- 23 พ.ค. 2565
อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์วิเคราะห์ “ชัชชาติ” บนเส้นทาง “ความหวัง” ของคนกรุง เชื่อนโยบาย “กรุงเทพฯ 9 ดี”นำความสุขมาให้คนกรุงเทพฯได้
เมื่อวันที่ 22พ.ค.65 การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2565 ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยเเล้ว โดยทาง กกต.ได้ประกาสผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.65 อย่างเป็นทางการปรากฎว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8 มาเป็นอันดับ1 ด้วยคะเเนน 1,386,215 คว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17 เเละจากคะเเนนเเตะหลัก 1.3 ล้านถือเป็นการทุบสถิติคะเเนนเสียงที่มีการเลือกตั้งกทม.สูงที่สุด เหนือกว่า สมัยปี56 ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ด้วยคะแนน 1,256,349 คะแนน เเละปี43 ของ นายสมัคร สุนทรเวช 1,016,096 คะแนน
ซึ่งหลังจากทราบผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.65 ทาง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เเละรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์วิเคราะห์ “ชัชชาติ” บนเส้นทาง “ความหวัง” ของคนกรุง
ด้วยคะแนนนำแบบม้วนเดียวจบ ได้คะแนนสูงลิ่วถึงเกือบ 1.4 ล้านคะแนน คิดเป็น 51.8% จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เกือบ 2.7 ล้านคน ส่งผลให้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 จึงเป็นที่คาดหวังของคนกรุงเทพฯ ว่าจะทำได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ ?
1. คุณสมบัติของ ดร.ชัชชาติ
ดร.ชัชชาติ เป็นคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ มีความมุ่งมั่น อ่อนน้อมถ่อมตน และประนีประนอม จะทำให้สามารถทำงานร่วมกับข้าราชการและลูกจ้างของ กทม. ที่มีอยู่ประมาณ 8.5 หมื่นคนได้ อีกทั้ง จะสามารถประสานงาน “360 องศา” กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้
2. นโยบายของ ดร.ชัชชาติ
นโยบาย “กรุงเทพฯ 9 ดี” ที่ประกอบด้วยนโยบายย่อยกว่า 200 นโยบาย เป็นนโยบายที่ครอบคลุมความต้องการของคนกรุงเทพฯ ทุกด้าน และคาดว่าจะสามารถทำได้จริง ไม่ขายฝัน เพราะได้รับการกลั่นกรองมาจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม ผู้ประสบปัญหา ผู้นำชุมชน และผู้เชี่ยวชาญ
3. งานท้าทายงานแรกของ ดร.ชัชชาติ
เวลานี้เป็นช่วงหน้าฝน ดังนั้น ดร.ชัชชาติจะต้องเผชิญกับการต่อสู้ปัญหาน้ำท่วมอย่างแน่นอน ผมอยากให้ท่านเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม ผ่อนหนักเป็นเบาให้ได้ในเวลาไม่นาน เช่น จุดเสี่ยงน้ำท่วมที่แยก อสมท. และหน้าศาลอาญา เป็นต้น โดยอาจจะเริ่มแก้ปัญหาที่แยก อสมท. เป็นโครงการนำร่อง เมื่อทำสำเร็จแล้ว ก็ใช้เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมอื่นต่อไป
4. งานกระดูกชิ้นใหญ่ของ ดร.ชัชชาติ
การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยืดเยื้อมานาน ถือเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ของ ดร.ชัชชาติ หากท่านเลือกที่จะไม่ต่อสัมปทานให้ผู้รับสัมปทานคือบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ท่านจะต้องแก้ปัญหา 2 ประการ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ยากที่จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัญหา 2 ประการดังกล่าวมีดังนี้
4.1 ปัญหาหนี้สินของ กทม.
กทม. มีหนี้ที่จะต้องจ่ายให้บีทีเอสซึ่งประกอบด้วยค่าจ้างเดินรถ และค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล อีกทั้ง มีหนี้งานโยธาที่รับโอนส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต มาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงเวลานี้เป็นเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และจากนี้ไปจนถึงปี 2572 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน เป็นเงินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นหนี้ทั้งหมดประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
4.2 ปัญหาสัญญาจ้างบีทีเอสให้เดินรถถึงปี 2585
กทม. ได้ทำสัญญาจ้างให้บีทีเอสเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายไปจนถึงปี 2585 หาก ดร.ชัชชาติ ต้องการเปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่หลังจากสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 เพื่อหวังที่จะลดค่าโดยสาร อาจเกิดข้อพิพาทกับบีทีเอสได้ เนื่องจากบีทีเอสยังมีสัญญาจ้างให้เดินรถจนถึงปี 2585
5. สรุป
ด้วยคุณสมบัติของ ดร.ชัชชาติ และนโยบาย “กรุงเทพฯ 9 ดี” รวมทั้งทีมงานที่เข้มแข็ง ผมหวังว่า ดร.ชัชชาติ จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่สามารถนำความสุขมาให้คนกรุงเทพฯ ได้
ขอเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ
cr.