"พิธา"เปิดเหตุผล ประเทศไทยต้องปฏิรูป"อำนาจ"เป็นอันดับแรก

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาโพสต์ข้อความในหัวข้อ "ปรอทความสามารถของรัฐบาลมาถึงขีดสุด ประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ยึดโยงกับประชาชน"

โดยนาย"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ได้ระบุข้อความว่า

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสร่วมเสวนาในงาน The Standard Economic Forum 2021 ร่วมกับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์เร่งด่วนและระยะยาวในการปฏิรูป”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ในระยะเร่งด่วน ผมได้ให้ความเห็นว่าในเวลานี้ทั้งปรอทความลำบากของประชาชนกับปรอทศักยภาพของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหามาถึงขีดสุดทั้งคู่ ประชาชนลำบากจากทั้ง โควิด น้ำมันแพง ปุ๋ยแพง ค่าครองชีพแพง หนี้ท่วม ข้าวถูก น้ำท่วม แต่รัฐบาลพอจะแก้ปัญหา ก็ลดภาษีน้ำมันเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ เพราะขาดรายได้มาก จะประกันรายได้เหมือนเมื่อก่อนก็ติดกรอบวินัยการคลัง จะเยียวยาภัยพิบัติก็ต้องรอสำรวจความเสียหายนับเดือน

ในระยะยาว ผมได้ให้ความเห็นว่าตอนนี้ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศมาถึงทางตัน แต่หนทางข้างหน้ามีกับระเบิดอยู่เต็มไปหมดที่ต้องรีบปลดชนวน ทั้งสังคมสูงวัยที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมหมดเงินในอีก 25 ปีข้างหน้า ภาวะโลกร้อนที่จะทำให้รุ่นลูกของเรามีโอกาสเจอภัยพิบัติมากกว่ารุ่นผม 7 เท่า ไปจนถึงวิกฤติโรคระบาดที่ตอนนี้ Global Pandemic ยังไม่จบและจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

กับระเบิดที่รอเราอยู่ช้างหน้าคือความจริงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ประเทศของเรากำลังกอดอดีตเอาไว้แน่น และปราบปรามคนเห็นต่างที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้น ประเทศจะปลดล็อกศักยภาพการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ และจะเร่งปลดชนวนระเบิดที่รออยู่ข้างหน้าได้ สิ่งแรกที่ต้องปฏิรูปคือการเมือง เราต้องยุติการดำเนินคดีความทางการเมืองทั้งหมดเนื่องจากไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแท้จริง เพื่อให้รัฐบาลยึดโยงกับประชาชน จึงจะแก้ความท้าทายที่มากมายขนาดนี้ได้

เมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลง รัฐบาลที่มีความยึดโยงกับประชาชนก็จำเป็นต้องสยบปัญหาเฉพาะหน้าของพี่น้องประชาชนให้ได้ ทั้งในเรื่อง ภัยพิบัติ ข้าว น้ำมัน ปุ๋ย หนี้สิน สิ่งที่รัฐทำได้ทันทีคือการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้สามารถใช้ดาวเทียมสำรวจความเสียหาย ซึ่งจากการศึกษาของ TDRI ถึงแม้ความแม่นยำเพียง 83-87% แต่ก็จะช่วยลดระยะเวลาการสำรวจจาก 95-115 วันเหลือ 5 วัน ลดงบประมาณสำรวจจาก 300 ล้านบาทเหลือ 60 ล้านบาท ช่วยลดต้นทุนการบริหารกระแสเงินสดของเกษตรกร 3,200 ล้านบาทต่อปี

สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนในหัวข้ออื่นๆ ผมได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้แล้วโดยละเอียดในเรื่องของการวิเคราะห์ตลาดแร่ธาตุแม่ปุ๋ยในระดับโลกและประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยในประเทศที่ https://www.moveforwardparty.org/article/9159/ และผมจะขอแสดงความเห็นในหัวข้ออื่นๆ ในรายละเอียดในลำดับต่อๆ ไป

