- 02 ต.ค. 2565
รมว.ทส. สั่ง ทช. เร่งหาสาเหตุการตายที่แท้จริงของพะยูนเกยตื้น หาดนางรอง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อหาแนวทางป้องกัน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ต.ค. 65) ตนได้รับรายงานจากนางสาวชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล (ทช.) ว่าพบซากพะยูน บริเวณหาดนางรอง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 65 ทางศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก
ได้ประสานงานร่วมกับทีมสัตวแพทย์ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง (ศวทอ.) ดำเนินการชันสูตรซาก ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จากการตรวจสอบซากพะยูนตัวดังกล่าว พบว่าเป็นพะยูนเพศเมีย อยู่ในช่วงอายุโตเต็มวัย ขนาดความยาว 234 ซม. น้ำหนักประมาณ 200-300 กก. สภาพซากเน่า ความสมบูรณ์ทางโภชนาการปกติ (3/5 Body Condition score) ภายนอกร่างกาย ไม่พบบาดแผลรุนแรง ร่องรอยบนลำตัวเกิดจากซากครูดไปตามหินและทรายหลังตาย พบการเน่าเปื่อยบริเวณครีบอก คาดว่าเสียชีวิตมาแล้ว 2-3 วัน
นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการผ่าชันสูตรซากในเบื้องต้นพบว่า สภาพภายนอกไม่พบบาดแผลสำคัญหรือรอยรัดจากเชือกหรือเครื่องประมง ชั้นไขมันใต้ผิวหนังหนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร พบรอยช้ำเป็นวงกว้างบริเวณคอหรือหลังท้ายทอย นอกจากนี้ ส่วนกระดูกคอและกะโหลกปกติ ไม่มีการแตกหรือหัก อวัยวะภายในตลอดทางเดินอาหารมีหญ้าทะเลจำนวนมาก ไม่พบตัวเต็มวัยของพยาธิในทางเดินอาหาร และพบขยะทะเล เช่น อวนเอ็น เล็กน้อยซึ่งพบได้จากการปะปนอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถสรุปสาเหตุการตาย โดยเกิดจากการถูกกระแทกด้วยของแข็งไม่มีคมบริเวณท้ายทอย เนื่องจากพบรอยถลอกที่ผิวหนังและรอยช้ำในกล้ามเนื้อขนาดใหญ่บริเวณท้ายทอย และสัตวแพทย์ได้ทำการเก็บตัวอย่างกล้ามเนื้อเพื่อส่งพิสูจน์ด้านพยาธิวิทยาต่อไป
ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ ทช. และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ช่วยกันสอดส่องดูแล และเป็นหูเป็นตาในการตรวจตราบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อป้องกันการตายของพะยูน รวมไปถึงสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หากพบเจอสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นให้รีบแจ้งมายังหน่วยงานของกรมฯ ในพื้นที่ เพื่อกรมฯ จะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรับสัตว์ทะเลหายากที่เกยตื้นมารักษาได้ทันท่วงที ลดอัตราการตายของสัตว์ทะเลหายาก ตลอดจนเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และป้องกันการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่จัดฝึกอบรมอาสาสมัครภาคประชาชน เพื่อช่วยกันเฝ้าระวัง และให้ความรู้กับชาวประมง ผู้ประกอบการเดินเรือ ในการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ วิธีการเดินเรือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ได้รับบาดเจ็บหรือตายได้อีกทางหนึ่ง "นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย"