- 31 ก.ค. 2563
รายงานพิเศษ ย้อนภาพองค์กรอัยการ เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์หนักถูกระบอบทักษิณครอบงำ จนมาถึงยุคนี้ตอกย้ำภาพดำมืด กระทบชิ่งถึงรัฐบาลนายกฯตู่
จากประเด็นร้อนว่าด้วยคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา( ฉบับที่ 26) พ. ศ. 2560 มาตรา 4 โดย นายเนตร นาคสุข ขณะดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด จากนั้น พล.ต.ท. เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามในความเห็นไม่ขัดแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ กลายเป็นประเด็นล็อคให้คดีสำคัญที่คนไทยทั้งประเทศให้ความสนใจ ยุติลงโดยถอนหมายจับทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับ นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา
กรณีที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากความคาใจในกระบวนการยุติธรรมของไทยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ปรากฎขึ้นแล้ว และดูเหมือนกำลังมีการขยายความ กระจายวงกว้างมากขึ้นในแวดวงการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ก็คือการเดินหน้าโจมตีว่า ความบกพร่องทั้งหมดเป็นฝ่ายความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บริหารประเทศ
ถึงขั้นมีการเชื่อมโยงจุดปัญหากับ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (กมธ.กฎหมาย สนช.) ในช่วงปี 2557-2562 ที่มี พล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ และ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมเป็นกรรมาธิการ ในลักษณะชี้นำว่า กรณีการเข้ายื่นคำร้องขอความเป็นธรรมกับ กมธ.กฎหมายฯ ของทนายความของนายบอส เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2559 เป็นรูปแบบการชี้นำที่นำมาซึ่งการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้พ้นผิด
ตัวอย่างสำคัญ คือ การที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ตรวจสอบคณะกรรมาธิการกฏหมายฯ ยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติติที่แต่งตั้งโดย คสช. กรณีที่มีผู้ร้องขอความเป็นธรรมในคดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังขับรถชนตำรวจเสียชีวิต โดยระบุว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของคดี
พร้อมอ้างว่าสาเหตุที่อัยการหยิบยกคดีที่มีหลักฐานสมบูรณ์พอฟ้องแล้วมาทบทวนใหม่ เนื่องจากมีผู้ร้อง(นายกฯต้องไปหาผลสอบของคณะกรรมาธิการกฏหมายฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาตรวจดู) ไปยังคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งมีพลเรือเอกดิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการให้มีการสอบสวนเรื่องนี้
ต่อมาคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้สอบหาข้อเท็จจริงแล้ว สรุปความเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิด จึงทำเรื่องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุดซึ่งเคยปฏิเสธการร้องขอแบบนี้มาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้กลับยอมรับการร้องขอของกรรมาธิการฯคณะนี้ โดยอัยการสูงสุดรีบมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม
จากนั้นพนักงานสอบสวนก็กลับคำสั่งเดิมจากสั่งฟ้องนายวรยุทธ เป็นสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง และอัยการมีความเห็นตามตำรวจทันที จึงยกเลิกคำสั่งฟ้องนายวรยุทธ เปลี่ยนมาเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธดังกล่าว
กรณีดังกล่าวถ้าย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจของอัยการ มีส่วนสำคัญทำให้คดีที่ควรได้รับการนำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมถูกตัดตอน เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับคดี นายพานทองแท้ ชินวัตร หลุดคดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , จากกรณีตรวจพบหลักฐานว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ทุจริตการปล่อยสินเชื่อของ ธ.กรุงไทยฯ ให้ธุรกิจเครือกฤดามหานคร
เนื่องด้วยการปฏิบัติหน้าที่ ของ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ทำหน้าที่รักษาราชการเเทนนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ระหว่างเดินทางไปราชการในพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 7 เป็นผู้ลงนามคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ทั้ง ๆ ที่ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น 2 ท่านมีความเห็นต่างกัน โดยผู้พิพากษาเจ้าของคดีเห็นว่า ควรจำคุกนายพานทองแท้ แต่ผู้พิพากษาอีกท่านเห็นควรให้ยกฟ้อง แต่ตามระเบียบของศาลต้องตัดสินในแนวทางที่เป็นผลประโยชน์ต่อจำเลยมากที่สุด ทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นยกฟ้อง
หากกรณีไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงินของ นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ผ่านมา กลับไม่ปรากฎกระแสโต้แย้งจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เป็นผลการทำงานขององค์กรยุติธรรมอย่างอัยการ ซึ่งควรถูกตั้งคำถามอย่างมาก ในความอิสระของการทำหน้าที่เพื่อความเป็นธรรมของแผ่นดิน
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ระบุชัดเจนว่า องค์กรอัยการประกอบด้วย คณะกรรมการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ก.อ.) อัยการสูงสุด และพนักงานอัยการอื่น โดยมีสํานักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยธุรการ
สํานักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการที่มีอิสระ ในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดําเนินการอื่น และเป็นนิติบุคคล โดยมีอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้แทนนิติบุคคล
ให้ข้าราชการฝ่ายอัยการสังกัดดสํานักงานอัยการสูงสุด
การแบ่งหน่วยงาน การจัดตั้งและกําหนดท้องที่ของภาค และการกําหนดอํานาจและหน้าที่ ของหน่วยงานภายในของสํานักงานอัยการสูงสุด ให้ทําเป็นประกาศ ก.อ.
