- 21 ก.ค. 2566
ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว แถลงรับไม้ต่อพรรคก้าวไกลพร้อมจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ยัน 8 พรรคยังจับมือกันแน่น แผนต่อจากนี้ลุยหาเสียงสส.-สว.เพิ่ม มั่นใจได้นายกในการโหวตรอบหน้าแน่นอน
วันนี้ (21 ก.ค.) เวลา 13.00 น. ณ ที่ทำการใหญ่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้ออกแถลงหลังพรรคก้าวไกลยืนยันส่งไม้ต่อและมอบภารกิจให้กับทางพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้เงื่อนไขของการร่วมรัฐบาลจาก 8 พรรคการเมืองเดิม โดยเบื้องต้นทางพรรคเพื่อไทยจะมีการหารือกับ 8 พรรคการเมืองเดิมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการหารือจะเกิดขึ้นในเวลา 15.00 น. วันนี้
พรรคเพื่อไทยเห็นว่าภายใต้ข้อตกลงของ 8 พรรคการเมืองเดิม พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคสามารถรวมเสียงได้ 312 เสียง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่เห็นชอบเนื่องจากมีเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา ม.112 จึงส่งผลให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยจึงมีความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่า 375 เสียง เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะขอเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกวุฒิสภาและจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในที่สุด หากผลการดำเนินเป็นประการใด จะได้แจ้งให้ 8 พรรคการเมืองและสาธารณชนทราบต่อไปโดยเร็ว
โดยก่อนหน้านี้ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวความคืบหน้าในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลว่า การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการประกาศเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจนชนะเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม
ที่เป็นบริวารแวดล้อม ทั้งหมดไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเอาเรื่อง ม.112 มาบังหน้า และอ้างความจงรักภักดีมาปะทะกับการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังตัดสิทธิการเมืองของแกนนำพรรคและยุบพรรคก้าวไกลให้ได้
.
ด้วยเหตุนี้ สว. จึงฝืนมติมหาชน ไม่โหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร มิหนำซ้ำ ยังกล้าทำลายหลักการ ตีความข้อบังคับของรัฐสภาให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนการล้มล้างการปกครอง หรือฉีกรัฐธรรมนูญผ่านกฎหมู่ เพียงเพื่อต้องการขัดขวางไม่ให้เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ในครั้งที่สอง
พรรคก้าวไกลไม่ยอมรับการตีความข้อบังคับดังกล่าว แต่ภายใต้การทำงานที่สอดประสานกันทั้งองคาพยพของฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นนี้ เราจำเป็นต้องขอโทษต่อประชาชน และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ดี การที่พิธาไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ได้หมายความว่าภารกิจการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อพลิกขั้วอำนาจรัฐบาลจะไม่สำเร็จไปด้วย เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 ยังคงอยู่ นั่นคือการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิมให้สำเร็จ
สิ่งสำคัญในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องพิธาจะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ แต่คือเรื่องประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ หยุดการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคก้าวไกลจะเปิดโอกาสให้ประเทศ โดยให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรคที่ได้เคยทำ MOU กันไว้
ดังนั้น ในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล
เมื่อเสร็จการแถลง สื่อมวลชนได้สอบถามถึงเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยชัยธวัชกล่าวว่า หลังจากนี้จะเป็นบทบาทหลักของพรรคเพื่อไทยในการพูดคุยถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาล ขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยว่าจะเสนอแคนดิเดตนายกฯ คนไหนในการประชุมรัฐสภาครั้งหน้า พรรคก้าวไกลไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นใครโดยเฉพาะ ขึ้นอยู่กับมติของพรรคเพื่อไทย เราต้องเคารพ
ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืน ‘มีลุงไม่มีเรา’ พรรคก้าวไกลยังเหมือนเดิมหรือไม่ ชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นจุดยืนที่ชัดเจนสำหรับพรรคก้าวไกล สิ่งที่เราได้สัญญาพูดคุยต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราไม่สามารถเสียสัจจะเรื่องนี้ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยเสนอแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ จะถือว่าการเสนอแคนดิเดตคนนั้นจบลงเลยหรือไม่ ชัยธวัชกล่าวว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลไม่ยอมรับการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 เรายืนยันว่ามติของรัฐสภาในครั้งที่แล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญ เมื่อถูกถามต่อว่า คิดเห็นอย่างไรต่อบทบาทการทำหน้าที่ของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมา ชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียงกันในสมาชิกรัฐสภา เราเห็นว่าประธานสภาสามารถวินิจฉัยได้ แต่เมื่อมีความเห็นแตกต่างกันเยอะ ประธานสภาอาจเห็นว่าควรให้สมาชิกได้อภิปรายถกเถียงกันอย่างเต็มที่และมีมติร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว หวังว่ารัฐสภาชุดนี้จะไม่มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกล ที่อาจมองว่าพรรคถอย ชัยธวัชกล่าวว่า ไม่กังวล ตอนนี้ไม่ใช่แค่ผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกล แต่ตนกำลังพูดว่าผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่ให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล มีส่วนสำคัญ ตนเชื่อว่าคนที่เลือกทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แม้วันนี้พรรคก้าวไกลจะเป็นไปได้ยากในการเป็นนายกฯ แต่ประชาชนทั้งสองส่วนก็ยังอยากเห็นรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ
ในช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรกับคำพูดว่าก้าวไกลต้องเสียสละ ชัยธวัชกล่าวว่า "ผมคิดว่าคนที่ไม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง คนที่ไม่ยอมรับหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยต่างหาก ที่ควรจะมีสำนึกว่าการกระทำแบบนี้จะไม่ส่งผลดีต่อบ้านเมืองในระยะยาว"