- 22 ส.ค. 2566
ล่าสุด ส.ว. ประภาศรี สุฉันทบุตร โพสต์ชี้แจงเหตุโหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ลั่นประเทศต้องเดินหน้า ขออภัยถ้าไม่ถูกใจบางคน
วันที่ 22 สิงหาคม 2566 กับกรณีการเกาะติดการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งล่าสุดได้คะแนนเสียงผ่านเกณฑ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และหนึ่งในเสียงที่โหวตเห็นชอบมี ส.ว.ประภาศรี สุฉันทบุตร ที่เคยโหวตเห็นชอบให้กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ด้วย และล่าสุดได้โพสต์ชี้แจงเหตุโหวตเห็นชอบแล้ว
ส.ว. ประภาศรี สุฉันทบุตร โพสต์ชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊ก วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ระบุ
วันนี้นั่งฟังการอภิปรายทั้งวัน การอภิปรายดูเหมือนจะมีสมาชิกเห็นชอบกับนายเศรษฐา ทวีสินจำนวนมากที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับดิฉันได้อ่านทุก Comments ที่เพื่อนๆพี่น้องเเละลูกๆได้ให้คำเเนะนำ เเต่เมื่อทบทวนเเล้วเห็นว่าเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้เเละป้องกันไม่ให้อำนาจอื่นใดมาทำลายความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเราอีก ดิฉันจึงตัดสินใจ "เห็นชอบ"
ขอขอบคุณเพื่อนๆที่ให้คำเเนะนำ เเละให้กำลังใจ เเละขออภัยด้วยหากการตัดสินใจของดิฉันอาจจะไม่ถูกใจบางท่านบ้าง#ดิฉันยังอบอุ่นใจเมื่อได้อยู่เคียงข้างประชาชนเสมอไม่เปลี่ยนเเปลง"ค่ะ
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ก่อนวันโหวตนายก ส.ว.ประภาศรี ได้โพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กเอาไว้ว่า #หลักการ กับ# ความรู้สึก เราจะเลือกอะไรดี วันที่ 22 สค 2566 จะเป็นวันที่สำคัญมาก คือวันเลือกนายกรัฐมนตรี ดิฉันมีข้อปรึกษาหารือประชาชนของดิฉัน สองเรื่องค่ะ
1. ในระบอบประชาธิปไตยเราต้องเลือกเสียงข้างมากใช่ไหมคะ คราวที่เเล้วดิฉันเลือกคุณพิธาเพราะได้เสียงข้างมากมา เป็นมารยาทที่พรรคการเมืองต่างๆต้องให้พรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลก่อน เเต่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะรวมเสียงข้างมากที่ได้มา8 พรรคเเล้ว เเต่ยังต้องการ เสียงจากสมาชิกวุฒิสภาอีก64 เสียงซึ่งตามรัฐธรรมนูญต้องให้ได้ 375 เสียง เเต่ไม่สามารถรวมเสียงได้ครบ พรรคก้าวไกลจึงส่งผ่านการจัดตั้งรัฐบาลมาให้พรรคเพื่อไทย ขณะนี้พรรคเพื่อไทยรวมเสียงจากหลายพรรคซึ่งได้เป็นเสียงข้างมากเเล้ว เเละหาเสียงจาก สว.อีกไม่มากก็สามารถตั้งรัฐบาลได้ เเละส่งคุณเศรษฐา ทวีสิน เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ดิฉันก็สนับสนุนคุณเศรษฐา นะคะ เเม้ว่าจะมีการออกมากล่าวหาบ้างเเต่ดิฉันถือว่าการกล่าวหานั้นไม่ได้เกี่ยวกับการตัดสินใจของดิฉันเพราะไม่ใช่หน้าที่ของดิฉันที่จะไปตัดสินว่าคุณเศรษฐาผิดหรือถูก เป็นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ตัดสิน เช่นเรื่องการโอนที่ดินการเสียภาษีก็ต้องเป็นกรมที่ดินเเละกรมสรรพากรเป็นผู้ตัดสิน เเละเรื่องการซื้อขายที่ดินของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องให้ตลาดหลักทรัพย์เข้ามาจัดการจึงต้องให้ความเป็นธรรมกับคุณเศรษฐาด้วย