ขณะที่รํฐธรรนูญ พ.ศ.2560 ก็ยังมีการะบุถึงความเป็นอิสระของ "องค์กรอัยการ" ตามมาตรา 248 ว่า องค์กรอัยการมีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง
การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดําเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระ โดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทน เป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคล เกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดําเนินการโดยคณะกรรมการอัยการ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประธานกรรมการ ซึ่งต้องไม่เป็นพนักงานอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิบรรดาที่ได้รับเลือกจากพนักงานอัยการ ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว
อย่างไรก็ตามแม้ว่า การพิจารณาสั่งคดีจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ "องค์กรอัยการ" แต่ที่ผ่านมาในบางยุคสมัยทางการเมือง ก็มักมีข้อคำถามถึงความเป็นอิสระของ "องค์กรอัยการ" นับตั้งแต่ช่วงปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ที่ประเด็นว่าด้วย ศรัทธาต่อ "องค์กรอัยการ" กลับมาถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอีกครั้ง
ทั้งนี้ลำดับของผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดที่ผ่านมา (2544-2563) ประกอบด้วย
1.นายวิเชียร วิริยะประสิทธิ์ (1 ตุลาคม 2544 – 30 กันยายน 2546)
2.ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัต ฉ่ำเฉลิม (1 ตุลาคม 2546 – 30 กันยายน 2547)
3..ศาสตราจารย์พิเศษ คัมภีร์ แก้วเจริญ (1 ตุลาคม 2547 – 30 กันยายน 2548)
4..นายพชร ยุติธรรมดำรง (1 ตุลาคม 2548 – 30 กันยายน 2550)
5..ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ (1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2552)
6..ศาสตราจารย์พิเศษ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ (1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2556)
7..นายอรรถพล ใหญ่สว่าง (1 ตุลาคม 2556 – 26 มิถุนายน 2557)
8.นายตระกูล วินิจนัยภาค (27 มิถุนายน 2557 – 30 กันยายน 2558)
9.ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร (1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2560)
10.ศาสตราจารย์พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์ (1 ตุลาคม 2560 - 30 กันยายน 2562)
11. นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ 1 ตุลาคม 2562 - ปัจจุบัน
ส่วนคดีความอันเป็นประเด็นครหาของภาคสังคมในอดีต จากการทำหน้าที่ของ "องค์กรอัยการ" ถูกบันทึกเป็นตัวอย่าง ดังนี้
1.กรณีเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2549 นายพชร ยุติธรรมดำรง ขณะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด มีคำสั่งให้อัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ถอนฟ้อง "ธัมมชโย" ผู้ต้องหาในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย หลังจากมีการดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2542 จนการสืบพยานในศาลไปแล้ว 92 ปาก เหลืออีกเพียง 2 นัดกระบวนการพิจารณาก็จะเสร็จสิ้นลงภายในเดือนเดียวกัน
โดยอ้างเหตุในการถอนฟ้องคดีต่อศาลอาญาว่า "ธัมมชโย" ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของสงฆ์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ “ธัมมชโย” ยังได้มอบทรัพย์สินทั้งที่ดินและเงินกว่า 959 ล้านบาท คืนแก่วัดพระธรรมกายแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ครบถ้วนทุกประการ ประกอบกับขณะนี้บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับ “ธัมมชโย” ต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยก ตามมติ ครม.ปี 2549 สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ว่าด้วยเพื่อให้เกิดความปรองดองในประเทศ
2.กรณี นายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ต่อจาก นายพชร ยุติธรรมดำรง ถือเป็นยุคหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามเรื่องผลการทำงานเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นผู้ลงนาม สั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100, 122 ต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2551
แต่โดยข้อเท็จจริงของผลแห่งคดีที่เป็นรูปธรรม หรือเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดีของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในยุคที่มี นายเข็มชัย ชุติวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอัยการสูงสุด เช่นเดียวกับคดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร
ในทางตรงข้ามได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ การทำหน้าที่อัยการสูงสุดของ นายชัยเกษม โดยถูกขุดคุ้ยว่ามีปมประเด็นขัดแย้ง กับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. หลายเรื่องที่เกี่ยวการชี้มูลความผิดทางคดีที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร และ ครม.ในขณะนั้น
