- 04 ม.ค. 2560
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 4 ม.ค. 59 บนโลกออนไลน์ขณะนี้ กำลังมีประเด็นร้อนที่ชาวเน็ตต่างเข้าไปแสดงความเห็นกันอย่างหนาแน่น ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ที่ได้โพสต์ข้อความพร้อมแนบรูปภาพภายในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจ.ศรีสะเกษ เมื่อเจ้าตัวพาลูกไปโรงพยาบาล แต่กลับไม่เจอเจ้าหน้าที่พยาบาลอยู่หน้าเคาน์เตอร์รับผู้ป่วยสักคนเดียว โดยได้ระบุข้อความไว้ดังนี้
มิยักกะรู้โรงพยาบาลมีพักเที่ยงด้วยหรอ ผมก็คิดว่าผลัดกันไปพักที่ไหนได้ช่อง22ตรวจเด็กชั้น2 โรงพยาบาลไม่มีเจ้าหน้าที่สักคน 13.10น. ถึงกับงง ผมคิดว่ามันต้องมีการปรับปรุงนะครับ ประชาชนเขาเดือดร้อน ซึ่งหลังจากโพสต์ดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความเห็นอย่างล้นหลาม
กระทั่งล่าสุด ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Drama-addict ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวไปที่หน้าเพจของตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ได้ตอบคำถามเจ้าของโพสต์นี้อีกด้วย มีข้อความว่า ตอบเจ้าของภาพ "หมอพยาบาลมีพักเที่ยงครับ" หมอ พยาบาลก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องกินต้องดื่มครับ ไม่สามารถยืนต้นสังเคราะห์แสงได้ แต่ที่ห้องฉุกเฉินจะมี จนท stand by ตลอดเวลา ในกรณีที่เป็นเหตุฉุกเฉิน สามารถไปห้องฉุกเฉินได้ครับ ซึ่งก็มีผู้คนที่ได้เห็นโพสต์ดังกล่าวต่างพากันเข้ามาแสดงความเห็นในเพจด้วยเช่นกัน
และทางด้านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว ก็ได้โพสต์บทความชี้แจงพร้อมอธิบายข้อสงสัยต่างๆจากชาวเน็ตอย่างละเอียด ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ ทำไมหมอกับพยาบาลต้องพักกินข้าวกลางวัน เพิ่งอ่านดราม่านึงไป เกี่ยวกับคนที่ไปตรวจที่แผนกทั่วไปไม่ฉุกเฉิน แล้วพบว่าไม่มีหมอและพยาบาล เพราะไปพักกินข้าวกลางวันกัน จากนั้นก็มีคนเข้ามาแสดงความไม่พอใจ ระบุว่าควรจะตรวจตลอดเวลาโดยผลัดกันไปกินข้าว
1. ทำไมแผนกผู้ป่วยนอกรพ.รัฐไม่ตรวจตลอดเวลาแบบห้องฉุกเฉิน
แผนกผู้ป่วยนอก เป็นโซนที่ตรวจผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน อาการไม่รุนแรง กลุ่มที่อาการรุนแรงจำเป็นต้องตรวจเลยก็จะโดนคัดกรองให้ไปห้องฉุกเฉินที่ตรวจตลอด
2. ทำไมแผนกผู้ป่วยนอก ไม่ตรวจตลอดเวลา โดยผลัดกันไปกินข้าว
เหตุผลในข้อนี้แตกต่างกันไปตามแต่ละโรงพยาบาล
ก. หมอมีคนเดียว : บางแผนกมีหมอสาขานั้นคนเดียว ... ในเมื่อหมอแบ่งตัวไปกินข้าวไม่ได้ แล้วจะให้แบ่งครึ่งไปกินกันยังไง
ข. หน่วยการทำงานของแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลรัฐ เป็นแบบคนหนึ่งคน ทำงานมากกว่า 1 อย่าง มันแบ่งไม่ได้
(*ข้อนี้สำคัญสุด*)
เวลาคนบอกว่า "ให้แบ่งกันไปกินข้าว" เค้ามักมองว่า หน่วยการทำงานเป็นunitที่ทำงานแยกเป็นเอกเทศจากกัน ซึ่ง จริงๆมันไม่ใช่
เวลาจะเข้าห้องหมอ ต้องมีการ
- ซักประวัติ ลงประวัติ
- ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดอุณหภูมิ
- เกลี่ยคิวเข้าห้องหมอ
- ตามแฟ้ม ตามแลปเก่า
- เคลียร์เอกสาร ทำใบนัด
- แนะนำผู้ป่วย
- ทำหัตถการบางประเภท
7บรรทัดข้างบน มันไม่ใช่มีพยาบาล 7 คนทำคนละหน้าที่
แต่มันมีพยาบาลแค่ 2-3 คน ทำ 7 หน้าที่
หนึ่งคน ทำมากกว่า หนึ่งหน้าที่
บางหน้าที่ที่ทำได้เร็วๆ เช่นชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดอุณหภูมิ ... อาจจะเป็นคนๆเดียวทำ
ซึ่งพอเอาคนออกไป 1 คน งานมันรวนทั้งระบบ
ดังนั้นในโรงพยาบาลที่ขาดบุคลากร เค้าก็จะไม่ผลัดกันไปกินข้าว ก็ต้องไปพร้อมกัน
3. ทำไมห้องฉุกเฉินแบ่งกันไปกินข้าวได้ ทำไมผู้ป่วยนอกทำไม่ได้
เหตุผลคือ คนไข้น้อยกว่า
และลักษณะงาน สามารถแทนกันได้มากกว่า
และวันไหนคนไข้มามาก พยาบาลห้องฉุกเฉินจะอดกินข้าว
คำถามอื่นๆ
4.1 ทำไมบางแผนกในโรงพยาบาลไปพักเที่ยงตอน 12.30-13.30 พักไม่เหมือนชาวบ้าน
4.2 ทำไมบางแผนกในรพ.พักเที่ยงตอน 12-13 น. ทำไมไม่พักตอน12.30-13.30
คำตอบ 4.1-4.2 ขึ้นกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล ว่าพื้นที่กินอาหารของประชาชนต้องใช้ร่วมกับใครยังไงหรือไม่
5.1 ทำไมหมอพยาบาลไม่เอาอาหารมากินที่แผนก ทำไมต้องเดินไปกิน เสียเวลา
5.2 ทำไมหมอพยาบาลเอาอาหารมากินที่แผนก ทำไมไม่รักษาสุขอนามัย
คำตอบ ให้คนที่ถาม 5.1 -5.2 ไปตกลงกันเอง
สรุปสั้นที่สุด
- งบและตำแหน่งงานไม่พอจนไม่สามารถจัดให้มีการตรวจต่อเนื่องได้
ทางแก้ไขที่ทำได้ (ที่ไม่ใช่รอเพิ่มตำแหน่ง)
- บางที่ประชาชนที่รักท้องถิ่น เข้ามาเป็นจิตอาสา งานง่ายๆมีคนทำ ก็แบ่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานอื่นได้
ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊กแฟนเพจ Drama-addict / ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
เรียบเรียงโดย : ศรัญญา สำนักข่าวทีนิวส์