- 27 ก.ค. 2566
ต่างกันยังไง? เปิดคุณลักษณะต้องห้าม ส.ส. ระหว่าง สิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ และ นครชัย ขุนณรงค์ ส.ส.พรรคก้าวไกล
ต่างยังไง? เปิดคุณลักษณะต้องห้าม ส.ส. ระหว่าง สิระ เจนจาคะ และ นครชัย ขุนณรงค์ : จากกรณีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) เปิดเผยระหว่างรายการโหนกระแส ว่า ส.ส.ระยอง เขต 3 พรรคก้าวไกล ขาดคุณสมบัติในการเป็นส.ส.เนื่องจากเคยเป็นนักโทษ ติดคุกนั้น ต่อมามีรายงานว่าส.ส.คนดังกล่าว คือ นายนครชัย ขุนณรงค์ ส.ส.ระยอง เขต 3 พรรคก้าวไกล
จากกรณีดังกล่าวมีผู้ยื่นร้องต่อกกต.จังหวัดระยอง ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครโดยพบว่านายนครชัย ต้องคดีลักทรัพย์ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ช่วงปี 2542 – 2543 ซึ่งหลังจาก กกต.กลางประกาศผลการเลือกตั้งก็มีผู้มายื่นคำร้องต่อ กกต.จังหวัดระยอง และ กกต.กลาง ทาง กกต.จึงส่งเรื่องให้ทางกกต.จังหวัดระยอง ดำเนินการ
โดยในคำร้องดังกล่าวได้มีการแนบหลักฐาน เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยมีคดีหมายเลขแดงมาด้วย ที่มีเนื้อหาระบุว่านายนครชัย ให้การรับสารภาพ ศาลจึงได้สั่งลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ซึ่งนายนครชัย ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ จึงถือว่าคดีถึงที่สุด
แต่ทั้งนี้ทางสำนักงานกกต.จังหวัดระยอง อยู่ระหว่างขอคัดสำเนาคำพิพากษา เพื่อให้ได้หลักฐานชัดเจนว่านายนครชัย ต้องคำพิพากษาจริง และคดีดังกล่าวเป็นคดีในฐานความผิดที่กฎหมายกำหนดเป็นลักษณะมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งจริงหรือไม่
ซึ่งอาจจะเข้าข่าย บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 98 (7) โดย ตาม ม.98 (7) คือ เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
พร้อมกันนี้มีรายงานเพิ่มกรณีดังกล่าว จะคล้ายกับ กรณีของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวันในคดีฉ้อโกงเมื่อปี 2538 ที่ถูกสั่งจำคุก 8 เดือน แต่รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 เดือน
สำหรับนายสิระ ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ทำให้คดีถึงที่สุด และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ว่าเหตุดังกล่าวทำให้นายสิระ เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 98 (10) แต่จะมีความแตกต่างตรงที่ของนายนครชัย ต้องคดีลักทรัพย์
ทั้งนี้ตาม ม.98 (10) คือ เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
สำหรับ ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(1) ติดยาเสพติดให้โทษ
(2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4)
(5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(7) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(9) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(11) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
(13) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(14) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
(15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(16) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
(17) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(18) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม