- 27 ส.ค. 2563
ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมเสนอร่างของพรรคฯแยกออกจากพรรคร่วมรัฐบาลในสัปดาห์หน้า ว่า เรื่องนี้เคยพูดไปแล้วก็เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ต่างคนต่างทำแยกกันไป ทำนองนี้ก็แล้วแต่พวกท่านจะแก้อย่างไรก็แก้มา แต่อย่าลืมว่าขั้นตอนของกฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น
ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมเสนอร่างของพรรคฯแยกออกจากพรรคร่วมรัฐบาลในสัปดาห์หน้า ว่า เรื่องนี้เคยพูดไปแล้วก็เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ต่างคนต่างทำแยกกันไป ทำนองนี้ก็แล้วแต่พวกท่านจะแก้อย่างไรก็แก้มา แต่อย่าลืมว่าขั้นตอนของกฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น
"ถ้ายังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญเก่า ก็ต้องไปดูว่าจะแก้กันอย่างไรถ้ามันแก้ผิดวิธี มันก็วุ่นไม่เลิก ก็ต้องแก้อยู่อย่างนี้แก้จนกว่าใครจะได้ประโยชน์ละมั้งผมว่า วันนี้ก็ต้องดูว่าเขาแก้เพราะอะไร มีการกันอะไรไว้หรือเปล่า ไม่ได้ทำเพื่อผมหรอก พูดกันไปกันมาเรื่อยเปื่อย ว่าทำเพื่อผม ความจริงบอกแล้วว่าที่ผมอยู่ทุกวันนี้ คือความรับผิดชอบของผมจนกว่าที่ผมจะไม่ได้อยู่”
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเสนอแก้ไขอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะเสนอไปอย่างไร เป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็เสนอแยกกันไปแต่ละพรรค ก็ไปพิจารณากันในสภา ไปถกแถลงและลงมติกัน ซึ่ง..ก็ต้องไปดูว่า ประชามติจะทำอย่างไร ต้องทำหรือเปล่า ใช้เวลาเท่าไหร่ท่านจะไปลบทั้งหมดมันไม่ได้ เพราะเป็นกลไกของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่
เมื่อถามว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามกลับว่า "แล้วจะไม่มี สว.หรือ ประเทศไทยไม่ควรมี สว. อย่างนั้นหรือ ในส่วนของอำนาจที่มีการเรียกร้องกันอยู่ในขณะนี้ก็ต้องมีการไปหารือกัน ก็ต้องมีการหารือกับจนได้ ไม่มีใครอยากโดนว่าหรือถูกตำหนิทุกวัน เพราะทุกคนก็ตั้งใจทำงาน แล้วบ้านเมืองมีความสงบสุขหรือไม่ ขอให้ไปดูตรงนั้น ที่ผ่านมาเคยมี สว.อีกประเภทหนึ่งแล้วเป็นอย่างไรลองเปรียบเทียบดู “อย่ามามองประเด็นเดียวว่าเขาสนับสนุนให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ประเด็นอื่นก็มีอีกเยอะแยะ ปัญหาเกิดขึ้นมากมายหลายประการ”
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ กรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ตัดสินใจเลื่อนการพิจารณางบจัดซื้อเรือดำน้ำ พร้อมกับการปล่อยข่าวว่ามีใบสั่งจากนักการเมือง ว่า เรื่องใบสั่งนักการเมืองเป็นเรื่องที่มีการพูดกันมาตลอด แต่โดยข้อเท็จจริงตนได้กล่าวไปปแล้วว่า เรื่องทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ตนไม่ได้ไปสั่ง ไม่มีใครสั่งหรอก ใครก็สั่งไม่ได้ และทราบว่าจะมีการพิจารณากันในวันที่ 28 ส.ค. ก่อนลงมติในวันที่ 31 ส.ค. ซึ่งคงต้องรอดูกันอีกที โดยรัฐบาลและตนในฐานะเป็น รมว.กลาโหม ได้เตรียมที่จะแก้ไขปัญหา ขอให้เดินทีละขั้นตอน การทำงานเป็นขั้นตอนแบบนี้
“ผมได้เคยพูดไปแล้ว และไม่เคยบอกว่าต้องดำเนินการให้ได้ แต่สื่อไปพาดหัวข่าวกันว่าต้องซื้อ ผมไม่ได้หมายความอย่างงั้น แต่ได้พูดถึงเหตุผลความจำเป็น และแหล่งที่มาของงบประมาณ ถ้าซื้อไม่ได้จะต้องเจรจากับจีนอย่างไร ผมก็ได้เตรียมแผนงานของผมไว้อย่างนี้ ทั้งนี้ เป็นการอนุมัติมาล่วงหน้าแล้ว ขั้นตอนนี้อยู่ในระดับที่ 2 ที่ 3 อย่างที่ว่าในเรื่องความจำเป็น การต่อเรือไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ ต้องมีการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ อะไรที่คุยไว้ จะผ่อนยืดระยะได้บ้างไหม ซึ่งตรงนี้ต้องคุยกัน มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ทำงานคนเดียว ฉะนั้น ทั้งหมดต้องรับผิดชอบด้วยกันอยู่แล้ว ในฐานะที่ผมเป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ และเป็น รมว.กลาโหมด้วย ขอแต่เพียงความเข้าใจ ไม่อยากให้เป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันอีก ถ้าขัดแย้งกันทุกเรื่องมันก็ไปไม่ได้หมดทุกอย่าง”
สำหรับกรณีกลุ่มไทยภักดี นัดจัดกิจกรรมในวันที่ 30 ส.ค. นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การเตรียมการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาล ตนไปห้ามใครไม่ได้ เหมือนกันในตอนนี้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องดูว่าใครทำผิดกฎหมายบ้าง ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินการ เว้นแต่คนดื้อต่อกฎหมายก็อีกเรื่องหนึ่ง ใช่หรือไม่ ฉะนั้นประชาชนส่วนใหญ่ขอให้ไตร่ตรอง และคิดพิจารณาดูว่าเราจะทำให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้อีกต่อไปหรือไม่ มันมีผลกระทบทั้งสิ้นด้วยคนเพียงไม่กี่คน ซึ่งอาจจะอยู่เบื้องหลังหรือไม่อยู่เบื้องหลัง ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งต้องว่ากันด้วยหลักฐาน วันนี้ถ้าเรายังทำเช่นนี้กันต่อไป ทุกคนไม่รักษากฎหมายแล้วมันจะอยู่กันอย่างไร ตนก็ไม่รู้"