- 26 ม.ค. 2564
26 มกราคม 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง บัณฑิต จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัติริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาของขบวนการประชาธิปไตยใหม่เรื่องรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2558
เพจเฟซบุ๊ก iLaw ได้มีรายงานข่าวว่า 26 มกราคม 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง บัณฑิต จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัติริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาของขบวนการประชาธิปไตยใหม่เรื่องรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2558
บัณฑิต เดินทางมาถึงศาลอาญาเวลาประมาณ 8.40 น. ด้วยรถพยาบาล เนื่องจากมีอาการความดันโลหิตสูง โดยมี “แหวน” ณัฏฐธิดา พยานคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 และเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งมาคอยดูแล นอกจากนี้ก็มีผู้มาร่วมให้กำลังใจบัณฑิตอีกห้าถึงหกคน
.
หลังขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 907 ได้ครู่หนึ่งบัณฑิตรู้สึกไม่สบายจนต้องนอนเหยียดยาวบนเก้าอี้ ต่อมาเมื่อเขารู้สึกค่อยยังชั่วก็กลับมานั่งตามปกติ หลังเวลา 9.00 น. ตัวแทนจากสถานทูตเช่น สเปน ฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร โปแลนด์ และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย โดยในคดีนี้ ก่อนที่ศาลจะขึ้นบัลลังก์จะสังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลเดินมาดูที่หน้าห้องพิจารณาคดีเป็นระยะขณะที่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ก็มาสอบถามว่ามีใครเป็นสื่อมวลชนบ้าง ระหว่างที่รอศาลออกนั่งบัลลังก์ บัณฑิตยังได้นำหนังสือที่ตัวเองเป็นผู้เขียนและแปล มาแจกให้กับตัวแทนจากสถานทูตต่างๆและผู้ที่มาให้กำลังใจอีกด้วย
.
ศาลออกนั่งบัลลังก์ในเวลา 10.45 น. และได้เริ่มอ่านคำพิพากษาซึ่งสรุปได้ว่า
.
ถ้อยคำตามฟ้องของจำเลยไม่ได้มีการพูดคำหยาบคาย ไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลใดเป็นการเฉพาะเจาะจง พยานโจทก์ปากตำรวจสืบสวนที่อยู่ในที่เกิดเหตุก็เคยให้การไว้กับพนักงานสอบสวนรวมสามครั้ง แต่ให้การแตกต่างกันโดยครั้งแรกให้การว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ครั้งที่สองให้การว่าคำพูดของจำเลยมีลักษณะหมิ่นเหม่ และครั้งที่สามจึงให้การว่าคำพูดของจำเลยเป็นความผิด
.
ขณะที่คำให้การของพยานโจทก์อีกปากหนึ่ง เบิกความตอบโจทก์ว่าคำที่จำเลยกล่าวน่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะคำที่จำเลยกล่าวไปพ้องกับคำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทซึ่งเป็นคำที่ใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่เมื่อตอบคำถามค้านของทนายจำเลยกลับเบิกความว่าคำว่าฝุ่นละออง เป็นคำที่ใช้ทั่วๆไป และคำว่า คนบางคน ก็ไม่ได้มีการระบุว่าหมายถึงบุคคลใด การอ่านถ้อยคำทั้งหมดจำเป็นจะต้องมีการแปลความหมายอีกครั้งหนึ่ง เช่นนี้ คำให้การของพยานโจทก์ปากนี้จึงมีลักษณะกลับไปกลับมา
.
ขณะที่จำเลยนำสืบว่าที่พูดถ้อยคำตามฟ้องออกไปว่า "คุณค่าความเป็นคนและศักดิศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดินต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองใต้เท้าของคนบางคน" มีเจตนาสื่อว่าต้องการเห็นคนไทยมีศักดิศรีที่เท่าเทียมกัน โดยจำเลยเคยอ่านเจอในหนังสือที่เขียนโดย เดือน บุนนาค ที่บอกว่า คนจีนเป็นคนเห็นแก่ตัว จะเอาประโยชน์จากใครก็เรียกว่า นายเท้า ใต้เท้า อีกทั้งจำเลยไม่ได้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาล 9
.
พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควร ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าให้ยกประโยชน์ความแห่งสงสัยแก่จำเลย พิพากษายกฟ้อง
.
หลังจากฟังคำพิพากษาเสร็จ ก่อนเดินทางกลับ บัณฑิตได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆว่า “จบแล้ว ทั้งหมด 4 คดี ที่ศาลพิพากษายกฟ้องวันนี้ ถือว่าควมยุติธรรมยังมีอยุ่ในแผ่นดินนี้ ต้องสรรเสริญ ตอนนี้แผ่นดินต้องการความสามัคคีที่สุด แล้วพูดความจริงออกมา” สุดท้ายบัณฑิตบอกว่าจะอยู่ถึง 121 ปี
.
สำหรับเหตุแห่งคดีนี้ เกิดจาก การที่บัณฑิตไปร่วมการเสวนาของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่จัดขึ้นในวันที่ 12 กันยายน 2558 ระหว่างการเสวนาบัณฑิตซึ่งนำหนังสือมาขายในงานยกมือขอแสดงความคิดเห็นโดยสรุปได้ว่า มนุษย์ทุกคุนมีคุณค่าและศักดิศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันและมนุษย์ไม่ใช่ฝุ่นละออง หลังแสดงความคิดเห็นบัณฑิตถูกเจ้าหน้าที่สน.ชนะสงครามพาตัวไปปรับทัศนคติและปล่อยตัวกลับบ้านโดยชั้นแรกเจ้าหน้าที่เห็นว่าแม้คำพูดของบัณฑิตอาจจะดูไม่เหมาะสมแต่ก็ไม่ได้พูดเจาะจงว่าหมายถึงบุคคลใด แต่ในภายหลังเห็นว่าคำพูดของบัณฑิตน่าจะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จึงได้ขอศาลออกหมายจับและทำการจับกุมบัณฑิต
.
++++++++++++++
คดีประมวลกฎหมญามาตรา 112 ของบัณฑิตคดีนี้นับเป็นคดีที่สามที่ศาลมีคำพิพากษา โดยคดี 112 คดีแรกของบัณฑิตเกิดในปี 2546 จากการที่บัณฑิตไปฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในงานเสวนาหัวข้อกฎหมายพรรคการเมืองที่จัดโดยกกต.โดยที่ได้นำเอกสารที่ตัวเองจัดทำขึ้นไปจำหน่ายและแสดงความคิดเห็นทำนองว่า ในห้องพิจารณาของศาลยุติธรรมตราชูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรมควรเป็นเป็นสิ่งเดียวที่ถูกแขวนไว้ในห้องพิจารณาคดี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกกต.ในขณะนั้นเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับเขา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยที่ต่อมาอัยการฟ้องบัณฑิตว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 รวม 2 กรรม
.
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุด ลงโทษจำคุกบัณฑิตในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯรวมสองกระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปีแต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปีและให้คุมประพฤติ โดยให้จำเลยมารายงานตัวทุกสามเดือน
.
คดีที่สอง เหตุเกิดในเดือนพฤศจิกายน 2557 หลังคสช.ยึดอำนาจแล้ว บัณฑิตไปฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานเสวนาของพรรคนวัตกรรม เขาถูกเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมระหว่างที่ยังแสดงความคิดเห็นไม่จบ โดยบัณฑิตกล่าวทำนองว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากเกิดจากการที่คนมีความเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่แตกต่างกัน บัณฑิตยังไม่ทันพูดประโยคที่สองต่อเขาก็ถูกควบคุมตัวเสียก่อนและถูกนำตัวไปตั้งข้อกล่าวหาที่สน.สุทธิสาร เบื้องต้นคดีนี้ถูกฟ้องในศาลทหารกรุงเทพ ก่อนจะโอนย้ายมาพิจารณาต่อที่ศาลอาญาในเดือนกรกฎาคม 2562 และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องบัณฑิตในเดือนสิงหาคม 2563 โดยให้เหตุผลว่า
.
ในวันเกิดเหตุบัณฑิตได้พูดจบเพียงประโยคที่หนึ่ง และกำลังจะเริ่มพูดประโยคที่สอง แต่ยังไม่ทันได้พูด ก็ถูกควบคุมตัวและหยุดพูด ข้อความตามคำฟ้องเป็นเพียงประโยคและวลีที่ยังไม่จบ พฤติการณ์ยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่าการกระทำของเขาเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
.
บัณฑิตนับว่าโชคดีกว่าจำเลยคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ เนื่องจากระหว่างการสู้คดีเขาได้รับการประกันตัวมาโดยตลอดต่างจากจำเลยหลายๆคนที่ไม่ได้รับการประกันตัว แต่ระหว่างที่ถูกพิจารณาคดีที่ศาทหารเขาก็เคยถูกส่งตัวไปรับการรักษาอาการป่วยจิตเภทที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพราะบัณฑิตมีประวัติเป็นโรคจิตเภท ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ศาลฎีกาให้รอลงอาญาโทษจำคุกเขาในคดี 112 คดีแรก อย่างไรก็ตามในคดีแสดงความคิดเห็นในงานเสวนารัฐธรรมนูญ บัณฑิตเบิกความยืนยันต่อศาลว่าเขาไม่ได้ป่วยและเมื่อเขาถูกพาตัวไปรับการรักษาเขาก็ไม่กินยาตามคำสั่งแพทย์
.
ปัจจุบันแม้บัณฑิตจะอายุย่างเข้าแปดสิบปีและต้องปัสวะใส่ถุงเพราะเขาเป็นมะเร็งต้องตัดกระเพาะปัสสาวะออกข้างหนึ่งแต่เขายังคงไปปรากฎตัวตามการชุมนุมอยู่ตลอดและนำเสื้อกับย่ามเขียนข้อความเช่น "ความเป็นธรรมย่อมอยู่เหนือทุกสถาบัน" และ "ทำอะไรทำให้เป็น เป็นอะไรเป็นให้จริง" ซึ่งเป็นเสมือนคติประจำตัวเขาไปขายซึ่งปรากฎว่าในช่วงที่มีการชุมนุมแฟลชม็อบในปี 2563 ย่ามและเสื้อ "ความเป็นธรรมย่อมอยู่เหนือทุกสถาบัน" ก็ได้รับความสนใจจากนักเรียนนักศึกษาที่ไปร่วมการชุมนุมอยู่บ้าง