่สุด ฝ่ายเราที่จะออกไป มาบอกว่า ส.ส.อีสานหมดน้ำยา ขาดความร่มเย็นที่จะมาสร้างความเป็นสุขให้พี่น้องประชาชน ใครจะไปที่ไหน มาคุยให้ชัดเจนว่า ถ้าที่นี่อยู่ไม่ได้ จะไปสร้างพรรคใหม่ ขอให้ไปดี อย่าสร้างความเสียหายให้กับพวกผม พวกผมมีความหวังว่า วันข้างหน้าความสุขจะต้องกลับคืนมาให้ประชาชน โดยพรรคเพื่อไทยอย่างเดียว"
จิ๊กซอร์สำคัญทื่ถูกพูดถึงกันอย่างมาก ก็คือ การทำหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นต้นเหตุของการแยกตัวจัดตั้งกลุ่มแคร์หรือไม่ ส่งผลให้ล่าสุด นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ต้องจัดแถลง ยืนยันกับสื่อว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค
โดยนายสมพงษ์ อ้างว่า ที่ผ่านมาตนไม่ค่อยได้ออกข่าว และด้วยการแบ่งหน้าที่ทำงานกันอย่างชัดเจน ก็เลยทำให้มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีความขัดแย้ง แต่ข้อเท็จจริงตรงกันข้าม ตนยืนยันว่าการทำงานกับคุณหญิงสุดารัตน์ สอดคล้อง กลมเกลียวกัน ข่าวที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจผิด ""เราสองคนทำงานกันอย่างกลมเกลียวและจริงจัง แต่แน่นอนว่าการทำงานย่อมติดขัดกันบ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่และแก้ไขได้ ผมทำงานประสานกับคุณหญิงสุดารัตน์โดยไม่มีอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น"
ส่วนประเด็นของการแยกตัวของแกนนำพรรคไปจัดตั้งกลุ่มแคร์ นายสมพงษ์กล่าวว่า "บางทีรัฐบาลอยู่ในภวังค์ที่โซเซ ย่อมมีบุคคลที่ต้องเตรียมตัวเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคไทยรักษาชาติ แต่ทุกคนเป็นเพื่อนฝูงกันหารือกันตลอดเวลา ซึ่งการตั้งพรรคใหม่ก็เพื่อให้มีส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสภา ส่วนตัวเชื่อว่าส.ส.ของพรรคเพื่อไทยยังอยู่กับพรรคตามเดิม อย่างพรรครัฐบาล ขอให้สบายใจกันได้"
ทางด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวย้ำว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยมีการทำงานอย่างกลมเกลียวกัน มีการหารือกัน แม้ว่าต่างคนต่างจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเข้มแข็ง เพื่อทำให้พรรคเพื่อไทยแข็งแรง และสามารถเป็นที่พึ่งหวังในยามที่ประชาชนกำลังท้อแท้ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีเวลาทะเลาะกัน เพราะทุกคนที่ได้รับเลือกตั้งมาจากความไว้วางใจของประชาชน และความคาดหวังกับพรรคเพื่อไทย ในการช่วยเป็นปากเสียงแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ส่วนข่าวที่ออกมา 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา เราไม่สบายใจกับกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งแหล่งข่าวไม่ทราบว่าเป็นใครที่ออกมาทำลายความเชื่อมั่นต่อพรรคเพื่อไทยและประชาชน ซึ่งไม่เป็นความจริง
"ส่วนการที่มีส.ส.จะไปตั้งพรรค เราเข้าใจดีว่ากติกาแบบนี้ ไม่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นผู้เป็นนักการเมืองและต้องการเข้าสภา จึงต้องไปทำพรรคการเมือง ซึ่งต่างเป็นเรื่องดีทั้งนั้น เพราะยังอยู่กับซีกประชาธิปไตย เป็นความจำเป็นจากรัฐธรรมนูญและกติกาที่บิดเบี้ยวและเข้าใจกันดี"