- 12 ส.ค. 2563
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิจารณ์ตรง ๆ ผู้บริหารมธ.พลาดตั้งแต่ต้น ให้ม็อบจาบจ้วงใช้ชื่อ ธรรมศาสตร์
ถือเป็นวิกฤตศรัทธาสำคัญที่กำลังถาโถมสถาบันการศึกษาชั้นนำประเทศ อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังมีการปล่อยปะละเลยให้เกิดเหตุการณ์กระทบต่อสถาบันเบื้องสูง ในขณะที่ผู้บริหารอย่าง ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ชี้แจงว่าเป็นผู้อนุญาตให้จัดการชุมนุมได้ เนื่องจากเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ” พร้อมระบุไม่ได้มีการแจ้งว่าจะมีการปราศรัยหรือแสดงออกในประเด็นเรื่องอื่นแต่อย่างใด
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ธรรมศาสตร์แถลงการณ์ ม็อบมธ.เปิดเวทีละเมิดเบื้องสูง เป็นความผิดส่วนบุคคล จะเคร่งครัดไม่ให้เกิดซ้ำอีก )
ล่าสุด รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า "คงไม่ต้องพูดให้มากความว่าการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีจุดมุ่งหมายอะไร
เข้าใจได้ว่า จุดยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือ ต้องเปิดกว้าง ไม่ว่าจะกลุ่มไหน ยืนอยู่ฝ่ายใดในทางการเมือง ล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการขออนุญาตใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในกรณีการชุมนุมครั้งนี้ ผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ ไม่ใช่องค์กรใดๆในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่องค์การนักศึกษา ไม่ใช่สภานักศึกษา ไม่ใช่คณะหรือหน่วยงานใดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชื่อผู้จัดงานคือ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย แต่กลับใช้ชื่อการชุมนุมว่า “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”
เพียงแค่ชื่ออย่างเดียวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไม่น่าจะอนุมัติให้ใช้สถานที่ได้ เพราะเป็นการเอาชื่อธรรมศาสตร์ไปใช้ โดยพลการ เป็นการอ้างแบบตีขลุมว่าชาวธรรมศาสตร์โดยรวม อันหมายถึงผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาและศิษย์เก่า “จะไม่ทน” กับอะไรก็ตาม
ก่อนจะใช้ชื่อนี้ ผู้จัดเคยไปถามตัวแทนของชาวธรรมศาสตร์ประเภทต่างๆหรือไม่ว่าเขาคิดอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่
จริงๆแค่เห็นชื่อหัวข้อการชุมนุม และชื่อผู้ที่จะมาพูดบนเวที ก็บอกได้แล้วว่า จะพูดจะเกี่ยวกับอะไร ไม่เข้าใจว่าผู้ที่อนุมัติให้ใช้สถานที่ไม่ทราบได้อย่างไร ว่าจะมีการพูดจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อประมาณปีพ.ศ.2521 - 2528 เป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีรองอธิการบดีฝ่ายการนีกศึกษาที่ชื่อ รองศาสตราจารย์(ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น) นรนิติ เศรษฐบุตร ซึ่งผมทำงานเป็นผู้ช่วยท่านตลอดระยะเวลาดังกล่าว
ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ไม่นาน นักศึกษาจัดกิจกรรมการเมืองกันบ่อยมาก นักกิจกรรมในยุคนั้นจะรู้ดีว่า อ.นรนิติ ก่อนอนุมัติให้จัดกิจกรรมได้ จะต้องพูดคุยกับผู้จัดถึงเนื้อหา และชื่อผู้ที่จะขึ้นพูดว่ามีใครบ้าง มีการต่อรอง ผ่อนสั้นผ่อนยาวซึ่งกันและกัน แต่สิ่งที่ท่านเน้นย้ำมากที่สุดคือ อย่าได้มีใครพูดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอันขาด
เมื่ออนุมัติให้จัดแล้ว ท่านและผมก็จะอยู่ดูแลจนงานเลิก หากมีการพูดอะไรที่หมิ่นเหม่จะล้ำเส้น เราก็จะคอยปรามนักศึกษาทุกครั้ง ทำให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี เสมอ
กลับมากรณีการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อมีการพูดจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมายที่ชัดแจ้ง ควรหรือไม่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีคำอธิบายอย่างเป็นทางการต่อชาวธรรมศาสตร์ และต่อสังคมโดยรวมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไมจึงปล่อยให้ผู้จัดเอาชื่อธรรมศาตร์ไปใช้ได้ แทนที่จะมีเพียงท่านรองอธิการบดีท่านเดียวชี้แจงอยู่ใน face book ส่วนตัว ...... ผู้มีส่วนได้เสีย( stake holders) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนมากเขาอยากฟังครับ
