ราคาน้ำมันดิบคาดปรับเพิ่ม จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางฟื้นตัว หลังเฟดตัดสินใจไม่ลดอัตราดอกเบี้ย

ราคาน้ำมันดิบคาดปรับเพิ่ม จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางฟื้นตัว หลังเฟดตัดสินใจไม่ลดอัตราดอกเบี้ย

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 54 – 59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60 - 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (18 - 22 พ.ย. 62)

          ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่ปรับลดดอกเบี้ยต่อ นอกจากนี้ ตลาดมีความหวังจากแนวโน้มการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร ที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 63 อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ซึ่งเป็นท่อขนส่งน้ำมันดิบชนิดหนักจากแคนาดาไปยังสหรัฐฯ สามารถกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล ทั้งนี้ ตลาดยังคงต้องติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างใกล้ชิด หลังเริ่มมีอุปสรรคเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงทางการค้าในระยะที่ 1

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

          ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแรงดีและจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีกในปีนี้ เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ

 

          ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกโอเปกเกี่ยวกับการตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม จากเดิมที่ตกลงปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 63 โดยคาดการณ์ว่าจะมีการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องจากปีหน้า ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มล้นตลาดจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 ธ.ค. 62 ทั้งนี้ รัฐมนตรีพลังงานโอมานเผยว่า โอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไปจาก มี.ค. 63 แต่ไม่น่ามีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม

          จับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงทางการค้าในระยะที่ 1 ซึ่งเริ่มมีอุปสรรค เนื่องจาก ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการให้จีนตกลงซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ สูงถึงปีละ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ทางจีนยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเป็นการเอาเปรียบจีนมากเกินไป   

กำลังการผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ คาดปรับตัวสูงขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยคาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ แตะระดับ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนนี้ และในปี 2563 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมที่คาดไว้

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ซึ่งเป็นท่อขนส่งน้ำมันดิบชนิดหนักจากแคนาดาไปยังสหรัฐฯ กำลังการขนส่ง 590,000 บาร์เรลต่อวัน ได้กลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง หลังหยุดดำเนินการจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณรัฐนอร์ทดาโกตา

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐฯ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน การประชุมนโยบายทางการเงินยูโรโซน และการประกาศดอกเบี้ยของจีน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 –15 พ.ย. 62)

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขี้น 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 62.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีทิศทางดีขึ้น โดยมีแนวโน้มว่าทั้งสองประเทศตกลงที่จะทยอยยกเลิกกำแพงภาษีนำเข้าที่ถูกตั้งขึ้นจากสงครามการค้า นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ภายหลังจากบริษัท Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ย. ปรับตัวลดลง 7 แท่นมาอยู่ที่ 684 แท่น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากซาอุดิอาระเบีย หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ต.ค. 62 ปรับเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ยังคงต่ำกว่าระดับการผลิตเป้าหมายที่ตกลงกับทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก