- 15 มี.ค. 2562
กองทุนหมู่บ้าน โมเดล‘แก้ เหลื่อมลํ้า’เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก ความเหลื่อมล้ำ มะเร็งร้ายที่ฝังรากในสังคมไทยมาช้านาน
รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยระดมสรรพกำลังและงบประมาณในการแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ไม่ลดหรือหมดไป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปีพ.ศ. 2560 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ระบุปัญหานี้ไว้อย่างจริงจัง “สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ” เป็นเนื้อหาที่บัญญัติใน หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 257 รัฐธรรมนูญ 2560 แต่รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ในการนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ความเหลื่อมล้ำจึงถูกหยิบยกเป็น “วาระแห่งชาติ” กำหนดให้รัฐจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน สนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม กระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปสู่กลไกบริหารราชการแผ่นดินในระดับท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง และเตรียมความพร้อมของประชากรไทยทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ สามารถพึ่งตนเอง และทำประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้นานที่สุด โดยรัฐให้หลักประกันการเข้าถึงบริการและสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
“กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” ทั่วประเทศจำนวน 79,598 กองทุน เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนจาก “รายงานผลการพัฒนาประเทศไทยในรอบ 5 ปี พ.ศ. 2557-2562” จัดทำโดย “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.” พบว่าโครงการกองทุนหมู่บ้านช่วยสร้างรายได้ ส่งเสริมการออม รวมทั้งการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตให้เกิดความมั่นคง กินดีอยู่ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้น ช่วยให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีการปรับตัวลดลง ผลลัพธ์ระดับครัวเรือน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 46.2% มีการออมเพิ่มขึ้น 22.8% ส่วนผลลัพธ์ระดับชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาอาชีพ มีการจัดสวัสดิการชุมชน
เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดพบว่าตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนงบประมาณให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ทั้ง 79,595 กองทุน ดำเนินโครงการตามแนวทางประชารัฐวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท ใน 3 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1.โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ในปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 35,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองสำหรับการลงทุนพื้นฐานในชุมชน จำนวน 79,556 กองทุน กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท
2.โครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานการแก้ไขปัญหาความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ และเพื่อความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านและชุมชนให้ดีขึ้น กองทุนละไม่เกิน 200,000 บาท
3.โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ ในปีงบประมาณ 2561 เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และแก้ปัญหาจำเป็นเร่งด่วน สนับสนุนการจ้างงานและต่อยอดโครงการเดิม ตลอดจนเพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยกระดับรายได้ของประชาชน โดยสนับสนุนเงินทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนละไม่เกิน 300,000 บาท
“รศ.ดร.นที ขลิบทอง” ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หนึ่งในคีย์แมนที่รับผิดชอบภารกิจดูแลเศรษฐกิจฐานราก บอกว่า ในช่วง 3 ปีหลังของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านฯในอีกมิติ จากเดิมกองทุนหมู่บ้านฯเป็นธนาคารของประชาชน เปลี่ยนเป็นที่พึ่งและทุนหมุนเวียนให้ประชาชนให้เป็นกองทุนหมู่บ้านประชารัฐ สร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับชุมชน
ก่อให้เกิดร้านค้าชุมชน 25,000 ทั่วประเทศ โครงการน้ำดื่มชุมชน 10,000 โครงการ โครงการส่งเสริมการเกษตร 56,000 โครงการ โครงการบริการเพื่ออุปโภคบริโภค 45,000 โครงการ โครงการผลิตภัณฑ์ประชารัฐ 37,000 โครงการ โครงการตลาดประชารัฐ 2,900 โครงการ ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน สร้างงาน สร้างอาชีพในหมู่บ้านและชุมชนกว่า 1.6 ล้านคน ทำให้กองทุนมีรายได้รวมกว่า 39,000 ล้านบาท ผลกำไรกว่า 8,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากหญ้าของประชาชน
“อนาคตของกองทุน ก็จะเดินไป 2 มิติ คือ แบบบุคคลที่ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกและจัดทำโครงการส่วนรวม แต่รัฐบาลจะไม่มีทางให้เงินกองทุนทุกปี ดังนั้นกองทุนต้องลงทุนเพื่อให้เกิดดอกออกผล สร้าง ATM ของตัวเองให้ได้ เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนและเกิดประโยชน์กับชุมชนให้ได้ นั่นคือปรัชญาเป้าหมายของกองทุน มีการตั้งคำถามว่าเงินเหล่านี้จะหายไปหรือไม่ ซึ่งกองทุนได้ยืนยันกับรัฐบาลและสมาชิกว่า กองทุนไม่ได้ทำโครงการแบบตีหัวเข้าบ้านแบบปีเดียวจบ แต่ทำโครงการทุกโครงการให้ตราไว้ในแผ่นดิน วันนี้นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงวันนี้โครงการเหล่านั้นก็ยังอยู่ ยังก่อให้เกิดรายได้ เกิดเงินหมุนเวียน ทำให้มีรายได้กลับคืนมาประมาณ 4 หมื่นล้านบาท กำไรประมาณ 8.5 พันล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี กับงบ 7 หมื่นล้านบาท ที่ลงไปขับเคลื่อนหมู่บ้านและชุมชน”
ไม่เพียงการดำเนินงานในระยะสั้น กองทุนหมู่บ้านฯยังมองไปถึงอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้วยการทำแผนแม่บทกองทุนหมู่บ้านฯ โดยกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศแต่ละแห่งจะลุกขึ้นมาเขียนโจทย์และตอบตัวเองว่าในปี 2579 กองทุนจะอยู่ในลักษณะไหน อย่างไร และต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึงจุดนั้น โดยจะนำแผนแม่บทของทั่วประเทศ ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด มาสรุปเป็นแผนแม่บทกองทุนหมู่บ้านของประเทศ แล้วเสนอต่อรัฐบาลเป็นแผนแม่บท 20 ปีของกองทุนที่จะเดินไปข้างหน้า เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ สร้างอนาคต และตราไว้ในแผ่นดิน
ผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน (ณ ธันวาคม 2561) จัดตั้งแล้ว 79,598 กองทุน กองทุนหมู่บ้าน 75,000 กองทุน กองทุนชุมชนเมือง 3,860 กองทุน กองทุนชุมชนทหาร 738 กองทุน คณะกรรมการและสมาชิกกองทุนฯ 12,864,576 คน คณะกรรมการ 1,119,962 คน สมาชิก 11,744,614 คน เครือข่ายมากกว่า 8,419 เครือข่าย ระดับตำบล 7,910 เครือข่าย อำเภอ 928 เครือข่าย จังหวัด 77 เครือข่าย
เครือข่าย 4 ภาค และเครือข่ายอื่นๆ เงินหมุนเวียนในระบบ 368,238.28 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้านประชารัฐ รายได้รวม 39,000 ล้านบาท
กำไร 8,500 ล้านบาท แก้ไขหนี้นอกระบบให้สมาชิก 2,691 ราย วงเงิน 124,554,699 บาท ผลลัพธ์ การดูแลเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ ระดับครัวเรือน รายได้เพิ่มขึ้น 46.2% การออมเพิ่มขึ้น 22.8% สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง
ระดับชุมชน มีการจัดสวัสดิการชุมชน ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาอาชีพ