- 19 ต.ค. 2563
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พูดถึงกรณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว เเสดงความคิดเห็นทางการเมือง
วันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว “ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของประชาชนไทย” โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมการแถลงข่าว
โดย นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน ตั้งเป้าหมายครอบคลุมร้อยละ 50 ลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้โดยเร็วที่สุด โดย "ทีมประเทศไทย" กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันเร่งรัดการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ใน 3 แนวทาง เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 สำเร็จแล้วประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ ทั้งการจัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองล่วงหน้าผ่าน COVAX Facility และการตกลงแบบทวิภาคี (Bilateral Agreement), การเจรจาขอความร่วมมือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด 19 จากต่างประเทศ และการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศ
สำหรับการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 7 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ mRNA, DNA, Viral-like particle (VLP), Protein Subunit, Viral vector, Inactivated และ Live attenuated จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และมหาวิทยาลัย โดยการวิจัยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 มี 3 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนชนิด DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช (Plant based) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งผู้วิจัยได้หารือกับหน่วยงานด้านควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนโควิด 19 อยู่บนกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือหรือพัฒนาศักยภาพในด้านการขยายขนาดการผลิต (scale up pilot plant) เพื่อทำการผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในมนุษย์ตามแผนที่วางไว้คือ ในไตรมาสแรกของปี 2564
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังได้พูดถึงกรณีที่ทาง นายเเพทย์ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว เเสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยืนยืนไม่มีการสั่งย้าย นายเเพทย์ สุภัทร ตามที่มีกระเเสข่าวมาก่อนหน้านี้ พร้อมเผยว่า จะไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของแพทย์เเละบุคลากรทางการเเพทย์ สามารถแสดงความเห็นทางการเมือง เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ แต่ขอให้ระมัดระวังถึงบทบาทของข้าราชการ เชื่อว่าแพทย์ และบุคลากรการแพทย์ไม่เอาอารมณ์ต่างๆมาเกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ป่วย ขอคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ในการให้บริการประชาชน