- 08 ส.ค. 2563
ดร.กิตติธัช แจงละเอียด โต้กลับอานนท์ เดินสายปราศรัยกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ หวังผลการเมือง
ถึงแม้จะได้รับการประกันตัว เพราะตัดสินใจพลิกคำพูดก่อนหน้า ว่าพร้อมจะติดคุก และประกาศจะยังคงร่วมชุมนุมทางการเมือง เฉพาะที่ไม่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีลักษณะยุยง ปลุกระดม แต่ปรากฎว่า นายอานนท์ นำภา แกนนำพลเมืองโต้กลับ แสดงทีท่าจะนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นประเด็นปราศรัยต่อไป ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และ อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม ว่าพยายามจะจำกัดสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกในประเด็นดังกล่าว
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : อานนท์เปิดใจหลังรอดคุก ปิยบุตรแขวะศาล โดนใช้เป็นเครื่องมือปิดปาก วิจารณ์สถาบันฯ )
ล่าสุดในเพจฟซบุ๊กของ ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้าน ปรัชญาการเมือง ได้นำเสนอชุดความคิดอีกด้าน เพื่อประกอบการพิจารณาในพฤติกรรมของนายอานนท์ และ พวกที่พยายามเชื่อมโยงการชุมนุมทางการเมือง โดยการหยิบยกประเด็นเรื่องสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นหัวข้อการปลุกระดมมวลชน แฝงเร้นอยู่ในข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
" เลิกอ้าง/เลิกโทษสถาบันกษัตริย์
เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเสียที
----------------------
ข้อกล่าวหาของอานนท์ต่อสถาบันกษัตริย์
----------------------
ก่อนที่นาย อานนท์ นำภาจะโดนจับนั้น
เขาได้กล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า
- กำลังขยายอำนาจจนเกินขอบเขต
- เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย
โดยการอ้าง 4 เรื่องสำคัญคือ
1. การแก้ไข รธน.ในรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
2. การแก้ไข กฎหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ปี 2560 ในเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
3. พ.ร.ก.ย้ายบางส่วนกองทัพเป็นของพระมหากษัตริย์
4. พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
อานนท์และพวก ยกประเด็นทั้ง 4 ข้อขึ้นมากล่าวหาว่า พระมหากษัตริย์กำลังเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย และไทยจะกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช หากปล่อยไว้แบบนี้
ข้อเท็จจริง
----------------------
1. เนื้อหาหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ไม่มีอะไรเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน เนื้อหาแทบทั้งหมดเป็นเรื่องภายใน เช่น การตั้งผู้สำเร็จราชการ การปฏิญาณตน องคมนตรีไม่ต้องเป็นราชการ ฯลฯ
และมาตรา 5 ที่ระบุว่าหากมีปัญหาทางการเมืองแล้วแก้ไขไม่ได้ พระมหากษัตริย์สามารถใช้อำนาจในการแก้ไขตามราชประเพณีได้ ซึ่งข้อนี้มีมาตั้งแต่ รธน.ปี 2540 ในฉบับที่หลายคนชอบอ้างว่าเป็นฉบับประชาชน
และในปี 2535 พฤษทมิฬ ก็เห็นได้ชัดว่าในหลวง ร.9 ทรงใช้อำนาจยุติความขัดแย้งระหว่างการเมืองสองฝ่าย ทำให้คนไทยไม่ต้องเข่นฆ่าทำร้ายซึ่งกันและกัน
.......................
2. เรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นอีกเรื่องที่ตั้งแต่เปลี่ยนรัชกาลแล้วมีความชัดเจนที่สุดตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเลย คือ แต่เดิมหลัง 2475 คณะราษฎรแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้มีสถานะเหมือนทรัพย์สินแผ่นดิน และไม่ต้องเสียภาษี
ซึ่งกลายมาเป็นจุดอ่อนให้บางกลุ่มโจมตีเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องเสียภาษี (ในขณะที่ทรัพย์สินส่วนพระองค์เสียอยู่แล้ว)
เมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาล ในหลวง ร.10 ทรงมีพระราชประสงค์ให้แก้ เพื่อความชัดเจน โดยยุติสถานะทรัพย์สินแผ่นดิน แล้วแก้กฎหมายในทรัพย์สินนี้ต้อง "เสียภาษี" ให้แผ่นดิน ดังเช่นกิจการเอกชนอื่นๆ
ส่งผลให้ประเทศชาติได้ประโยชน์จากภาษีดังกล่าวอีกจำนวนไม่น้อย
.......................