อาทิ กรณี คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มอบหมายให้นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความ นำคำฟ้องจำนวน 57 หน้า พร้อมสำนวนพยานหลักฐานการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ( หวยบนดิน) ตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค. 2546 - 26 พ.ย.2549 จำนวน 45 ลัง ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อม คณะรัฐมนตรี ( ครม.) รวมทั้งคณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน เป็นจำเลยในการปฏิบัติหน้าร่วมกันมีมติ ครม. ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง เป็นคดีดำหมายเลขที่ อม.1/2551 เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2546 หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างคตส.กับคณะอัยการที่ได้รับมอบหมายจาก นายชัยเกษม นิติสิริ
เช่นเดียวกับคดีสำคัญ ๆ อย่าง การยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยต่อศาลฯในความผิดฐานใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิด กรณีเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 ที่เห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า เพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ จากบริษัทชินแซทเทิลไลท์ บริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร
หรือ คดีทุจริตการจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งคตส.เป็นฝ่ายยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหารวม 47 ราย ประกอบด้วย กลุ่มคณะรัฐมนตรี ( ครม.) , กลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม. คณะที่ 2 , กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ( คชก.) , กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารราผลประกวดราคาซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี , บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด
และ คดีที่ป.ป.ช.ต้องทำหน้าที่เป็นโจทก์แทนคตส. ในการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาความผิด นายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดุแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 157
หรือ กรณีให้เอ็กซิมแบงก์ อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตรา 3% ต่อปี ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า (เมียนมาร์) ซึ่งดอกเบี้ยนั้นต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ และเพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชินแซทเทอร์ไลท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร องค์คณะศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2551 หรือในช่วงยุคที่มี นายชัยเกษม นิติสิริ ทำหน้าที่เป็นอัยการสูงสุด เป็นต้น
จากนั้นในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฎข้อมูลว่า นายชัยเกษม ถูกแต่งตั้งเป็นประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพ ย์, คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, กรรมการคณะที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมไปถึงประธานกรรมการและคณะกรรมการการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ก่อนสุดท้ายได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม
3.กรณีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งต่อจากนายชัยเกษม นิติสิริ มีคำสั่งไม่ฎีกา คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป ทั้งในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2-3 และดคีที่ศาลให้รอลงอาญานายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานชินคอร์ป และพี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 1 เพราะเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในทุกประเด็น
หลังจากเมื่อวันที่ วันที่ 31 ก.ค.2551 ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินให้จำคุก นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม คุณหญิงพจมาน ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด และคุณหญิงพจมาน อดีตภรรยา นายทักษิณ ชินวัตร คนละ 3 ปี และจำคุกนางกาญจนาภา หงษ์เหิน จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 ปี
ในความผิดร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย และร่วมกันแจ้งข้อความเท็จให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ โดยจงใจเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร 546 ล้านบาทจากการโอนหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น และต่อมาจำเลยทั้งสามได้อุทธรณ์คำพิพากษา
และรวมถึง นายจุลสิงห์ ก่อนเกษียณอายุราชการ ยังมีคำสั่งในฐานะอัยการสูงสุด เห็นชอบไม่ฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวม 24 คน กระทำผิดก่อการร้ายโดยแยกกระทำของนายทักษิณ ว่าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นภายนอกราชอาณาจักร ฐานสนับสนุนการก่อการร้า จากการวีดิโอลิงค์ โฟนอิน หรือ ทวิตเตอร์ มายังสถานที่ชุมนุม นปช. ในปี 2553
