- 31 ก.ค. 2563
ปฏิรูปการศึกษา รอไม่ได้ และอย่ารอเมื่อพร้อม
ปรากฎการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบไปทุกอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางอย่างต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เช่นการ ปฏิรูปการศึกษา
ปฏิรูปการศึกษา เป็นหัวข้อที่มักถูกทุกรัฐบาลหยิบยกขึ้นมาถกเสมอ แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด แต่การระบาดของโควิด 19 กลับกลายเป็นตัวเร่งและปัจจัยบังคับให้สถาบันการศึกษาทุกที่ต้องปรับวิธีการเรียนการสอน ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าเป้นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่โควิด 19 กลายมาเป็นตัวเร่ง
ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง
ผศ.ดร. ดนุวัศ สาคริก รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายมิติในวงการศึกษา หรือในอุตสาหกรรมการศึกษา ทั้งฝั่งที่เป็นอุปสงค์ ก็คือฝั่งผู้เรียน และฝั่งที่เป็นอุปทาน คือตัวสถาบันการศึกษาเอง บุคลากร ครู อาจารย์
ยกตัวอย่างในมหาวิทยาลัย ผลกระทบที่เกิดสั้นๆ ที่เห็น คือโควิด 19 เป็นตัวเร่งว่าหากสถาบันการศึกษาอยากจะดำเนินการเรียนการสอน ก็ต้องปรับตัว
ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างในประเทศไทย หลายแห่งมีการพูดกันมากว่าต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มีระบบ e-learning ถามว่ามีหรือไม่ คำตอบคือมี แต่ใช้หรือไม่ ใช้น้อย
การขับเคลื่อนการเรียนการสอน
ผศ.ดร. ดนุวัศ ระบุว่า ทุกวันนี้ ความรู้นั้นสามารถหาได้จากทุกที่ ทุกเวลา 24 ชั่วโมง ดังนั้นความรู้ที่ได้จากอาจารย์ผู้สอนอาจเป็นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเมื่อเทียบกับความรู้ที่ทั่วโลกมีให้
ในโลกยุคปัจจุบัน ถ้าดูวงการธุรกิจ เขาบอกว่าเป็นที่เรียกว่า Customer Driven หรือเป็น Customer Centric คือมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เป็นตัวขับเคลื่อน วงการภาครัฐทั่วโลกระบุว่ารัฐบาลในอนาคตจะต้องเป็น Citizen Centric คือมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในอาเซียนเอง ก็มีการพูดว่า People Centric หรือ Centizen Centric
ในขณะที่อุตสาหกรรมการศึกษา ก็แปลว่าผู้เรียนจะต้องเป็นศูนย์กลาง จะต้องเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้น โจทย์ของสถาบันการศึกษาเลยก็คือ จะต้องตอบสนองความต้องการของผู้เรียนให้ได้ เหมือนเช่นภาครัฐ ต้องตอบสนองความต้องการประชาชนให้ได้ ต้องสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชน ภาคเอกชนก็ต้องตอบความต้องการผู้บริโภค ผู้ซื้อให้ได้
บทบาทของสถาบันการศึกษา
ความสำคัญของสถาบันการศึกษาไม่ได้ลง แต่ต้องมีการปรับบทบาท แน่นอนว่าความรู้นั้น ผู้เรียนสามารถค้นหาเองได้ แต่ถ้าไม่มีวิจารณญาณ ไม่รู้หลักคิดว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรนำไปประยุกต์ใช้ อะไรไม่ควรนำ ไม่มีคนไกด์ ก็จะกลายเป็นดาบสองคม
ดังนั้น บทบาทของสถาบันการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย ผมคิดว่ามันไม่ได้สำคัญน้อยลงกว่าในอดีต เพียงแต่เราต้องปรับตัว ซึ่งมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นสถานที่ เป็นห้องทดลอง ให้ผู้เรียนนั้นเข้ามาลองผิดลองถูก เนื่องจากในโลกความเป็นจริง มันไม่สามารถไปลองผิดลองถูกได้ และมีอาจารย์เป็นผู้ชี้แนะ สอนให้รู้จักการเรียนรู้ตลอดชีวิต
อีกอย่างหนึ่งที่มหาวิทยาลัยน่าจะมีบทบาทอย่างมาก ก็คือ การสร้างบรรยากาศให้คนเรียนรู้จักทำงานร่วมกัน เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง งานหลายอย่าง ไม่สามารถทำคนเดียวได้
การเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำให้การบ้านของอาจารย์หนักกว่าเดิม อาจารย์ต้องทำการบ้าน อาจารย์ต้องหาข้อมูล อาจารย์ต้องอัพเดตตัวเองให้มากที่สุด การสอนจากตำราอย่างเดียวไม่พออีกต่อไปแล้ว
ถ้าต้องเปลี่ยนทันที ต้องทำอะไรก่อน
ผศ.ดร. ดนุวัศ ระบุว่าลำดับความสำคัญของสิ่งที่เปลี่ยนในอุตสาหกรรมศึกษา สำคัญมากและจำเป็นที่สุด คือเรื่อง mindset คือวิธีคิด
