- 17 ส.ค. 2564
ศาลยกคำร้องประกันตัว ไผ่ ดาวดิน เเม้ไม่ผิดเงื่อนไข เเต่เป็นการก่อให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย ถือว่าเป็นการก่ออันตรายประการอื่น หลังอัยการยื่นถอนประกัน
จากกรณีเมื่อวานนี้ (16 ส.ค.) ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ใน 2 คดี ประกอบด้วย คดีสาดสีใส่รั้วพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค.และสาดสีใส่ป้าย สน.ทุ่งสองห้อง วันที่ 3 ส.ค. หลังจากตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง และ สน.บางเขน ยื่นฝากขังครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ส.ค.และศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น
ล่าสุดที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำสั่งขอปล่อยชั่วคราว ของนายจตุภัทร์ หรือ "ไผ่ ดาวดิน" เป็นจำเลยคดีปักหมุดสนามหลวง ในความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ,116 ภายหลังศาลอาญามีคำสั่งถอนประกัน เนื่องจากอัยการสำนักงานพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นคำร้องว่าจำเลยกระทำผิดเงื่อนไข
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานจำเลย และโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยทำกิจกรรมใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบัน
หลังจากนั้นจำเลยถูกดำเนินคดีอีก 11 คดี ส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่า ผิดต่อข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีปัญหาว่า มีเหตุอันควรเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ เห็นว่า การเข้าร่วมชุมนุมที่บุคคลอื่นจัดขึ้นที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 บนถนนวิภาวดี-รังสิตนั้น
พ.ต.อ.เทิดไทย สุขไทย พยานโจทก์ตอบคำถามค้านของจำเลย โดยรับว่าจำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมของบุคคลอื่น และพยานโจทก์ปากนี้ยอมรับว่า ความหมายของคำว่าเขตพระราชฐานตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ หมายถึงที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าประทับอยู่เท่านั้น
ส่วนกรมทหารราบที่ 1 ไม่ใช่สถานที่ที่พระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่ เห็นว่าความหมายของคำว่า ราชฐานตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า อาณาบริเวณที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 7 บัญญัติห้ามการชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวังพระราชวังวังของพระรัชทายาท หรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์พระตำหนักหรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประทับหรือพำนัก
ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นการห้ามชุมนุมในสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ใช้เป็นที่ประทับ เมื่อพื้นที่กรมทหารราบที่ 1 ไม่ใช่ที่ประทับ จึงไม่เป็นสถานที่ต้องห้ามสำหรับการการชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมหน้าสถานที่ดังกล่าว จึงไม่ใช่การกระทำการอันกระทบถึงสถาบันฯ
นอกจากนี้โจทก์มิได้มีข้อกล่าวหาใดว่า จำเลยกระทำการอันไม่บังควร จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 7 ไม่ได้กระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบัน
แต่รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยได้ทำการชุมนุมหลายครั้ง โดยในการชุมนุมจะมีการปราศัย และบางครั้งมีการสาดสีใส่ป้าย หรือสถานที่ของพรรคการเมือง หรือสถาบัน หรือสถานีตำรวจดังกล่าว โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกฯ ร่วมประชุมปรึกษาคดีแล้ว มีมติว่า แม้ว่าจำเลยจะมิได้กระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลนี้กำหนด แต่หลังได้รับการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง จนนำไปสู่การดำเนินคดีอาญา ทำให้เกิดความเสียหายเป็นการก่อให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย พอจะถือว่าเป็นการก่ออันตรายประการอื่น ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1(3 ) อันเป็นเหตุที่ศาลจะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวได้ทันที โดยไม่ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยทราบล่วงหน้า
แต่อย่างใด การที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดีนี้ จึงชอบแล้วให้ยกคำร้องส่วนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
นอกจากนี้ศาลอาญายังได้ยกคำร้องขอประกันตัวในชั้นฝากขังอีก 2 สำนวน ประกอบด้วยสำนวนหมายเลขดำ ฝ.857/2564 (ผตห.ไผ่กับพวกรวม 3 คน) เเละสำนวน หมายเลขดำ ฝ.858/2564 (ผตห.ไผ่กับพวกรวม 4 คน)
โดยให้เหตุผลลักษณะเดียวกันกับคดีดำอ.287/2564 (ปักหมุด)