- 18 ก.ค. 2563
ฟังชาวระยองพูดจากใจ เห็นอย่างไร 2 ทีมไล่ลุงถือป้ายด่านายกฯหยาบๆ
กลายเป็นหมากทางการเมืองที่กำลังถูกใครบางคน หยิบฉวยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับจังหวัดระยอง มาใช้เป็นประโยชน์เต็มรูปแบบ ในการขับเคลื่อนกลุ่มเยาวชนให้ออกมาสร้างบรรยากาศต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนเมื่อครั้งจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง โดยกลุ่มคนหน้าเดิมที่ร่วมกิจกรรมกันมา ตั้งแต่ยุคเรียกร้องการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนการดิ้นรนครั้งนี้จะยิ่งให้เห็นแนวคิดของคนพวกนี้ชัดเจนมากเรื่อย ๆ ว่า เป้าประสงค์จริงคืออะไร
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : คณะก้าวหน้า โดดป้อง 2 ทีมระยองไล่ลุง ชาญวิทย์ ยกประวัติศาสตร์ พระเจ้าตากฯ เทียบเคียง )
โดยเฉพาะกับพฤติกรรมของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายเยาวชนภาคตะวันออก อย่าง นายภานุพงศ์ จาดนอก และ นายณัฐชนน พยัฆพันธ์ แต่แนวคิดปรากฎผ่านโลกโซเชียลว่าหลายครั้ง ไปไกลถึงต้องตั้งคำถามว่า เจตนาหรือไม่ในการแสดงความเห็นก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง
กระทั่ง แฟนเพจ เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH โพสต์เฟซบุ๊ค ประกาศชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันเสาร์ที่ 18 ก.ค. โดย 2 ใน 4 รายชื่อที่ร่วมกิจกรรมปราศรัย ก็คือ นายภานุพงศ์ จาดนอก และนายณัฐชนน พยัฆพันธ์ ที่ถือป้ายใช้คำหยายด่าพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จนถูกตั้งข้อหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่อ้างกับสาธารณชนว่าเพียงต้องการมาพบเพื่อแสดงความเห็นตามระบอบประชาธิปไตย
ล่าสุดในโลกโซเชียลมีข้อความของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง มีความน่าสนใจยิ่ง เพราะเป็นการสะท้อนความจริงอีกด้าน จากความรู้สึกคนระยองจริง ๆ ระบุใจความสำคัญว่า ระหว่างทางโดยสารรถตู้ มีโอกาสได้คุยกับคนขับ ที่เหลือเราเป็นผู้โดยสารปลายทางคนสุดท้าย ประเด็นน่าสนใจ คือ คนขับได้ตั้งคำถามใจความว่า "คนระยองได้อะไรจากการถือป้ายด่านายกฯ นอกจากความสะใจ กับภาพลักษณ์ของเจ้าบ้านที่ดูหยาบคาย และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลยกับชาวระยอง"
คนขับรถย้ำว่า เขาเห็นด้วยกับการเรียกร้องมาตรการเยียวยาผลกระทบ และความรับผิดชอบจากความผิดพลาด จากความหละหลวมในการควบคุมดูแลทหารจากต่างชาติ แต่เขาไม่เห็นด้วย กับการชูป้ายด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อื่นใดเลย ไม่มีคำถามหรือข้อเสนอใดต่อรัฐบาล ที่เป็นประโยชน์ต่อคนระยอง
คนขับยังบอกอีกว่า ถ้าเนื้อหาในป้ายนั้น เป็นข้อความเรียกร้องหรือเสนอแนะ ให้ช่วยเหลือชาวระยองในด้านต่าง ๆ ยังดูน่าสนับสนุน และน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง มากกว่าการด่าหยาบคาย และทำให้เกิดความวุ่นวายในช่วงเวลานั้น
"เราฟังแล้วก็ค่อนข้างประทับใจ ในความคิดเห็นอย่างสุภาพของคนขับรถ ไม่มีคำหยาบใด ๆ ไม่มีการตำหนิติเตียนถึง 2 หนุ่มนั้น ที่เราเอามาเล่า" เพราะเราก็มีความคิดในทิศทางเดียวกับคนขับ ถึงกับแปลกใจเอ่ยปากไปว่า "ผมนึกว่าผมคิดแบบนี้คนเดียวเสียอีก"
ที่นำมาเล่า เพราะคำถามของคนขับรถยังดังในหัวเราตลอดเลยว่า "เราได้อะไรจากเหตุการณ์ของหนุ่ม 2 คนนี้" ได้พื้นที่สื่อ ?ได้ความสะใจ ?ได้แสดงออก ? แล้วหลังจากความวุ่นวายนี้เงียบหายไป ชาวระยองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เหล่านี้ได้ประโยชน์อะไร ?