ธุรกิจ อีเว้นท์ หลังคลายล็อกดาวน์ กับ ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

ธุรกิจ อีเว้นท์ หลังคลายล็อกดาวน์ กับ ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

ธุรกิจ อีเว้นท์ หลังคลายล็อกดาวน์ ที่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่ทางรัฐบาลกำหนด สามารถทำธุรกิจได้จริงหรือไม่ ทิศทางอนาคตจะไปต่ออย่างไร เจ้าพ่ออีเว้นท์ระดับโลกมีคำตอบ

 

หมอก เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ผู้รับจัดอีเว้นท์ อันดับ 7 ของโลก กล่าวถึง ธุรกิจ อีเว้นท์ หลังคลายล็อกดาวน์ ที่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่ทางรัฐบาลกำหนด

ธุรกิจอีเว้นท์กับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

เราได้รับผลกระทบจริงๆ ประมาณปลายเดือนมีนาคม ก่อนหน้านั้นเราก็เริ่มระวังตัวแล้วตั้งแต่มกราคม ตอนนั้นเราเริ่มจัดงานแบบไฮบริดจ์ นั่นคือ มีทั้งการจัดงานจริง และถ่ายทอดทางออนไลน์ด้วย ปลายมีนาคมก็มีงานเดียว หลังจากนั้นก็เงียบหายเป็นศูนย์ เพราะไม่สามารถจัดงานได้ ด้วยภาครัฐไม่อนุญาตให้จัดงาน ก็ขาดทุนป่นปี้ แต่เรายังคงรักษาพนักงานไว้ ปัจจุบันเรามีพนักงานประมาณเกือบ 500 คน พยายามดูแลกันให้ดีที่สุด ตอนนี้มีการลดเงินเดือน ลดเวลาการทำงาน เพื่อทำให้สามารถเลี้ยงให้บริษัทอยู่ได้

ถ้าถามว่าขาดทุนเยอะไหม ก็คงเป็นหลัก 100 ล้านบาท เงินจมเยอะมาก เฉพาะอินเด็กซ์อย่างเดียวก็หลัก 100-150 ล้านบาท เราลงทุนไปตอนต้นปีเยอะมาก หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วันที่ 1 กรกฎาคม นี้จะมีข่าวดีสำหรับฝั่งอีเว้นท์บ้าง ให้ผ่อนคลายเรื่องกฎเกณฑ์ 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร มันทำธุรกิจไม่ได้จริงๆ

 

มุมมองคนทำธุรกิจอีเว้นท์ เมื่อรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์

เมื่อประกาศคลายล็อกดาวน์ จริงๆ เราก็รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วเหมือนมีกฎเกณฑ์เป็นไกด์ไลน์มาให้เราทราบล่วงหน้าว่า สำหรับการประชุม 1 คน คือ 4 ตารางเมตร สำหรับงานคอนเสิร์ต 1 คน คือ 5 ตารางเมตร เมื่อประกาศออกมาก็เป็นตามนั้นจริงๆ

ในมุมของผู้ประกอบการ บอกเลยว่า เป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่าง รอยัลพารากอนฮอลล์ ปกติจุคนได้ 5,000-6,000 คน พอใช้มาตรการใหม่ ตัดพื้นที่เวทีออกไป เหลือคนดูเพียง 500 คน ในเชิงปฏิบัติแล้วมันเกิดธุรกิจไม่ได้ ลูกค้าจะไปเช่าฮอลล์เพื่อให้คน 500 คนดู มันเป็นไปไม่ได้ ไม่พูดถึงคอนเสิร์ตนะ แค่การจัดประชุม 1 ต่อ 4 ตารางเมตร ลูกค้ายังถามเลยว่า ผมต้องจ่ายค่าเช่าฮอลล์ อาจได้ลดราคาลงมา แต่ก็ต้องจ่ายค่าเวที แสง สี เสียง ศิลปิน ดารา ที่คำนวณออกมาแล้วไม่ได้ต่างจากเดิมเท่าไหร่ จากเดิมเคยหาร 6,000 คน ตอนนี้มาหาร 500 คน เมื่อตกต่อหัวมันสูงมากจนมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย

คนมองธุรกิจอีเว้นท์ อาจจะมองเพียงมุมหนึ่งว่า เป็นเรื่องของคนบนเวที นักแสดง การแสดงบนเวที เพียงแค่ไม่กี่คน แต่จริงๆ แล้ว ชีวิตจริงเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็ง มันมีคนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้นเยอะมาก ยกตัวอย่าง เราทำงานจัดเลี้ยงให้ลูกค้า สำหรับคน 9,000-10,000 คน โต๊ะจีน 1 โต๊ะ นั่งได้ 10 คน เงินถูกกระจายรายได้ไปเยอะมากนะ ทั้ง คนอินเด็กซ์ที่กำกับเวที จ้างคนดูแลแบ็คสเตจฟรีแลนซ์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เด็กเดินตั๋ว รายได้ถูกกระจายตามช่องทางเยอะแยะ ซึ่งผู้ที่มาประชุมเขาต้องนั่งเครื่องบินมาจากต่างจังหวัด พอลงจากสนามบินก็นั่งแท็กซี่ต่อ พักโรงแรม จะเห็นว่ามันไม่ได้อยู่เพียงแค่เรื่องของบนเวทีเท่านั้น มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมายที่สร้างรายได้

ในช่วงที่มีปัญหาก็มาคิดว่า ถ้าเราทำออนไลน์ล่ะ ต้องบอกว่าออนไลน์มันก็ไม่ได้สร้างรายได้มากมาย สมมุติตอนนี้คนหันมาทำคอนเสิร์ตเยอะแยะที่ทำบนออนไลน์ ปกติขายบัตรได้ 2,000-3,000 บาท ออนไลน์ขายบัตรเหลือ 499 บาท ลิมิตจำนวนคนดูตามความดังของศิลปิน ในขณะที่ยังคงต้องลงทุนเรื่อง เวที แสงสี เสียง แอลอีดี รายได้ก็ไม่ได้มาก เรียกว่าทำเพื่อหายคิดถึงมากกว่า

ธุรกิจ อีเว้นท์ หลังคลายล็อกดาวน์ กับ ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

ความคาดการณ์ถึงแนวโน้มธุรกิจอีเว้นท์ฟื้น

การปลดล็อกโดยมีกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไม่สามารถทำให้ธุรกิจมันปลดล็อกได้จริง คนยังต้องระวังตัว ลูกค้าเองที่เป็นหน่วยงาน องค์กรใหญ่ เขาเองก็ไม่อยากให้ตนเองเป็นปัญหาที่กลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ขึ้น เขาระวังตัว

เราอาจจะต้องกลับมาเริ่มเอาเศรษฐกิจนำบ้าง ทุกวันนี้เราเอาเรื่องสาธารณสุขนำ ซึ่งต้องบอกว่าชื่นชม ถือว่าหน่วยงานของรัฐ รัฐบาลเอง เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทั้งหมด ทำงานอย่างหนัก จึงสามารถประสบผลสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งแล้วก็ควรจะปลดล็อกเพื่อให้ชีวิตกลับมาปกติ back to normal

เราได้ทำเปอร์สเปกทีฟให้ทุกคนดู ตามมาตรการที่รัฐกำหนด นั่นคือการเว้นระยะห่าง เมื่อทำแล้วลองให้ทุกคนดูเพื่อความเข้าใจ ทุกคนเมื่อเห็นรูปก็ต่างอึ้ง เกิดคำถามว่า แล้วอย่างนี้จะดูคอนเสิร์ตจริงๆ ได้อย่างไร อยากให้หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะสาธารณสุขกลับมาพิจารณาและเปิดใจกว้าง จริงๆ แล้วมีคนเดือดร้อน ธุรกิจอีเว้นท์ต้องบอกว่าไม่ได้รับการเยียวยาหรือดูแลจากภาครัฐเลยสักบาทเดียว รัฐบาลไม่ได้สั่งปิดธุรกิจ แต่ธุรกิจมันต่อเนื่องไปหลายส่วน

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป มันจะทนกันอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนหรอก ต่อให้เป็นองค์กรที่มีสภาพคล่องที่ดี อินเด็กซ์ก็ถือว่าโชคดี ที่เรามีสภาพคล่องพอที่จะประทังชีวิต อย่างน้อยก็รอดมา 3-4 เดือน ถามว่าธุรกิจอีเว้นท์จะกลับมาได้เมื่อไหร่ มองเป็นไตรมาส 4 ถึงจะฟิ้น

มุมมองธุรกิจกับสุขภาพ

จริงๆ ส่วนตัวกังวลเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว พอเราเรียนรู้วิธีป้องกันตัวแล้ว ไม่มีใครหรอกที่ไม่ระวังตัว ยังคงให้ความสำคัญ ส่วนตัวมองว่าชอบให้ประเทศชาติสงบ ที่ผ่านมาธุรกิจอีเว้นท์โดนมาทุกแบบอยู่แล้ว ทั้ง ต้มยำกุ้ง เหตุการณ์ทางการเมือง น้ำท่วม กระทบกับธุรกิจอีเว้นท์มาตลอด