3. พ.ร.ก.โยกย้ายกำลังพล ที่มีประเด็นเรื่องพรรคอนาคตใหม่ ยกมือคัดค้านอยู่พรรคเดียวในสภา (ยกเว้น ส.ส.บางคน ที่ภายหลังโดนขับไล่พ้นพรรค) เมื่อปีที่แล้วนั้น
เนื้อหา พ.ร.ก.เป็นการโยกเอา "ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์" จากกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ซึ่งกระจายอยู่ มาอยู่ในหน่วยรักษาพระองค์แทน
โดยไม่มีการไปของบเพิ่ม หรือเพิ่มกำลังพลแต่ประการใด และหน้าที่ของทั้งสองหน่วยนี้ก็คือรักษาพระองค์อยู่แล้ว
ซึ่งเป็นเรื่องดีเสียอีกที่ทำให้เกิด "บูรณาการและลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงาน" ในการบริหารราชการแผ่นดิน
.......................
4. พ.ร.บ.งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันฯ จำนวน 3 หมื่นล้าน ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น
อันแรก งบหลักจำนวน 1.9 หมื่นล้าน เพื่อรักษาความปลอดภัย ดูแลและเทิดพระเกียรติตามงานพิธีหรือการรับแขกบ้านแขกเมืองของประมุขของรัฐนั้น มีในทุกประเทศ
(และมีมาตลอดอยู่แล้วในทุกรัฐบาล ทุกสมัย ก็ไม่เคยเห็นมีประเด็นอะไร ไม่ว่าจะยุคชวน บรรหาร ทักษิณ สมัคร อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ และคนก่อนๆ หน้านี้)
อีกส่วนที่เป็นงบเพื่อให้ส่วนราชการนำไปใช้ในการเทิดพระเกียรติ อันนี้สามารถถกเถียงในเรื่องความเหมาะสมได้ "ตามกลไกของรัฐสภา" เรามี ส.ส. เรามีผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ถกเถียง แย้ง และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมได้ในสภาฯ
แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่อง "ขยายอำนาจจนเกินขอบเขต" ดังที่อานนท์ และพวกพ้องนำมากล่าวหาสถาบันกษัตริย์แต่ประการใด
----------------------
อย่ากล่าวหาสถาบันฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือล้มรัฐบาล
----------------------
*** หากอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้น ให้สง่างามขึ้น ก็ทำไปครับ หารือและต่อสู้ตามกระบวนการ
วันนี้เรามี ส.ส. ตามระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องใช้กระบวนการสภาฯ ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกลไกในสภาเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันและเดินหน้าประเทศต่อได้
*** แต่อย่าเอาสถาบันกษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือ แล้วก็หยุดการกล่าวหา กล่าวโทษสถาบันกษัตริย์ได้แล้ว
สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว ทุกวันนี้การบริหารราชการแผ่นดิน ก็ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร การเข้ากฎหมายก็ผ่านทางกรรมาธิการในสภาฯ
ดังนั้นเลิกใช้มุกป้ายสี ถาบันกษัตริย์ให้เป็น "ปีศาจร้าย" แล้วชูตัวเองเป็นฮีโร่ผู้ปลดปล่อยเสียทีเถอะครับ
------------------------
ป.ล.การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ เป็นเรื่องถกเถียงพูดคุยกันได้ แต่ต้องกระทำบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และการเล่าความจริงที่ครบถ้วน ไม่ใช่การปั่นจากความจริงเสี้ยวเดียวหรือเล่นวาทกรรมทางการเมือง และทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นรอยัลลิสท์ หรือพูดแต่เทิดทูนสถาบันฯ แต่ทุกการวิเคราะห์วิพากษ์นั้น ควรจะอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและเหตุผลเป็นที่ตั้งเสมอ