โดยระบุว่าเป็นไปตามความเห็นของพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสนอมา "ขณะเกิดเหตุนายทักษิณพำนักอยู่ในต่างประเทศ ขณะที่การวิดีลิงค์โฟนอิน เข้ามายังเวทีปราศรัยในพื้นที่ต่างๆ นั้น มีเนื้อหาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องการให้ยุบสภา และโจมตีการทำงานของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายในการเผาศาลากลางจังหวัด สถานทูต สถานกงสุล หรือยุยุงให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนการเกิดเหตุรุนแรงที่แยกราชประสงค์ก็เนื่องจากรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้ากดดันกระชับพื้นที่ และปิดล้อมโดยใช้รถยานเกราะและอาวุธสงครามขับไล่สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก การที่กลุ่มประท้วงได้กระจายไปตามต่างจังหวัด และมีการวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ ศาลากลางจังหวัด 4 แห่ง หรือมีผู้ก่อความไม่สงบวางระเบิด หรือยิงอาวุธปืนร้ายแรงเข้าไปในพื้นที่ธนาคาร หรือสถานที่ราชการต่างๆ นั้น ไม่มีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงว่าเกิดจากการยุยงสนับสนุนของนายทักษิณ ผู้ต้องหาที่ 1
ดังนั้นพยานหลักฐานจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่า นายทักษิณ ได้ร่วมกัน หรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด หรือสนับสนุนให้มีการกระทำผิดฐานก่อการร้าย โดยความเห็นดังกล่าวเป็นความเห็นของดีเอสไอ และคณะทำงานอัยการที่เห็นพ้องกัน และเมื่อเป็นความผิดเกี่ยวกับการกระทำนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอำนาจอัยการสูงสุดในการสั่งคดี ดังนั้นเมื่อมีความเห็นแล้วว่าสั่งไม่ฟ้องแล้ว ถือว่าเป็นเด็ดขาดและสิ้นสุดแล้วตามกฎหมายสำหรับคดีดังกล่าว"
4.กรณีการทำหน้าที่อัยการสูงสุด ของ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ซึ่งเป็นการรับไม้ต่อจาก นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ แต่ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่การเมือง เนื่องมาจากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามประกาศฉบับที่ 62/2557 ในการโยกย้ายข้าราชการระดับสูง 3 ราย เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2557 และหนึ่งในนั้น คือ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด ถูกคำสั่งให้มาปฎิบัติหน้าที่ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุด รักษาราชการแทน
ตามมาด้วยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการอัยการ ให้ดำรงตำแหน่ง จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย
1.นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ตำแหน่ง อัยการสูงสุด ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด
2.นายตระกูล วินิจนัยภาค ตำแหน่ง รองอัยการสูงสุด ดำรงตำแหน่ง อัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด
โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
ประเด็นข้อพิจารณา ก็คือ บทบาทของนายอรรถพล ที่ปรากฎผ่านสื่อมวลชน จนถูกคำถามว่าเป็นความแตกต่างในมาตรฐานการทำงานของอัยการสูงสุดหรือไม่ ทั้งการพิจารณาสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศอฉ. ในข้อหาร่วมกันใช้ หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยเล็งเห็นผล จากการที่ ศอฉ.มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่ชุมนุมนปช. ปี 2553
แต่เมื่อทางด้าน กลุ่มกรีน ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนความเห็นสั่งคดีขอ งนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ในการพิจารณาไม่ฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานความผิดคดีก่อการร้าย นายอรรถพล ระบุเพียงว่า ตนมีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าการสั่งคดีนั้นถูกต้องตามข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และข้อกฎหมายหรือไม่ ส่วนจะใช้ระยะเวลานานเท่าใดยังตอบไม่ได้ แต่ตนสั่งให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ส่วนผลตรวจสอบที่ออกมาจะสามารถหักล้างคำสั่งเดิมหรือไม่ ตนยังตอบไม่ได้เช่นกัน ต้องรอรายงานความเห็นของคณะทำงาน ถ้าตรวจสอบแล้วเป็นคำสั่งที่ชอบเราก็ต้องชี้แจงให้สังคมทราบว่าชอบแล้ว หากจะไม่ชอบแล้วถ้าสามารถทบทวนได้เราก็ต้องทบทวน จนท้ายสุดก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับคดีก่อการร้ายของนายทักษิณ ชินวัตร
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ แม้ว่านายอรรถพล จะสิ้นสถานะอัยการสูงสุดไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2562 ในการลงคะแนนเลือก "ประธานคณะกรรมการอัยกา” และ "ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ"
ปรากฎว่าอัยการทั่วประเทศ ได้ลงคะแนนเสียงเลือก นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีต อสส. เป็นประธานก.อ. ด้วยคะแนนสูงสุดถึง 1,810 คะแนน จากผู้ลงคะแนนรวม 3,061 ใบ และจำนวนผู้เสนอตัวลงสมัครทั้งสิ้น 5 คน ประกอบด้วย 1.นายทวีศักดิ์ วรพิวุฒิ อดีตรอง อสส. 2.นายปรีชา วราโห อดีตรอง อสส. 3.นายพชร ยุติธรรมดำรง อดีต อสส. 4.นายสมชาย คูวิจิตรสุวรรณ อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และ 5.นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีต อสส.