ตัวบุคลากรที่เป็นอาจารย์เอง มีองค์ความรู้มากมาย ทำงานวิชาการมามาก อาจจะต้องถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับองค์กรการศึกษาและสถาบันการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก
สถาบันการศึกษา มีโจทย์คือ จะทำอย่างไรก็ได้ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนเรียน ความเข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ของสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ของคนเรียน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ต้องตอบโจทย์ แต่ก็ต้องชี้นำในสิ่งที่ถูกต้อง
มหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทในการชี้นำสังคม ให้เดินหน้าไปในทางที่ถูกต้อง และทำให้ประเทศพัฒนาได้ เพราะฉนั้นเป้นความท้าทาย ไม่ใช่เรื่องง่าย
อีกประการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปรับบทบาทอย่างมาก นอกเหนือจากการให้ความรู้กับคน ก็คือการปรับตัวเองให้เป็นองค์กรเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ คือนอกจากจะพัฒนาทรัพยากรของประเทศแล้ว ต้องดูด้วยว่าประเทศเราจะพัฒนาไปทางไหน ยังขาดอะไรอยู่ ก็ไปศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ด้านนั้น
ถึงเวลาปฏิรูปหรือยัง
ในขณะที่ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติแล้ว มองล่วงหน้าไป 10 กว่าปีจากนี้ไป มีไทยแลนด์ 4.0 แต่ยังไม่มีใครวาดภาพกับคำถามว่ามหาวิทยาลัยไทยอีก 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร
ดังนั้น สิ่งที่ควรต้องมีวันนี้ คือต้องมี roadmap มีพิมพ์เขียว มหาวิทยาลัยไทย 2030 คืออะไร จากนี้ไป จะหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้ว ก็จะได้พยายามช่วยกันปรับ เดินหน้าให้เป็นไปตามเป้าหมายให้ชัดเจน อย่างเช่น มหาวิทยาลัยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีกี่รูปแบบ แบบที่เน้นวิจัยจะยังมีอยู่หรือไม่ แบบเน้นการสอนยังมีอยู่หรือไม่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะมีการสร้างกรอบจากการ ปฏิรูปการศึกษา
ผศ.ดร. ดนุวัศ ย้ำว่า อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น หากบุคลากรยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และพยายามเข้าใจบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ของโลกด้วย ไม่ใช่แค่กรณีของประเทศไทย
“เพราะฉะนั้นถ้าประเทศไทยไม่อยากตกขบวน เราอยากมีความแข็งแกร่งในเรื่องการศึกษา ซึ่งเรายอมรับว่าเป้นสิ่งสำคัญ ทั่วโลกก็ยอมรับว่าสำคัญ คิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่ต้องมานั่งคิดและมานั่งทำ”
ต้องรอรัฐบาลนำธงหรือไม่
ภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนการปฏิรูป โดยจะเห็นได้ว่าการผลักดันการพัฒนาประเทศ ส่วนมาก ภาครัฐต้องเป็นคนขับเคลื่อน ต้องเป็นตัวนำ
ถ้าได้การขับเคลื่อนจากภาครัฐ และมีการส่งสัญญาณอย่างชัดเจน น่าจะดี เพราะถ้าหากไม่ทำ ก็อาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น มหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยที่มีทรัพยากรมาก มีชื่อเสียง ก็จะไปได้ไกล เผลอๆ วันนี้ สถาบันเหล่านี้มองไปล่วงหน้าอาจจะไม่ใช่แค่ 10 ปีแล้ว ในขณะที่มหาวิทยาลัยเล็กๆ ในประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนา อาจจะมองว่าแค่ปีนี้เอาให้รอดก่อน
ปฏิรูปการศึกษา รอไม่ได้
ถ้าไม่รีบปฏิรูปโดยเร็วโดยอาศัยภาครัฐเป็นแกนนำ เป็นตัวนำระดับนโยบาย ระดับการเมืองนำผศ.ดร. ดนุวัศ มองว่า ก็ยังคงจะปรับได้ แต่มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม ก็จะปรับได้ดีหน่อย เร็วหน่อย มหาวิทยาลัยที่ไม่พร้อมก็อาจจะปรับได้ช้าหน่อย อาจต้องมาดูว่าความพร้อมมีขนาดไหน และอย่าคิดว่ายังไม่พร้อม แล้วเลยยังไม่ปรับ
การปรับตัวสำหรับอนาคตนั้นมีหลายมิติมาก นอกเหนือจากความเป็นดิจิทัล การตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ การตอบโจทย์ผู้เรียน บางครั้งอาจไม่ได้เกี่ยวกับดิจิทัลทั้งหมด ยังมีเรื่องเรื่องความโปร่งใส เรื่องประสิทธิภาพ ที่ต้องอาศัยหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง
“การปฏิรูปเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ เพราะว่าโลกปัจจุบันนี้หมุนเร็วมาก ใครที่พูดแล้วไม่ทำทันที จะมาทำอีกที บางทีไม่ทันแล้ว”