ดังนั้นในตอนเเรกดิฉันตั้งใจว่าจะ "เห็นชอบ"คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเเน่นอน เพราะได้ติดตามวิสัยทัศน์ตอนรณรงค์หาเสียง ดิฉันคิดว่าคุณเศรษฐาสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีที่สง่างามได้ เเละที่สำคัญประชาชนเลือกพรรคที่เสนอคุณเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีมา ดังนั้นเราต้องถือว่าเสียงของประชาชนมีความหมายเราจะต้องไม่ละเมิดเสียงของประชาชนเเม้เเต่เสียงเดียว
# เเต่ว่ามีข้อ 2 ที่สำคัญมากมาเป็นเหตุที่ต้องพิจารณาอย่างมากทีเดียว
2. ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากประชาชน จากไลน์ จาก Inbox จากการมาพูดคุย เเละจากช่องทางต่างๆ บอกว่าดิฉันเคยฟังประชาชนมาตลอดอยู่เคียงข้างประชาชนมาตลอด ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ประชาชนชาวยโสธร เเละประชาชนที่อื่นๆที่ศรัทธาดิฉัน ขอให้ดิฉันฟังเเละเชื่อเค้าด้วย คือประชาชนจำนวนมากรู้สึกผิดหวังเเละเจ็บปวดพรรคเเกนนำในการจัดตั้้งรัฐบาลครั้งใหม่นี้ ว่าไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงว่าจะไม่รวมกับพรรคโน้นพรรคนี้ ประชาชนผิดหวังมาก เพราะเค้ารักพรรคที่่สองนี้พอๆกับก้าวไกลเหมือนกัน เเละเค้าสงสารก้าวไกลพรรคเเห่งความหวังของเค้าว่าทำไมถูกทอดทิ้ง ทำไมไม่ผูกมัดติดกันไว้ อดทนไว้ พรรคอื่นก็อาจจะมาเติมเสียงให้เต็มเอง หรือทำไมไม่ช่วยก้าวไกลในการหาเสียงจาก สว.ประชาชนรู้สึกว่าถ้าพรรคเเกนนำช่วยหาเสียงอย่างเต็มที่ก็จะต้องได้เสียง สว.มา ประชาชนบอกว่าเค้าจำภาพตอนจับมือกันตอน MOU อย่างไม่ลืมเลือน
เค้าเจ็บปวดมาก เค้ายังนึกถึงบรรยากาศตอนคุณพิธาถูกหยุดให้ปฏิบัติหน้าที่ สส.ประชาชนหลายคนร้องไห้เเละรู้สึกเงียบเหงาเเละเศร้าใจเครียดกันมาก ดิฉันค่อนข้างเครียดเมื่อรับฟังความรู้สึกของประชาชน สมัยนี้คนสนใจการเมืองกันมาก เค้าคิดไปไกลกว่าดิฉันอีก เค้าบอกว่าเสียงรัฐบาล ที่มารวมกันมีมากกว่าเสียงที่จะเป็นฝ่ายค้านมากเกินไปอาจจะเกิดเผด็จการรัฐสภาได้ ฝ่ายค้านอาจจะตรวจสอบเก่งก็จริงเเต่หากเรื่องใดจำเป็นต้องVote ก็จะเเพ้ทุกครั้งไป
ประชาชนบอกกับดิฉันว่าให้ "ไม่เห็นชอบ" ทุกคนอยากให้ดิฉันเป็นความหวังให้สู้เพื่อพวกเค้า ดิฉันเครียดมาหลายวันว่า ระหว่าง"หลักการ" ที่ดิฉันยึดมั่นเสมอมา กับความรู้สึกท้อเเท้เจ็บปวด ของประชาชนของดิฉัน ดิฉันควรยืนอยู่บนหลักการของดิฉัน หรือเลือกร่วมเจ็บปวดไปกับเค้าด้วยดิฉันควรจะเลือก "ไม่เห็นชอบ" หรือ สุภาพหน่อย ก็ "งดออกเสียง" ตามความต้องการของประชาชนของดิฉันหรือไม่หรือ"เห็นชอบ" ตามหลักการที่เค้ารวมเสียงข้างมากได้
ท่านที่ผ่านมากรุณาให้ความคิดเห็นกับดิฉันด้วย เพื่อดิฉันจะได้นำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ
ขอขอบคุณมากๆนะคะ
# อบอุ่นใจเสมอ เมื่อได้อยู่เคียงข้างประชาชน
ที่มา Prapasri Suchantabutr