- 12 ก.ค. 2565
กรณีของคุณนารากร ติยายนผู้ประกาศข่าวแสดงความกังวลผ่านทางสื่อโซเซียล Facebook ถึงผลเสียของการทำ CSR ปลูกป่าชายเลนต้นเหตุทำโลมาตายที่บางขุนเทียน”
วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวชี้แจง กรณีของคุณนารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าว แสดงความกังวลผ่านทางสื่อโซเซียล Facebook ถึงผลเสียของการทำ CSR ปลูกป่าชายเลนต้นเหตุทำโลมาตายที่บางขุนเทียน นั้น
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการตามภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช)มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้ง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อความมั่งคั่ง สมดุล และยั่งยืนของทะเลไทย และเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยความยาวกว่า 3,151.13 กิโลเมตร ยังคงประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่งอีกกว่า 80 กิโลเมตร ใน 17 จังหวัด ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง
นายโสภณ ทองดี กล่าวว่า เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรม ทช. เลือกใช้มาตรการสีเขียวคือการเพิ่มพื้นที่ป่า ที่รู้จักกันในนามมาตรการขาว-เขียว-เทา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งดำเนินการร่วมกับการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เพื่อรักษาเสถียรภาพของชายฝั่งและลดความรุนแรงของคลื่นที่เข้าปะทะชายฝั่ง โดยในปี พ.ศ.2563ทช.ร่วมกับ GISTDA แปลภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงพบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพ 1.737 ล้านไร่มีผลการวิจัยศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนรวมเฉลี่ย 15.79ตันคาร์บอน/ไร่
สำหรับการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่นเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หาดโคลน เป็นวิธีที่กรมเลือกใช้เป็นหลัก โดยมีพื้นฐานแนวคิดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการปักไม้ไผ่ทำโพงพางและทำคอกเลี้ยงหอยแมลงภู่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ร่วมพัฒนาแนวคิดดังกล่าวกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำมาประยุกต์ร่วมกับหลักวิชาการ และศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
และได้ถอดบทเรียนจากต่างชาติด้วย ซึ่งข้อดีของการใช้ไม้ไผ่ในการปักเพื่อชะลอความรุนแรงของคลื่นบริเวณหาดโคลน คือ เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ กระบวนการไม่ยุ่งยาก การรื้อถอนสามารถทำได้ง่าย ประยุกต์รูปแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ไม่กระทบต่อการเดินเรือและการทำประมงของชุมชน เป็นต้น แต่ก็ต้องยอมรับถึงอายุการใช้งานของโครงสร้างไม้ไผ่ ซึ่งโครงสร้างจะอยู่ได้อย่างน้อยประมาณ 5 ปี โดยการเสื่อมสภาพมักจะเกิดจากคลื่นลมรุนแรง คุณภาพน้ำ การเกาะและกัดแทะของสัตว์ทะเล
นายโสภณ ทองดี กล่าวว่า สำหรับการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น กรมทช.ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันมีการปักไม้ไผ่ไปได้ระยะแล้วกว่า 104 กิโลเมตร ใน 46 พื้นที่ 13 จังหวัด สามารถเพิ่มพื้นที่หาดโคลนหลังแนวไม้ไผ่และปลูกป่าชายเลนได้กว่า 320 ไร่ สำหรับการดำเนินการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น สิ่งสำคัญที่เราให้ความสำคัญและเป็นนโยบายหลักของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่
จากกรณีความกังวลที่เกิดขึ้นตามข่าว นายโสภณ ทองดีได้สั่งการให้เร่งตรวจสอบข้อมูลสถิติและสาเหตุการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงสาเหตุการตายของโลมาอิรวดีที่เสียชีวิตบริเวณแนวป่าชายเลนเขตบางขุนเทียน โดยพบว่า นับจากปี 2550 ถึง ปัจจุบัน พบโลมาเกยตื้นหลังแนวไม้ไผ่เขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีสาเหตุจากการไล่ล่าอาหาร จำนวน 7 ครั้งเป็นโลมาอิรวดีทั้งหมด 38 ตัว สามารถช่วยเหลือนำกลับสู่ทะเลได้สำเร็จ33 ตัว เป็นซากจำนวน 5 ตัว
โดยผลการชันสูตรคาดว่าเป็นซากพัดเข้ามาเกยตื้นหลังแนวไม้ไผ่ เนื่องจากที่ผ่านมากรม ทช. ได้มีการจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นหลังแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น ให้แก่เครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ชุมชนชายฝั่งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถช่วยเหลือสัตว์ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการปรับปรุงระยะห่างของช่องทางเดินเรือระหว่างแนวไม้ไผ่ให้มีช่องกว้างมากขึ้น ทำให้นับจากปี 2560 จึงไม่พบการเกยตื้นของโลมาหลังแนวไม้ไผ่อีกเลย
สำหรับกรณีโลมาอิรวดีที่พบตามข่าว เจ้าหน้าของมูลนิธิปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชาซึ่งเป็นผู้พบซากให้ข้อมูลว่าพบซากบริเวณด้านหน้าแนวไม้ไผ่ จึงได้ประสานผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน เพื่อนำซากเข้ามานำส่งให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผลการชันสูตรซากพบว่า ในปอดไม่พบโคลนอุดตัน ร่างกายสะสมไขมันต่ำ ไม่พบอาหารในระบบทางเดินอาหาร สภาพภาพซากเสียชีวิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 วัน คาดว่าจึงเป็นการเสียชีวิตจากการป่วยตามธรรมชาติและซากพัดเข้ามาเกยตื้นในแนวป่าชายเลน
“อนึ่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ หากพบเห็นสัตว์ทะเลหายากได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้วให้แจ้งให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทราบทันที เพื่อจะได้ดำเนินการช่วยเหลือและตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ กรม ทช. ยังขอเชิญชวนประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยต่อไป” นายโสภณ ทองดี กล่าว