เวิลด์เอ็กซ์โป ดูไบ เลื่อนหรือไม่

เวิลด์เอ็กซ์โปที่ดูไบ ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส งานก็ถูกเลื่อนไปหนึ่งปี ประเทศเขาเป็นประเทศร้อน ช่วงที่เขาสามารถรองรับคนเพื่อการท่องเที่ยวได้ คือ ช่วงเดือนตุลาคมจนถึงมีนาคม ซึ่งอากาศกำลังสบายๆ นอกเหนือจากช่วงเวลานี้จะร้อนจัด อุณหภูมิจะอยู่ที่ 46-50 องศาเซลเซียส

ในมุมของการเตรียมการของอินเด็กซ์ ต้องบอกว่า ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะทุกอย่างถูกเตรียมการณ์ไว้สำหรับทำปีนี้ สิ่งก่อสร้างเราสร้างเสร็จเกือบหมดแล้ว พอประกาศเลื่อนไป พวกอุปกรณ์ต่างๆ ก็ยังไม่สามารถไปติดตั้งที่ดูไบได้ เพราะอากาศที่นู่นร้อนมาก อุปกรณ์ที่จะไปติดตั้งด้วยความที่อุณหภูมิเกินกว่า 45-50 องศาเซลเซียส ท่ามกลางทะเลทราย มันติดตั้งไม่ได้ หากติดตั้งจำเป็นต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา อย่างการอยู่อาศัยที่ดูไบ บ้านและคอนโดเวลาออกจากบ้านเขาไม่ปิดแอร์นะ เปิดตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพราะไม่งั้นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จะเสียหายหมด

ธุรกิจ อีเว้นท์ หลังคลายล็อกดาวน์ กับ ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

การปรับตัวในยุค New Normal

ส่วนตัวยังคงเชื่อว่า การจัด อีเว้นท์ ได้เจอตัวจริงมันสร้างความประทับใจได้มากกว่า ดูออนไลน์คล้ายกับการดูยูทูปธรรมดา มันไม่ได้สนุกเหมือนที่เราได้ไปดูจริงๆ การได้ไปเจอคน ได้เห็นบรรยากาศ เราไม่ได้จะสนุกจากการแสดงบนเวทีเท่านั้น สนุกด้วยคนข้างๆ คนด้านหลัง คนด้านหน้าเราสนุก ได้มาร้องเพลงด้วยกัน หรือพวกงานประกาศผลรางวัล ความรู้สึกของคนที่ขึ้นไปรับรางวัลแล้วน้ำตาไหล มันสร้างความฮึกเหิม ภายในงานจะส่งด้วยเพลง บรรยากาศต่างๆ จะช่วยส่ง เปรียบเทียบกับการดูในโทรศัพท์มือถือ ความรู้สึกจะต่างกันมาก

สิ่งที่กลัวที่สุดตอนนี้คืออะไร

ถ้าถามตอนนี้ที่กลัวที่สุดคือ กลัวหมออยากได้ตัวเลขสวยๆ เสพติดคำสรรเสริญจากทั่วโลก อยากให้ลองมองในมุมเศรษฐกิจบ้าง ไม่ต้องพูดถึงธุรกิจอีเว้นท์ก็ได้ เดี๋ยวจะหาว่าพูดถึงแต่เรื่องของตัวเอง อยากได้ยินว่า ร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดได้ตามปกติ คนเข้าร้านมาเป็นตัวเลขที่เต็มร้อยแล้ว ในธุรกิจอาหารก็มีซัพพลายเชนที่ช่วยกระจายรายได้ไปคนรากหญ้า อยากให้สามารถใช้ชีวิตกันได้ปกติ Back to Normal อย่าไปยึดติดกับคำว่า New Normal มากนัก

อยากฝากรัฐบาลว่าเราเห็นด้วยเรื่องการเช็กอิน เช็กเอาท์ ไทยชนะ เห็นด้วยกับการรักษามาตรการทางสาธารณสุขที่ดี เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือ เช็ดทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ วัดอุณหภูมิ ส่วนด้านการเว้นระยะห่างทางต่างประเทศเขาเริ่มลดระยะลงมาบ้างแล้ว บ้านเราถ้าลดจาก 4-5 ตร.ม. ลงมาบ้างในมาตรการคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติมต่อจากนี้ ก็น่าจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น กลับมาสู่ปกติได้อีกครั้งหนึ่ง

 

ธุรกิจ อีเว้นท์ หลังคลายล็อกดาวน์ กับ ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19