- 27 ต.ค. 2563
ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินหน้าชงแต่งตั้งกมธ.วิสามัญ ตรวจสอบข้อบกพร่อง กรณีเส้นทางขบวนเสด็จฯ วางเป้าหมายต้องหาคนรับผิดชอบ หนีไม่พ้นรัฐบาล สงสัยมีเจตนาให้่เกิดเหตุการณ์หรือไม่
ภายหลังจาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จ และการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ทั้งนี้เพื่อทำความจริงในทุกแง่มุมให้ปรากฏ พร้อมหลักฐานอย่างสิ้นข้อสงสัย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกล่าวหากันไปมา โดยที่ยังไม่มีกระบวนการในการสืบหาข้อเท็จจริง สอดรับกับท่าทีของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าที่ตั้งข้อคำถามถึงเส้นทางขบวนเสด็จฯ มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลต่อผู้ชุมนุมหรือไม่
( คลิกอ่านข่าวประกอบ : พรรคก้าวไกล ชงผุดกมธ.ตรวจสอบกรณีขบวนเสด็จฯ ตามแนวปิยบุตร เคยตั้งธงสงสัย )
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พร้อมด้วย น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม , นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย และ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ร่วมแถลงข่าวเสนอ 2 ญัตติด่วน คือ 1. ญัตติเสนอตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องในกรณีกำหนดเส้นทางขบวนเสด็จและถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยมีพล.ต.ต.สุพิศาล และน.ส.สุทธวรรณ เป็นผู้เสนอญัตติ และ 2. ญัตติเสนอตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 15-22 ต.ค. รวม 8 วัน โดยทางด้าน นพ.เอกภพ เป็นผู้เสนอญัตติ
ทั้งนี้ พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวอ้างว่า การเสนอญัตติตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องในกรณีกำหนดเส้นทางขบวนเสด็จฯ เป็นไปเพื่อต้องการทราบสาเหตุที่อุบัติขึ้น เพราะไม่ใช่อุบัติเหตุแน่นอน เนื่องด้วยรัฐเป็นผู้ควบคุม จึงมีข้อคำถามว่ามีความตั้งใจ ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหา ว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่รับผิดชอบหรือไม่ โดยจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีเอง เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ก็มีการพูดถึงภารกิจการปกป้องสถาบัน เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยและอารักขาขบวนเสด็จฯ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค. เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ต้องมีการค้นหา ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ทั้งพยานเอกสาร บุคคล และวัตถุพยาน และพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ ว่า เป็นความบกพร่องอย่างไร
“เอกสารที่สำคัญคือหมายกำหนดการ จากนั้นก็เป็นขบวนการของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ มีการประชุมกำหนดแผนงานอย่างไร ซึ่งผมยอมรับว่ารู้เรื่องนี้ดีพอสมควรและด้วยความสามารถของพรรคก้าวไกล จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องนี้ใครจะต้องรับผิดชอบ เพราะในเนื้อหาของการปฏิบัติภารกิจ คนที่เป็นตำรวจนครบาลและมีภารกิจในการถวายอารักขา ย่อมรู้ดีว่าเรื่องนี้เป็นข้อบกพร่องของใคร ตนจะบอกว่าคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือรัฐบาลและจะต้องแยกออก อะไรที่กระทำความผิดมิบังควรและการกระทำผิดอาญาให้ชัดเจน ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ส.ส.ทุกคน รับร่างญัตตินี้ไปศึกษาร่วมกันเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศของพระองค์ท่านอย่างสูงสุดอย่างเท่ากัน”
ขณะที่ นพ.เอกภพ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะเสนอญัตติตั้งกมธ.พิจารณาข้อเท็จจริงตรวจสอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กทม. ที่นำมาสู่การใช้กำลัง และคุกคามสิทธิเสรีภาพผู้ชุมนุม เพระเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการสากล และตรวจสอบต้นเหตุ เหตุผล และที่มาของการประกาศว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การไล่ละเมิดสิทธิ และการจับกุมผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลถูกต้องหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ ว่าใช้ไปอย่างไร กับเหตุผลใดบ้าง เช่น เบี้ยเลี้ยงกำลังพล วัสดุอุปกรณ์ ไปจนถึงการชดเชยความเสียหายจากการสั่งปิดการขนส่งสาธารณะ พรรคก้าวไกลมองว่า ประเทศไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หลายครั้งก็จริง แต่สภาไม่เคยได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ จึงขอเชิญชวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนของประชาชนร่วมหาข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงในอนาคตต่อไป
ในช่วงท้ายนายณัฐชา ระบุว่า อยากเรียกร้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนออกมาตามหาความจริง นำข้อมูลขึ้นมาเปิดเผยสู่สาธารณะ ทุกฝ่ายจะต้องพูดข้อมูลเดียวกัน เพื่อลดความขัดแย้งจากต้นเหตุ เพราะจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายพุ่งเป้าโจมตีพี่น้องประชาชนที่ออกมาชุมนุม เราจึงควรทำให้ความจริงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าต้นเหตุของปัญหาคืออะไร อย่างไรก็ตามวันนี้ พรรคก้าวไกล จะยื่นญัตติด่วนทั้ง 2 ญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาการประชุมสมัยสามัญที่จะเปิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยญัตติดังกล่าวจะนำมาพิจารณาได้ต้องขึ้นอยู่กับเสียงโหวตในสภาเกินกึ่งหนึ่ง