- 06 ส.ค. 2564
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้ถึงเวลาพูดความจริงกับประชาชน โควิด-19 เข้าสู่ภาวะวิกฤต ปลาย ก.ย.อาจติดเชื้อแตะวันละ 50,000 คน ผู้เสียชีวิตรายวันอาจจะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 400 คน
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 64 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit ในหัวข้อ "ปัจจุบันและอนาคตประเทศไทยใต้โควิด" ถึงสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ของอัตราการระบาดของโรคในอีก 2 เดือนข้างหน้า
โดย นายธนาธร ได้ระบุว่า ตนมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย และรัฐต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและเท่าทันถึงสถานภาพของปัญหานั้น ๆ โดยมีสติแต่ไม่ตื่นตระหนก ซึ่งความจริงที่ต้องพูดให้ชัดในวันนี้ ก็คือสถานการณ์โควิดของประเทศไทยอาจจะเลวร้ายกว่านี้ในไตรมาสที่สามของปี 2564
ต้องลดอัตราติดเชื้อลงให้ได้ถึง 50% ก่อนต้น ก.ย. - หวั่นแนวโน้มติดเชื้อพุ่ง 5 หมื่น-ตาย 400 ต่อวัน
จาก Google Mobility Trend และ Facebook Movement Range Map ซึ่งเป็นข้อมูลที่ Facebook และ Google เปิดเผยแนวโน้มการเดินทางของประชากรจากสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้แอพพลิเคชั่น มาแสดงให้เห็นว่าประชาชนคนไทยเดินทางออกนอกบ้านมากขึ้นหรือน้อยลงเท่าไหร่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลังสถานการณ์โควิดและการล็อกดาวน์รอบแรก คนไทยเดินทางน้อยลงประมาณ 35% จากสถานการณ์ปกติ เมื่อมาถึงระลอกที่สองประชากรมีการเดินทางน้อยลงประมาณ 20% จากสถานการณ์ปกติ จนมาถึงล็อกดาวน์ครั้งปัจจุบัน ประชากรเดินทางลดลง 30% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรี่ยบเทียบกับแบบจำลองอนาคต ที่จัดทำขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะพบว่ามีความแปรผันสอดคล้องกันในระดับหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นว่าอัตราการแพร่ระบาดสามารถลดลงได้เมื่อประชากรจำกัดการเดินทางลง
สิ่งที่น่ากังวล คือจากข้อมูลของแบบจำลองอนาคตนี้ หากเราสามารถลดการติดเชื้อได้เพียงแค่ 20% จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะขึ้นไปถึง 50,000 คนในปลายเดือนกันยายน หากลดการแพร่ระบาดได้ 25% จำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 35,000 คนต่อวันในปลายเดือนกันยายน แต่ในอัตรานี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลดลงในปลายเดือนสิงหาคม และอาจเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากการหยุดล็อกดาวน์ในเดือนกันยายน
หากลดการแพร่ระบาดได้ 25% จำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 35,000 คนต่อวันในปลายเดือนกันยายน แต่ในอัตรานี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลดลงในปลายเดือนสิงหาคมและอาจเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากการหยุด "ล็อกดาวน์" ในเดือนกันยายน แต่หากสามารถลดการแพร่เชื้อได้ 45-50% ขึ้นไป จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะเหลือเพียงแค่ 4,000-5,000 คนและจะอยู่ในระดับคงที่หลังจากการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง
นายธนาธร ยังกล่าวต่ออีกว่า ในแง่ของความต้องการเตียง แบบจำลองอนาคตนี้บ่งชี้ว่าปัจจุบัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงอยู่ที่ประมาณ 200,000 คน หากลดการแพร่ระบาดได้เพียง 20% จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงอาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 500,000 คนในเดือนกันยายน แต่หากลดการแพร่ระบาดได้ถึง 50% จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียง อาจะจะลดลงเหลือ 84,500 คนได้
ในแง่ของจำนวนผู้เสียชีวิตก็เช่นกัน หากลดการแพร่เชื้อได้เพียง 20% ผู้เสียชีวิตรายวันอาจจะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 400 คนต่อวันในเดือนกันยายน แต่หากลดการแพร่ระบาดลงได้ถึง 50% จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันอาจจะอยู่ที่ระดับ 100 คนต่อวันในเดือนกันยายน
วัคซีนกำลังจะหมดประเทศ ถ้าล็อตใหม่ไม่เข้าเร็วๆนี้ จะเหลือฉีดได้อีกแค่ 3-4 วัน
นายธนาธร ต่ออีกว่า สถานการณ์วันนี้จึงขึ้นอยู่กับวัคซีน ว่าจะฉีดให้ครบจำนวนที่เพียงพอได้เมื่อไหร่ ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม มีประชากรไทยที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วเป็นจำนวน 3.9 ล้านคน หรือ 6% ของจำนวนประชากร คนที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดสมีจำนวน 21.5% ของจำนวนประชากร หรือ 14.2 ล้านคน ซึ่งหากเราต้องการไปถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 จะต้องฉีดให้ได้ 5.47 แสนโดสต่อวัน ในทุกวันที่เหลือนับตั้งแต่วันนี้
ปัญหาก็คือวัคซีนที่ได้รับจัดสรรอยู่ในประเทศไทยมีทั้งหมด 18.9 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 18.1 ล้านโดส หมายความว่าประเทศไทยเหลือวัคซีนอยู่อีกเพียงประมาณ 8 แสนโดส ถ้าฉีดในอัตราปัจจุบัน คือประมาณ 2 แสนกว่าโดสต่อวัน เราจะสามารถฉีดได้อีกเพียง 3-4 วันเท่านั้น
ถ้าไม่มีวัคซีนล็อตใหม่เข้ามา เราจะไม่สามารถเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ให้กับประชากรได้เลย การฉีดวัคซีนได้ช้าก็จะส่งผลให้เราต้องอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ และการแพร่ระบาดรอบใหม่อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเราจะควบคุมการแพร่ระบาดรอบนี้ไปได้