ขณะที่ก่อนหน้านั้น รศ.หริรักษ์ ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ของหนึ่งในผู้ขึ้นปราศรัยในเวทีการเคลื่อนไหว ที่ถูกจัดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "เมื่อวานนั่งดูและฟังคลิปที่นาย อานนท์ นำภา ขึ้นพูดบนเวทีในม็อบ Harry Potter ที่บริเวณ อนุเสาวรีย์ประะชาธิปไตยเมื่อต้นเดือน
ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ บอกได้เลยว่า นายอานนท์ กล้ามาก ยังแปลกใจว่าทำไมที่ตำรวจจับกุมตัวและตั้งข้อหาต่างๆ แต่ไม่มีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
แม้ไม่สามารถนำมากล่าวในที่นี้ได้ แม้ไม่มีคำหยาบ แต่ที่นายอานนท์พูดทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตรงๆเกือบทั้งสิ้น ที่พูดขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็นเพียงข้ออ้าง ตั้งใจให้กระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่ต้องสงสัย
ผู้ที่เคยต้องโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้ที่หลบหนีไปต่างประเทศเพราะคดีดังกล่าวทั้งหมด สิ่งที่คนเหล่านี้พูดในที่สาธารณะ เมื่อเทียบกันแล้ว
กลายเป็นเรื่องเด็กๆ เมื่อเทียบกับที่นายอานนท์พูดในวันนั้น
ในขณะที่เริ่มมีกระแสคัดค้าน เรียกร้องให้หยุดการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีการเคลื่อนไหวในทำนองนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนมีคนเป็นห่วงว่าจะเกิดม็อบชนม็อบขึ้น จึงน่าคิดว่าแทนที่จะทำให้การจาบจ้วงลดลง กลับกลายเป็นมากยิ่งขึ้น
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ...เป็นไปไม่ได้ที่การเคลื่อนไหวที่เกิดอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่มีคนกลุ่มหนึ่ง ทำการวางแผน สร้างเครือข่าย สนับสนุน และขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลทางการเมืองตามที่คนกลุ่มนี้ต้องการ
เป็นไปได้หรือไม่ว่า เขาต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้นจริงๆ เป้าหมายสุดท้าย อาจไม่ใช่เพียงแค่แก้รัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ยุบสภา การเปลี่ยนรัฐบาลเป็นเพียงเป้าหมายเบื้องต้น เพื่อให้ได้อำนาจรัฐ จากนั้นจึงมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า
เชื่อได้เลยว่า ฝ่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่หยุดเพียงแค่นี้ จะมีการตอบโต้ กระทบกระทั่งกันจนอาจเกิดความรุนแรงระดับสงครามประชาชนขึ้น ที่น่าห่วงคือมันจะไม่ใช่สงครามประชาชนเพื่อล้มรัฐบาล หรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จะเป็นสงครามระหว่างประชาชน 2 ฝ่ายในลักษณะสงครามกลางเมือง
อย่าลืมว่า คำว่า ประชาชนที่ม็อบปลดแอก หรือม็อบ Harry Potter ชอบนำมาใช้กล่าวอ้าง แม้จะมีจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ คนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ต้องการไปแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์
สุดท้ายไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะได้รับความเสียหาย แต่เป็นประเทศชาติโดยรวม คิดแล้วน่าห่วง ในขณะที่เมื่อมองจากสายตา จะเห็นว่า การท่องเที่ยว และการค้าขายภายในประเทศ เริ่มจะคึกคักขึ้น แสดงถึงอาการของการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน ติดอยู่เพียงที่การแพร่ระบาดของ covid ในต่างประเทศยังไม่คลี่คลาย หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในระดับดังกล่าว ก็จะเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
หรือจะเอาแบบการปฏิวัติวัฒนธรรมของประเทศคอมมิวนิสต์บางประเทศ ที่ต้องทำลายทุกอย่างเสียก่อน จึงจะสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นได้ ....ประเทศเราจะเอากันอย่างนั้นหรือครับ
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : อดีตรองอธิการบดี มธ.เตือน 11 ข้อ ต้องรู้ให้จริงไม่โดนหลอก ก่อนร่วมม็อบปลดแอก ลามปามสถาบันฯ)