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ภายในสำนักอัยการสูงสุด ว่าผลการลงคะแนนดังกล่าว เป็นหนึ่งของการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เพราะองค์กรอัยการซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ถูกแทรกแซงโดยอำนาจคสช. ภายหลังจากมีคำสั่งปลดนายอรรถพลพ้นจากตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่การพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการระดับสูง ภายในสำนักอัยการสูงสุด ควรผ่านความเห็นคณะกรรมการอัยการด้วย
ไม่เท่านั้นเมื่อวันที่ 18 ก.ค 2562 ในการประชุมคณะกรรมการอัยการ ครั้งที่ 8/2562 ซึ่งมี นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณารายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมขึ้นดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนใหม่ สืบเนื่องจากนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดพ้นวาระการดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด เพราะมีอายุครบ 65 ปีตามกฎหมายในวันที่ 30 กันยายน 2562
เป็นทางด้านนายอรรถพล ในฐานะประธาน ก.อ.ได้เสนอชื่อ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งมีอาวุโสเป็นอันดับ 1 ขึ้นเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด คนที่ 15 ก่อนที่ประชุมจะมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบ
โดย นายประยุทธ์ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า การพิจารณาแต่งตั้งอัยการสูงสุดดังกล่าว นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่มีการเสนอชื่อผู้เหมาะสมจะได้เป็นอัยการสูงสุด ขึ้นมาจากระดับอธิบดีอัยการ โดยข้ามจากผู้ตรวจการอัยการและรองอัยการสูงสุด สาเหตุเนื่องจากผู้ตรวจการอัยการและรองอัยการสูงสุดที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ได้พ้นวาระบริหารพร้อมกับ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ที่หมดวาระบริหารในวันที่ 30 ก.ย. 2562 เพราะฉะนั้นสำหรับบัญชีต่อไปที่มีการเสนอแต่งตั้งรองอัยการสูงสุดและผู้ตรวจการอัยการจึงจากระดับอธิบดีอัยการทั้งหมด
กระทั่งปัจจุบัน ภาพลักษณ์ขององค์กรอัยการ ภายใต้การนำของ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด และ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ กลับย้อนมาสู่จุดวังวนเช่นในอดีต เพราะในช่วงเวลาเพียงไมถึง 1 ปี บทบาทการทำหน้าที่ของนายนายวงศ์สกุล ต้องเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ทั้งกรณีการที่ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ตัดสินใจแทนอัยการสูงสุด โดยการไม่อุทธรณ์คำพิพากษากรณี นายพานทองแท้ ชินวัตร หรือ โอ๊ค ลูกชาย นายทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ,91 จากกรณีตรวจพบหลักฐานว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ทุจริตการปล่อยสินเชื่อธ.กรุงไทยฯ ให้ธุรกิจเครือกฤดามหานคร หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง ทั้ง ๆ ที่กรณีดังกล่าวมีประเด็นพิจารณาในขั้นตอนการอ่านคำพิพากษา เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษา 2 ท่าน และมีความเห็นแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสมควรยกฟ้อง อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสมควรจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา
หรือล่าสุด ก็เป็นอีกครั้งที่มีการปล่อยให้ นายเนตร รองอัยการสูงสุด ใช้อำนาจมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา( ฉบับที่ 26) พ. ศ. 2560 มาตรา 4 และ พล.ต.ท. เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ เป็นเหตุทำให้คดีอื้อฉาวที่ดำเนินมากว่า 8 ปี ยุติลง แบบค้านทุกความรู้สึกคนไทย และการสร้างกระบวนการสื่อสาร ให้เหตุการณ์ดังกล่าว กระทบไปถึงภาพลักษณ์รัฐบาล ด้วยความพยายามเรียกร้อง ถามหาความความรับผิดชอบทั้งหมด จากการปล่อยให้คนผิดลอยนวล ผ่านถ้อยวลีเสียดสี "คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจน" ??
สุดท้ายจึงเป็นที่มาคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 225/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา"บอส-นายวรยุทธ อยู่วิทยา" อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
โดยให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณี คำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ประกอบด้วย 1.นายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 5.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 6.นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย 7.คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรรมการ และ10.ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการและเลขานุการ แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
ด้วยความสำคัญยิ่ง เพื่อหยุดยั้งทุกกระแส ที่จ้องหยิบฉวยนำประเด็น อันเกี่ยวเนื่องทางคดีฉาว มาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีรัฐบาล รวมถึงอาจทำให้เห็นปัญหาแท้จริง ที่ถุูกซุกซ่อนอยู่ในองค์กรอิสระมานานหลายปี ??