ในระยะยาว วิสัยทัศน์ของพรรคก้าวไกลมีรากฐานคือการดูแลคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม ทั้งคนชรา ผู้ทุพพลภาพ และเด็กปฐมวัย รัฐสวัสดิการคืออิฐก้อนแรกของนโยบายเศรษฐกิจ ที่จะเป็นรากฐานของบ้านหลังใหม่ของคนไทยทุกคน บ้านชั้นที่สองคือการรื้อโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐ ยุบและควบรวมหน่วยงานราชการที่ซ้ำซ้อน ไม่จำเป็น และกระจายอำนาจเพื่อปลดปล่อยศักยภาพของบ้านเกิดของทุกท่านให้กำหนดอนาคตตัวเองได้ว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างไร จะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างไร จะแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างไร ท้ายที่สุดคือหลังคาบ้าน คือการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ

ถ้าเปรียบเทียบกับทีมฟุตบอล นโยบายสวัสดิการก็เป็นเหมือนกองหลัง เป็นรากฐานที่แข็งแกร่ง นโยบายรื้อระบบการบริหารงานภาครัฐเป็นเหมือนกองกลาง และนโยบายอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตเป็นเหมือนกองหน้าของประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต รัฐบาลมีนโยบาย BCG ส่วนฝั่งผมมี “เศรษฐกิจสามสี” ซึ่งถึงแม้ว่าจุดหมายปลายทางจะไม่ได้ต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องของเจตน์จำนงที่จะทำให้อุตสาหกรรมอนาคตเกิดขึ้นได้จริงและความเจริญเป็นของทุกคนไม่ใช่แค่ของทุนผูกขาด

ยกตัวอย่างเช่นการสร้างอุตสาหกรรมผู้บริบาลคนชราหรือ Care Economy ใน พ.ร.ก. เงินกู้ของรัฐบาลก็มีโครงการนี้เหมือนกัน มีวงเงินงบประมาณ 1,080 ล้านบาท แต่โครงการก็ไม่สัมฤทธิ์ผลเนื่องจากให้เงินเดือนเพียง 5,000 บาท แต่เป็นงานเต็มเวลา ถ้าเทียบโครงการลักษณะเดียวกันกับของสหรัฐฯ ใน Infrastructure Investment and Jobs Act ที่เพิ่งผ่านคองเกรสไป มีงบประมาณสำหรับสร้าง Care Economy 13 ล้านล้านบาท หรือปีละ 1.3 ล้านล้านบาท ถ้าคิดเทียบกลับมาเป็นขนาดเศรษฐกิจของไทย จะลงทุนให้ได้สัดส่วนเดียวกับอเมริกาต้องใช้งบประมาณมากกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในท้ายที่สุด ผมได้ฝากคำถามไปถึงรัฐบาล เนื่องจากผมได้ยินคำชี้แจงจากรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจทั้งในรัฐสภาและในหลายเวทีเสวนาว่าประเทศไทยมีความพร้อมในด้านอุตสาหกรรมอนาคตเพราะ ปตท. ได้เตรียมลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคตต่างๆ มากมาย ทั้งรถ EV รถบัส EV แบตเตอรี่ ชารจเจอร์ ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนถึง อุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ และ Plant-based food

คำถามของผมก็คือตอนนี้ผมรู้ว่าในอนาคต ปตท. รอดแล้ว แต่คนไทยจะรอดไปพร้อมกับ ปตท. หรือเปล่า?

นี่คือเรื่องของ Inclusive Growth หรือการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งต้องอาศัยเจตน์จำนงทางการเมืองที่จะรดน้ำที่ราก กระจายอำนาจและกระจายโอกาสทางธุรกิจให้กับรายย่อย ไม่เพียงหวังอาศัยเรือธงเป็น flagship แล้วหวังว่าความมั่งคั่งจะหยดจากยอดลงมาที่ราก

ผมไม่ได้พูดถึงเพียงตัวอย่างของ ปตท. เท่านั้น แต่จะขอยกตัวอย่างไปถึง SCB ที่ disrupt ตัวเองเป็น SCBx แต่เข้าซื้อกิจการ Cryptocurrency ไปจนถึงความพยายามควบรวม DTAC และ TRUE ที่จะทำให้กิจการโทรคมนาคมกลุ่มนี้เข้มแข็งขึ้น

ในตอนนี้ผมไม่เป็นห่วงอนาคตของทุนใหญ่แล้วว่าจะรอดหรือไม่ แต่ผมยังเป็นห่วงอนาคตของคนไทยอยู่ ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากกว่าเดิม หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat