- 11 ก.ย. 2563
ล่าสุด นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงจุดยืนพร้อมเชิญชวนศิษย์เก่าร่วมลงนาม ระงับการใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ โดยเตรียมเข้ายื่นเรียกร้องไปยังกรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องพิจารณาการใช้พื้นที่ของผู้ชุมนุมในครั้งนี้ ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ เวลา 16.00 น.
สืบเนื่องจากการที่ นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน รวมถึง น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง ตัวแทนกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ออกมาเคลื่อนไหว นัดหมายชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 โดยใช้ชื่อกิจกรรม "19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร" พร้อมระบุว่าจะเป็นการรวมตัวข้ามวันข้ามคืน กระทั่งต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดกิจกรรมได้จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามประกาศโดยถูกต้อง
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ประชาคมธรรมศาสตร์ นัดรวมตัวค้าน รับไม่ได้เพนกวิน ใช้มธ.ปลุกปั่น คุกคามสถาบันฯ )
ล่าสุด นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงจุดยืนพร้อมเชิญชวนศิษย์เก่าร่วมลงนาม ระงับการใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ โดยเตรียมเข้ายื่นเรียกร้องไปยังกรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องพิจารณาการใช้พื้นที่ของผู้ชุมนุมในครั้งนี้ ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ เวลา 16.00 น.
โดยนายแก้วสรร กล่าวว่า กลุ่มศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่ได้ลงนาม มีความเห็นชัดเจนว่านักศึกษา "กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ไม่มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบ รวมถึงความสามารถที่จะจัดการชุมนุมได้โดยสงบตามที่กล่าวอ้าง จึงต้องการให้ผู้ เกี่ยวข้องรับผิดชอบพิจารณา พร้อมระบุถึงร่างเหตุผล 5 ข้อ อาทิ การแถลงยืนยันของกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะเปิดชุมนุมนักศึกษาและประชาชนหนึ่งวันหนึ่งคืนก่อนเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลซึ่งคาดว่ามีคนเข้าร่วมถึง 40,000 คนนั้น จะขัดต่อข้อกฏหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมหรือไม่ พร้อมเปรียบเทียบถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาว่าในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ และมองว่า การใช้สถานที่ของนักศึกษา ที่ต้องเข้ามาชุมนุมในพื้นที่ของสถานศึกษาก็เพื่อเลี่ยงกฎหมาย
ส่วนกรณีที่บอกว่าจะชุมนุมโดยสงบนั้น นายแก้วสรร มองว่าเป็นการชุมนุมสงบแต่ปาก เพราะเห็นว่าที่ผ่านมามีการปลุกปั่นมาอย่างยาวนานบนโลกออนไลน์ ก่อนรวมตัวกันจริงๆบนท้องถนน จึงยากที่จะเชื่อหรือว่าคาดหวังในความสงบหรือการเจรจาตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมถึงไม่มีการกลั่นกรองข้อมูล เป็นม็อบที่ฉาบฉวย มีมาตรฐานต่ำกว่าประชาธิปไตย ต้องการจะเทมวลชนกดดันให้เกิดความรุนแรงคล้ายกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พร้อมถามม็อบหากเกิดความรุนแรงจะสามารถดูแลความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุมได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เห็นเลยว่าจะมีความสามารถในการนำควบคุมหรือจัดการคุ้มครองผู้ชุมนุม เห็นมีแต่ความสามารถทางวาทกรรม
ทั้งนี้เหตุผล 5 ข้อ ในการปฏิเสธคำขอใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อการชุมนุมทางการเมือง มีรายละเอียดดังนี้
1.เป้าประสงค์ โดยกล่าวถึงจุดยืนของนักศึกษา ที่ยืนยันว่าจะชุมนุม 1 วัน 1 คืน จากนั้นจะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลตัวเลขโดยประมาณอยู่ที่ 40,000 คนขึ้นไป เพื่อ"ต่อสู้สร้างแผลให้เผด็จการอย่างไม่รู้ลืม" และสัญญาว่า " พี่น้องจะไม่กลับมือเปล่าอย่างแน่นอน "
2.สงบแต่ปาก ศิษย์เก่ามองว่าขบวนที่จะมารวม เป็นมวลชนแห่งความจงเกลียดจงชัง ที่ผ่านการปลุกปั่นมายาวนานในโลกไซเบอร์ เมื่อออกจากทวิตเตอร์มารวมตัวกันบนท้องถนนจะก้าวร้าว จนยากที่จะเชื่อว่ามีความสงบและการเจรจากันคามวิถีประชาธิปไตยได้
3.สุ่มเสี่ยงสูงสุด มองว่านักศึกษากลุ่มนี้ยังไม่มีความสามารถในการนำ ควบคุม จัดการ คุ้มครอง ผู้ชุมนุมได้ มีแต่ความสามารถทางวาทะกรรม โดยเฉพาะการวางแผนว่าจะนำขบวนไปทำเนียบรัฐบาลก็ยิ่งน่าห่วงว่าจะได้เห็นร่างวีรชนต้องจากไปอีกหลายสิบคนเหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
4.ไว้วางใจไม่ได้ กลุ่มศิษย์เก่าเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่นักศึกษากลุ่มนี้จะมีการนำและการจัดการโดยอิสระ แทนที่จะประกาศรวมตัวให้ปรากฎเป็น "แนวร่วมต่อต้านผด็จการ" ที่โปร่งใสชัดเจน ชัดทั้งการนำและอิสระทางการเมืองตลอดจนที่มาของค่าใช้จ่ายและจุดแห่งชัยชนะที่ต้องการ พวกเขากลับดันให้เด็กนักศึกษาไม่กี่คนมาออกหน้า เนื่องจากกฎหมายชุมนุมสาธารณะได้ยกเว้นไม่ให้นำมาตรการตรวจสอบมาใช้กับการชุมนุมในสถานศึกษา จนเปิดช่องให้มีการวางแผนเลี่ยงกฎหมาย โดยขอจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยซ่องสุมกำลังก่อน แล้วยกขบวนออกไปนอกมหาวิทยาลัย
5.ธรรมศาสตร์มีส่วนร่วมด้วยไม่ได้ ศิษย์เก่าเห็นว่าคำขอจัดชุมนุครั้งนี้ไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ไม่มีความสามารถและความรับผิดชอบที่ต่ำกว่ามาตรฐานประชาธิปไตย จนไม่อาจรับรองให้ชุมนุมโดยอิสระในสถานศึกษาได้
รวมถึงยังมองว่ากลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ต้องกล้าที่จะประกาศรวมตัวให้ปรากฏเป็น "แนวร่วมต่อต้านเผด็จการ" ที่โปร่งใสชัดเจน เป็นอิสระทางการเมือง มากกว่าการถูกชักนำด้วยบุคคลอื่นที่ดันให้เด็กนักศึกษาไม่กี่คนออกหน้า เพื่อเลี่ยงข้อกฎหมายการชุมนุมสาธารณะที่ได้ยกเว้นไว้ จึงเชื่อว่าจะต้องมีผู้อยู่เบื้องหลังม็อบเยาวชนกลุ่มนี้แน่นอน
อย่างไรก็ตามนายแก้วสรร กล่าวย้ำว่า เผด็จการไม่ได้มีแค่ในทหาร แต่เผด็จการ สามารถ อยู่ในกลุ่มคนในบริบท อื่นๆ ได้ อาทิ การไม่รับฟังความเห็นต่าง หรือ ยอมรับสิทธิ์คนอื่น ก็เรียกว่าเผด็จการได้เช่นกัน ทั้งนี้ตนไม่ปฏิเสธความเห็นหรือการปราศรัย แต่การใช้สิทธิ์ชุมนุมแบบนี้ อาจทำให้ประเทศชาติเสียหาย