- 28 มิ.ย. 2561
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 เวลา 09.30 น. นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ครั้งที่ 2 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ารับการฝึกอบรมกว่า 500 คน และมีนายธนา ยันตรโกวิท นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้การต้อนรับ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร
นายบุญธรรม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มอบนโยบายให้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัดทุกจังหวัด และ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ้าภาพการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย Cluster จำนวน 324 กลุ่ม ในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้บังเกิดผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันการดำเนินการดังกล่าวมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ ดังนั้น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานปฏิบัติในระดับพื้นที่ได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะได้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนและมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีการกำจัดขยะเพื่อให้ขยะหมดไปไม่เหลือตกค้างตามนโยบายของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด รวมถึงท้องถิ่นจังหวัด ที่ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด ให้ได้มีความรู้ ความเข้าใจ ในนโยบายและทิศทางในการส่งเสริม สนับสนุน สามารถแนะนำและกำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การจัดการมูลฝอยภายใต้การรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง รวมถึงให้นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพ Cluster ในการจัดการขยะมูลฝอยภายใต้การรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลูกข่ายได้เข้าใจและร่วมดำเนินการให้เกิดผลปฏิบัติ
นายบุญธรรมยังได้เน้นย้ำในเรื่องการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ว่าขอให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างความรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในท้องที่ ในการลดการสร้างขยะ โดยใช้หลัก 3Rs หรือ 3ช และให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน ซึ่งอาจใช้ถุงใส ในการจัดเก็บขยะ เพื่อให้สามารถมองเห็นขยะข้างใน ช่วยให้จัดเก็บได้ง่ายขึ้น หรือใช้ถังขยะแยกสี ที่เข้าใจง่าย เพื่อให้การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางมีประสิทธิภาพ รวมถึงถังขยะตามที่สาธารณะ ก็ให้จังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผลักดันการดำเนินการให้มีถังขยะตามที่สาธารณะอย่างน้อย 2 ประเภท คือ ขยะเปียกกับขยะทั่วไป และขยะรีไซเคิล ทางด้านการจัดการขยะระหว่างทาง ก็ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดวันเก็บขยะ โดยแยกตามประเภท เช่น ขยะอันตรายให้เก็บทุกวันอาทิตย์ หรือวันที่เหมาะสม และการจัดการขยะปลายทางจากการรวมกลุ่ม Clusters 76 จังหวัด 324 กลุ่ม ก็ให้คำนึงถึงปริมาณขยะและระยะทางในการจัดเก็บของแต่ละท้องถิ่น
และจากการประเมินของกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการขยะตามท้องที่ต่างๆ และจากการเสนอแนวทางของแต่ละท้องถิ่น วิธีการกำจัดขยะที่เหมาะสมประกอบไปด้วย 1.การฝังกลบที่สามารถนำกลับมาทำลายได้ 2.การจัดการด้วยการทำ RDF และ3.การเผาทำลาย ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละท้องที่ และประมาณขยะ ตลอดจนประสิทธิภาพในการแยกขยะที่ต้นทาง นอกจากนี้ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหาแนวทางสำรองในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีการจัดการข้างต้นได้ไว้ด้วย
วันนี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากเสร็จสิ้นโครงการฝึกอบรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมรับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการกำจัดมูลฝอยมากยิ่งขึ้น และสามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการจัดการขยะในพื้นที่ของตนเองได้ เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ทางด้านนายธนา รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า จากที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้โปรดมอบนโยบายให้มีการดำเนินการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้บังเกิดผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันได้มีกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) เสนอโครงการกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและมีแผนการดำเนินการ จำนวน 56 โครงการ มีความต้องการเพิ่มเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า รวม 400 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือของกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย สืบเนื่องจากการประชุมร่วมระหว่าง 2 กระทรวง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด และท้องถิ่นจังหวัด ที่ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดได้มีความรู้ ความเข้าใจ ในเทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สามารถแนะนำและกำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเสนอโครงการกำจัดขยะมูลฝอยภายใต้การรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง และเพื่อให้นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพ Cluster มีความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีการกำจัดขยะมูลฝอย และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอยภายใต้การรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลูกข่ายได้เข้าใจและร่วมดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้
สำหรับโครงการฝึกอบรมการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด 76 จังหวัด และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ้าภาพ Cluster จำนวน 324 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 476 คน และจะมีการอภิปรายในหัวข้อ “การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่และปริมาณขยะมูลฝอย” ซึ่งวันนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และหน่วยงานหลายภาคส่วนมาร่วมจัดนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการกำจัดมูลฝอยด้วย
นายขจร รองอธิบดีฯ กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยได้ถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล และขยะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกร้อน ดังนั้น หากเรามีการจัดการขยะที่ดีก็จะสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก เราทุกคนจึงต้องช่วยกันบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน โดยการคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ซึ่งผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ก็คือท่าน ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยการแนะนำให้จัดทำ "ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน" จากเมื่อครั้งที่ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการขยะชุมชนบ้านป่าบุก เทศบาลบาลตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ก็ขอความร่วมมือทุกท่าน ได้เป็นผู้นำแนวทางจัดทำถังขยะเปียกหรือถังขยะอินทรีย์ให้เกิดขึ้นทุกครัวเรือนทุกชุมชน เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้สัมฤทธิ์ผลและเป็นรูปธรรมต่อไป